ห้าม!สิบล้อวิ่ง 7 ถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 67

0
92

ล่วงเข้าสู่วันที่ 23 ธ.ค.66 กันแล้วสินะพี่น้องชาวไทย ห้วงเวลาปลายปีที่ถนนทุกสายมุ่งสู่ภูมิลำเนาปลายฝันของคนพันธุ์ต.จ.ว.ที่แห่เข้าเมืองกรุงเพื่อปรุง-สร้างฝันสร้างอนาคตพลางขายแรงงาน-วิชาความรู้เพื่อแลกมาซึ่ง“เงินเดือน-ค่าแรง”ได้เวลาไหลออกจากเมืองกรุงมุ่งสู่ภูมิลำเนากลับไปเฉลิมฉลองกับครอบครัวอันเป็นที่รักในเทศกาลแห่งความสุขสันต์วันปีใหม่ 2567 นี้

เป็นประจำทุกปีที่หน่วยงานภาครัฐต่างก็งัดหลายมาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนที่จะแห่ออกเดินทางจากเมืองกรุงสู่ทุกภูมิภาคของไทย หวังลดปัญหาการจราจรหนาแน่นและอุบัติเหตุบนท้องถนนอะไรเทือกนั้น

หากจะบอกว่า“หวยไม่ล็อก”ก็ดูไม่น่าเกลียดอะไรกับ 7 ถนนต้องห้ามสิบล้อวิ่งโดยเด็ดขาดในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 นี้ที่ตร.ทางหลวงแจ้งให้พี่น้องสิบล้อรับทราบไว้ล่วงหน้า แม้เปลือกความรู้สึกบางๆพวกเขาอาจพอรับได้ว่า“ต้องเสียสละ”(อีกแล้ว)เพราะบริบทความเป็น“พี่ใหญ่”บนท้องถนนแบกไว้บนบ่าชีวิตหลังพวงมาลัยอย่างพวกเขา

ทว่า แกนแก่นความรู้สึกลึกๆบนเส้นความน้อยใจบางๆพวกเขาอาจมองได้ว่า “สิบล้ออย่างพวกเขาถูกเลือกปฏิบัติ”ก็…อาจ…เป็น…ได้!

ไปส่องดูว่าไอ้ 7 ถนนต้องห้ามนั้นมีเส้นไหนบ้าง?ช่วงไหนบ้าง?เผื่อพี่น้องสิบล้ออาจเผลอหลงผ่านไปบ้างในช่วงเวลาต้องห้ามแล้วจะได้รู้ทันและหาทางหลบเลี่ยงไปใชเส้นทางอื่น โดยตำรวจทางหลวงได้กำหนดห้ามรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไปเดินรถบนถนนบางสาย ตั้งแต่ 28 – 30 ธันวาคม 2566 และ 1 – 2 มกราคม 2567 ดังต่อไปนี้

1.เบิกร่องกับถนนต้องห้ามสายแรกที่ขึ้นทำเนียบรถติดมหาโหดอันดับต้นๆของไทยยามเมื่อถึงเทศกาลสำคัญมาเยือน ต้องยกให้ถนนมิตรภาพ…ยังคงเดิม หรือถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 ตร.ทล.กากบาทห้ามสิบล้อขึ้นไปวิ่ง แต่ไม่ได้ห้ามวิ่งทั้งเส้นนะจ๊ะ แต่เป็นการห้ามวิ่งตั้งแต่กม.ที่ 15+600 ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรีเลี้ยวขวาๆ ถึงกม.ที่ กม. 102 รวมสิริระยะทางต้องห้าม 87 กม. ที่ห้ามสิบล้อเข้าไปมีส่วนร่วมกับมวลหมู่ยานพาหนะอื่นๆ

2.นี่ก็คุณภาพคับแก้วในเรื่องรถติดวินาศสันตะโร มวลยานพาหนะมักสามัคคีชุมนุมโดยเวลานัดหมายช่วงเทศกาล นั่นก็คือถนนกบินทร์บุรี – ปักธงชัย (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304) ห้ามสิบล้อวิ่งตั้งแต่กม.165 ถึง กม.222 ระยะทาง 57 กม.

3.ถนนบุรีรัมย์ – อรัญประเทศ บายพาสเสาไห้ (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 348) ตั้งแต่กม.ที่ 71 ต.ทัพราช อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ถึงกม.ที่ 83 ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ระยะทาง 12 กม.ด้วยกัน

4.ถนนพหลโยธิน (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1) แต่เป็นห้ามวิ่งช่วงกม.ที่ 332 ต.กลางแดด อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ ถึงกม.ที่ 347 ต.นครสวรรค์ตก อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ ระยะทาง 15 กม.ด้วยกัน

5.ยังวนเวียนอยู่แถวเมืองปากน้ำโพ เป็นถนนรังสิโยทัย (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 117) ตั้งแต่กม.ที่ 0+000 ต.ปากน้ำโพ อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ ถึงกม.ที่ 7 ต.บางม่วง อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ ระยะทาง 7 กม.

6.ถนนพหลโยธิน (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1) ปักหมุดตั้งแต่กม.ที่ 99+800 ถึงกม.ที่ 106+150 ต.หนองยาว อ.เมืองสระบุรี จ.สระบุรี ระยะทาง 7 กม.

7.ปิดท้ายด้วยถนนเลี่ยงเมืองสระบุรีฝั่งตะวันตก (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 362) ตั้งแต่กม.ที่ 0+000 ถึงกม.ที่ 9+288 ต.ปากข้าวสาร อ.เมืองสระบุรี จ.สระบุรี ระยะทาง 9 กม.

ถามว่ากรณีรถบรรทุกบางประเภทที่มีความจำเป็นต้องเดินรถใน 7 ถนนต้องห้ามดังกล่าวข้างต้นในช่วงเวลาที่ได้ร่ายมานี้จะทำอย่างไร?ทางตร.ทล.ท่านกรุณาให้คำตอบชัดแจ้งว่า“ต้องขออนุญาต”ก่อนนะจ๊ะ!

โดยกรณีใช้เส้นทางข้อ 1,2 และ 3 พี่น้องสิงห์รถบรรทุกขออนุญาตกับกองบังคับการตำรวจทางหลวง (สามารถสแกน QR Code ได้ในรูปภาพแนบ)

-กรณีใช้เส้นทางข้อ 4 และ 5 จ.นครสวรรค์ ให้ขอตำรวจภูธรจังหวัดนครสวรรค์

-กรณีใช้เส้นทางข้อ 6 และ 7 จ.สระบุรีให้ขอตำรวจภูธรจังหวัดสระบุรี

แจ้งมาเพื่อพี่น้องสิงห์รถบรรทุกได้รับทราบ และขอขอบคุณในความเสียสละ(อีกแล้ว)ของพี่ใหญ่ไว้ล่วงหน้ามา ณ โอกาสนี้ด้วย

Cr:ข้อมูลประกอบจาก FB ตำรวจทางหลวง

:ลมใต้ปีก