เปิดใช้แล้ว!“สะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์”ขาเข้ากรุงเทพฯถ.ราชพฤกษ์ จ.นนทบุรี แก้ปัญหาจราจรคอขวด

0
5

“พงศ์กวิน” กดปุ่มเปิดใช้ “สะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์” ฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ บน ถ.ราชพฤกษ์ จ.นนทบุรี เพิ่มศักยภาพโครงข่ายคมนาคม แก้ปัญหาจราจรคอขวด – ลดอุบัติเหตุ รองรับรถกว่า 120,000 คัน/วัน คาดฝั่งขาออกฯ เปิดเต็มระบบ 20 มิ.ย. นี้

นายพงศ์กวิน เปิดเผยว่า ตามที่กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน เพิ่มศักยภาพในการคมนาคมให้มีความคล่องตัวมากขึ้น รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาโครงข่ายถนนให้ครอบคลุมกับความต้องการในการเดินทาง อีกทั้งช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ทั้งนี้ การดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ ฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในวันนี้ ทช. จึงได้ทำการเปิดใช้สะพานเพื่อให้ประชาชนใช้สัญจร จากพื้นที่ตำบลมหาสวัสดิ์ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ไปยังแขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ในส่วนของฝั่งขาออกกรุงเทพฯ ทช. จะทำการเปิดใช้งานอย่างสมบูรณ์แบบ ในวันที่ 20 มิถุนายน 2568 ต่อไป

ด้านนายมนตรี เดชาสกุลสม อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า โครงการก่อสร้างสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ ถนนราชพฤกษ์ จังหวัดนนทบุรี ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 1,181.515 ล้านบาท มีจุดเริ่มต้นโครงการ กม. ที่ 12+850 และสิ้นสุด กม. ที่ 15+100 มีรูปแบบสะพานเหล็กขนาด 2 ช่องจราจรต่อทิศทาง (ไป – กลับ) กว้าง 8.50 เมตร ฝั่งขาเข้าสะพานมีความยาว 2.10 กิโลเมตร และฝั่งขาออกสะพานมีความยาว 1.90 กิโลเมตร รวมทั้งมีงานก่อสร้างระบบระบายน้ำ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง และงานเบ็ดเตล็ด

สำหรับการดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์นั้น เนื่องจากอัตราการเจริญเติบโตของการใช้ที่ดินในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยามีการพัฒนาและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะริมเขตทางของถนนราชพฤกษ์ ทำให้ถนนราชพฤกษ์ไม่สามารถรองรับการจราจรที่มีปริมาณหนาแน่นมากถึง 120,000 คันต่อวัน โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน ส่งผลให้ประสิทธิภาพของถนนราชพฤกษ์ลดลง เกิดปัญหาด้านความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน และมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ยิ่งบริเวณช่วงสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ ที่สภาพเป็นคอขวดมีการจราจรติดขัด เนื่องจากเขตทางไม่เพียงพอที่จะก่อสร้างทางขนานในรูปแบบทั่วไปได้ ดังนั้น ทช. จึงได้ดำเนินการกำหนดรูปแบบ และดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ ให้อยู่ในเขตทางเดิม ซึ่งจะสามารถลดปัญหาสภาพคอขวดและการจราจรในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ประชาชนได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย