ขนส่งฯประกาศข้อกำหนดรถบรรทุกต้องติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันด้านข้าง-ท้าย เริ่มบังคับใช้รถจดทะเบียน 1ม.ค.67เป็นต้นไป

0
1649

กรมการขนส่งทางบก เดินหน้ายกระดับมาตรฐานความปลอดภัย ประกาศข้อกำหนดให้รถบรรทุกต้องติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันด้านข้าง (LPD) และด้านท้าย (RUPD) สอดคล้องมาตรฐานสากลมุ่งหวังลดบาดเจ็บ-เสียชีวิตจากอุบัติเหตุการชน เริ่มมีผลบังคับใช้สำหรับรถบรรทุกที่จดทะเบียนตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และโฆษกกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าว กรณีรถบรรทุกขนส่งสินค้าเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนกับรถยนต์ที่มีขนาดเล็กหรือรถจักรยานยนต์ ซึ่งหนึ่งในรูปแบบอุบัติเหตุที่พบบ่อยและมีความรุนแรง คือ ผู้ขับรถจักรยานยนต์ล้มเข้าใต้รถบรรทุกหรือรถยนต์ชนท้ายรถบรรทุก ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก กรมการขนส่งทางบกในฐานะหน่วยงานที่กำกับ ดูแลการขนส่งทางถนนให้มีความปลอดภัย ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาปรับปรุงข้อกำหนดทางเทคนิคด้านยานยนต์เพื่อให้รถมีความปลอดภัยในการใช้งาน ลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ และยกระดับมาตรฐานเทียบเท่ามาตรฐานสากล ได้นำข้อกำหนดสหประชาชาติ (UN Regulations) ซึ่งเป็นข้อกำหนดทางเทคนิคด้านยานยนต์ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลและเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศทั่วโลกมาประยุกต์ใช้ โดยกรมการขนส่งทางบกออกประกาศกรมฯ เรื่องกำหนดคุณลักษณะ ขนาด ประสิทธิภาพ ตำแหน่ง และเงื่อนไขในการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างและด้านท้ายของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ พ.ศ. 2566 เพื่อกำหนดให้รถบรรทุกที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันเกินกว่า 3,500 กิโลกรัมขึ้นไป (ยกเว้นรถที่มีการใช้งานเฉพาะกิจบางลักษณะ) ต้องติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันด้านข้าง LPD : Lateral Protection Device และด้านท้าย RUPD : Rear Underrun Protection Device ให้ถูกต้องตามลักษณะรถ ทั้งนี้ การติดอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นไปตามข้อกำหนดสหประชาชาติ UN Regulation No.73 และ UN Regulation No.58 ซึ่งจะช่วยบรรเทาความรุนแรง ลดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุการชนได้ ประกาศฯ จะมีผลบังคับใช้สำหรับรถบรรทุกที่นำมาจดทะเบียนใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า อุปกรณ์ดังกล่าวฯ ต้องผ่านการรับรองและทดสอบจากหน่วยงานทดสอบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด หรือหากผู้ประกอบการจะผลิตและติดตั้งด้วยตนเองตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกและสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติได้ร่วมกันออกแบบก็สามารถกระทำได้ ซึ่งมีแบบที่ครอบคลุมการใช้งานอย่างหลากหลาย เป็นการลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการทดสอบอุปกรณ์ฯ รวมถึงไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ เมื่อมีการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างและด้านท้ายถูกต้องตามประกาศกรมฯ และได้หนังสือรับรองความมั่นคงแข็งแรงในการติดตั้งจากผู้ประกอบการขนส่ง เจ้าของรถ ผู้ผลิตรถ ผู้ติดตั้งอุปกรณ์ หรือวิศวกรฯ แล้วหลังจากนั้นจึงจะสามารถนำรถมาตรวจสภาพและจดทะเบียนต่อไป โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนตรวจสอบสมรรถนะรถ สำนักวิศวกรรมยานยนต์ อาคาร 6 ชั้น 3 กรมการขนส่งทางบก เบอร์ 0-2271-8609 หรือเว็บไซต์ สำนักวิศวกรรมยานยนต์  https://aeb.dlt.go.th/th/lpd-rupd