ขร.เผยครบ 1 เดือนปชช.แห่ใช้บริการฟรี”น้องนมเย็น”เนืองแน่น เตรียมขยายเวลาถึง 24.00 น.ช่วง25-30ธ.ค.2566

0
24

ดร. พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่า เมื่อวาน (21 ธันวาคม 2566) ซึ่งเป็นวันที่ครบรอบ 1 เดือนที่เปิดทดลองให้บริการ มีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูจำนวน 99,882 คน-เที่ยว สูงสุด (นิวไฮ) หลังจากเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ถึงสถานีมีนบุรี (PK30) ฟรีตลอดเส้นทาง รวม 30 สถานี  รวมทั้งให้บริการที่จอดรถฟรีที่อาคารจอดแล้วจร (Park & Ride) บริเวณสถานีมีนบุรี (PK30)

โดยบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีชมพู จัดขบวนรถให้บริการสูงสุด 27 ขบวน ให้บริการในชั่วโมงเร่งด่วนทุก 5 นาที และนอกชั่วโมงเร่งด่วนทุก 10 นาที ตั้งแต่เวลา 06.00 – 22.00 น. รวม 252 เที่ยว พบว่า ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (PK16) มีผู้ใช้บริการมากที่สุด ซึ่งในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนได้มีการบริหารจัดการผู้โดยสารที่สถานี (Crowd Control) เพื่อลดความหนาแน่นที่ชั้นชานชาลาและในขบวนรถ เนื่องจากเป็นสถานีที่เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าวัดพระศรีมหาธาตุ (N17) โครงการรถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิทส่วนต่อขยาย  โดยในช่วงทดลองให้บริการผู้โดยสารสายสีชมพูยังคงต้องใช้ทางเข้า-ออก เพื่อออกจากระบบแล้วเดินไปยังทางเข้า-ออกของรถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิท ทั้งนี้ ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการติดตั้งระบบจัดเก็บค่าโดยสาร ซึ่งคาดว่าจะสามารถใช้ทางเชื่อมต่อได้ปลายเดือนธันวาคม 2566 เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้ใช้บริการที่จะเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ก่อนที่สายสีเขียวส่วนต่อขยายจะเริ่มคิดค่าโดยสาร 15 บาทตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2567 และรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู เริ่มเก็บค่าโดยสารตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เปิดใช้ทางเดินเชื่อม (ยกเว้น walkalator ยังไม่เปิดให้ใช้งาน) สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) สายสีชมพู กับ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PP11) สายสีม่วงตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมาแล้ว

นอกจากนี้ ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีชมพู ได้ขยายระยะเวลาให้บริการเพิ่มอีก 2 ชั่วโมง ระหว่างวันที่ 25-30 ธ.ค. 2566 จากเดิมเวลา 06.00-22.00 น.  เป็นเวลา 06.00 – 24.00 น. (ขบวนสุดท้ายออกจากสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (PK16) ฝั่งไปปลายทางศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) เวลา 00.32 น. และฝั่งปลายทางมีนบุรี (PK30) เวลา 00.34 น.) โดยให้บริการทุก 5 นาทีในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนของวันที่ 25-29 ธ.ค.66 และทุก 10 นาที ในช่วงนอกชั่วโมงเร่งด่วนของวันที่ 25-29 ธ.ค.66 และตลอดวันของวันที่ 30 ธ.ค.66 ส่วนวันที่ 31 ธ.ค. 2566 ซึ่งเป็นวันสิ้นปี เปิดให้บริการถึงเวลา 02.00น.ของวันที่ 1 ม.ค.2567  (ขบวนสุดท้ายออกจากต้นทางสถานีศูนย์ราชการนนทบุรีและสถานีมีนบุรี เวลา 02.00น.) โดยยังคงให้บริการฟรีจนถึงวันที่ 2 ม.ค. 2567 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชน อย่างไรก็ตาม กรมการขนส่งทางรางได้ประสานการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และผู้ให้บริการรถไฟฟ้สายสีชมพู (NBM) เร่งดำเนินการก่อสร้างทางขึ้น-ลงทุกสถานีรถไฟฟ้า รวมถึงทางเดินเชื่อมต่อให้แล้วเสร็จก่อนเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในวันที่ 3 มกราคม 2567 ต่อไป

ดร. พิเชฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับภาพรวมจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการระบบราง ประจำวันที่ 21 ธ.ค. 2566 พบว่า มีผู้ใช้บริการระบบราง รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,724,180 คน-เที่ยว  ประกอบด้วย

 1.รถไฟระหว่างเมืองของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 69,106 คน-เที่ยว  ประกอบด้วย

    1.1 ขบวนรถโดยสารเชิงพาณิชย์ จำนวน 22,726 คน-เที่ยว

    1.2 ขบวนรถโดยสารเชิงสังคม จำนวน 46,380 คน-เที่ยว

 2. รถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (รวมรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง) จำนวน 1,655,074 คน-เที่ยว   ประกอบด้วย

    2.1 รถไฟฟ้า Airport Rail Link จำนวน 70,113 คน-เที่ยว

    2.2 รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง จำนวน 30,282 คน-เที่ยว (รวมรถไฟทางไกลเชื่อมต่อสายสีแดงฟรี จำนวน 181 คน-เที่ยว)

    2.3 รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) จำนวน 459,167 คน-เที่ยว

    2.4 รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) จำนวน 77,488 คน-เที่ยว

    2.5 รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิทและสายสีลม จำนวน 870,395 คน-เที่ยว

    2.6 รถไฟฟ้า สายสีทอง จำนวน 9,815 คน-เที่ยว

     2.7 รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง จำนวน 37,932 คน-เที่ยว

      2.8 รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู จำนวน 99,882 คน-เที่ยว

กรมการขนส่งทางราง (ขร.) เชื่อมั่นว่า การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ซึ่งมีประชาชนมาใช้บริการจำนวนมาก นับเป็นเรื่องดีที่สะท้อนถึงความพร้อมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางของคนไทย หันมาใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะกันมากขึ้น โดยเฉพาะระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่ขนส่งผู้โดยสารได้คราวละมาก ๆ และใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน ก็จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลกไปได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนี้การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนยังช่วยให้ประชาชนสามารถควบคุมเวลา และวางแผนการเดินทางได้ดียิ่งขึ้น อีกท้้งได้รับทั้งความสะดวกสบายและความปลอดภัยในการเดินทางมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของนโยบาย Quick Win “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ที่มุ่งยกระดับความสุขของประชาชนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ความปลอดภัย การให้บริการที่เป็นมาตรฐานสากล และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ที่กำลังจะเปิดให้บริการในอนาคตจะมีส่วนช่วยให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว ประหยัด และปลอดภัย สร้างความสุขการเดินทางระบบรางให้กับคนไทยอย่างมุ่งมั่นต่อไป