เหลียวหลังแลหน้า!บริการขนส่งสาธารณะเพื่อ “ผู้สูงอายุ”ญี่ปุ่น…ถึงไทยที่ได้แค่ “เสือกระดาษ”?

0
890

ขณะที่ทุกองคาพยพประเทศไทยกำลังถูกขับเคลื่อนเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 กรุยทางสู่ความฝันสูงสุดหวังก้าวข้าม “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง” จุดประกายให้ทุกองค์กรเร่งวางนโยบายและปรับโครงสร้างให้สอดรับกับยุทธศาสตร์หลักที่ภาครัฐตีกรอบเอาไว้กันสุดลิ่ม ขณะเดียวกันเวลานี้ประเทศไทยได้ชื่อว่าก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้ว “แบบเงียบๆ”ตั้งแต่ปี 2554

แม้บางคนก็ยังไม่รู้เนื้อรู้ตัวเลยว่าเราอยู่ในสังคมผู้สูงอายุแล้วหรอนี่?

ทั้งนี้ องค์กรสหประชาชาติให้คำนิยามว่าประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกิน 10 % หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปเกิน 7 % ของประชากรทั้งประเทศ ถือว่าประเทศนั้นได้ก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) และจะได้ชื่อว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์(Complete Aged Society) ก็ต่อเมื่อสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีเกิน 20% อายุ 65 ปีขึ้นไปเกิน 14 %

ยิ่งไปกว่านั้นหากสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปเกิน 20 % ก็จะได้เชื่อว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super Aged Society ) และจากการคาดการณ์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ระบุว่าประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2564 หรืออีก 4 ปีข้างหน้านี้เอง โดยจะมีผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี เกิน 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด

หากพินิจตามกรอบเวลาแล้วดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ดังนั้น ทุกภาคส่วนทั้ง หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และทุกภาคส่วนสังคม จึงต้องร่วมกันกำหนดนโยบายและมาตรการเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมทั่วถึงผู้สูงอายุทุกกลุ่มเป้าหมาย

บริบททั้งหมดเป็นไปเพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแล ช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีมีศักดิ์ศรี และความมั่นคงของชีวิต อีกทั้งยังเป็นการขับเคลื่อนเข้าสู่ Ageing 4.0 ยุคของการสร้างนวัตกรรมเพื่อพลิกจากวิกฤตของสังคมสูงวัยให้เป็นโอกาส โดยไม่ให้ตกขบวนรถไฟสาย “ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0”

แดนซามูไร เมืองต้นแบบ “สังคมผู้สูงอายุ”

หากจะยกตัวอย่างประเทศในเอเชียที่มีความพร้อมในการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่มีความพร้อมมากที่สุด เห็นทีคงต้องยกให้ประเทศญี่ปุ่น เมื่อกลางเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ปิศาจขนสง มีโอกาสร่วมเดินทางไปแดนอาทิตย์อุทัยคณะผู้สื่อข่าวที่เข้าร่วมอบรมในโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง(พศส.) 2560 ภายใต้หัวข้อ “ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” โดยการสนับสนุนของธนาคารกรุงเทพ เดินทางทัศนศึกษา ณ กรุงโตเกียว

ปิศาจขนส่ง หรือแม้่แต่ทุกท่านที่เคยไปเยือนญี่ปุ่นมาแล้ว ไม่ว่าว่าจะเป็นเมืองไหนก็ตาม ทันทีที่ก้าวแตะแผ่นดินซามูไรก็ได้ประประจักษ์ต่อสายตาแล้วว่าญีปุ่นเขาไปพัฒนาประเทศ ปรับเปลี่ยนบ้านเมือง และการใช้ดำรงชีวิตทุกด้านเป็นไปอย่างมีระเบีย่บแบบแผน พลเมืองญีปุ่นเคารพกติกาสังคม กฎหมายบ้านเมือง มีระเบียบวินัยสูง ไม่เห็นแก่ตัว ไม่มักง่าย ปฏฺิเสธการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกกรณี

ไม่แปลกหรอกที่บ้านเขาเมืองเขาจะเป็น “ประเทศที่พัฒนาแล้ว” และเป็น “ประเทศมหาอำนาจทางด้านเศรษฐกิจของโลก” 

ขณะที่การพัฒนาประเทศเพื่อรองรับ “สังคมผู้สูงอายุ”ก็ได้ชื่อมีความพร้อมในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมด้านคมนาคมขนส่ง สิ่งอำนวยความสะดวก หรือแม้กระทั่งด้านสวัสดิการก็ล้วนแต่เพื่อเอื้ออำนวยต่อ “ผู้สูงอายุ” 

ว่ากันว่าประเทศญี่ปุ่นได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super Aged Society ) ตั้งแต่ปี 2556 โดยเป็นประเทศที่มีประชากรอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปสูงถึง 25.1 % และคาดว่าจะทะยานสูงถึง 33.4 % ในปี 2578 และหากอนาคตญี่ปุ่นจะมีประชากร 1 ใน 3 เป็นผู้สูงอายุก็น่าจะเป็นปัญหาสำหรับบ้านเขาเมืองเขา

ไปเห็นบ้านเมืองเขาแล้วก็อดคิดในไทยตลอดว่าทำไมไทยแลนด์ไม่เป็นแบบนี้บ้าง? คำตอบในเรื่องในเรื่องนี้หลายท่านก็น่าจะรู้แก่แหละว่าทำไม ทำไม และทำไม?

ก้าวข้ามกับดักผู้สูงอายุ คือ “ภาระสังคม”

ย้อนกลับมาดูเชิงเปรียบเทียบความพร้อมบ้านเรากันบ้าง ย่อมห่างไกลและแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะหากจะลองหลับตาแล้วนึกถึงความพร้อมของประเทศเพื่อรองรับคนพิการและผู้สูงอายุบ้านเรานั้น หลายท่านคงนึกไม่ออกว่าภาคส่วนไหนของสังคมบ้างที่เตรียมความพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุที่พอเป็นรูปธรรมตำลูกกะตากันบ้าง

เฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งอันเป็นบริการขนส่งสาธารณะเพื่อผู้พิการและผู้สูงอายุก็ยังนึกภาพไม่ค่อยจะออกกันเลยใช่ไหมล่ะ? หรือมีก็แค่โครงการนำร่อง

 

เอาแค่โครงการรถเมล์เอ็นจีวี 489 คันก็ยังเป็นปมดราม่ายื้อกันไปมาอยู่ในวงจรอุบาทว์ “ประมูลใหม่-มีปัญหา TOR –ล้มประมูล”ซ้ำซากกลายเป็นมหากาพย์กว่า 15 ปีแล้ว ที่คนกรุงไม่ได้ฤกษ์ยกบั้นท้ายงามๆบรรจงนั่งรถเมล์ใหม่ซะที จนหลายคนเริ่มปลงแล้วว่าชาตินี้คงไม่มีวาสนาได้นั่งแล้วกระมัง หรือจะต้องให้หาวเรอรอเก้อไปอีกกี่สิบชาติถึงจะได้นั่ง

แล้วจะกล่าวป่วยไปใยถึงการปลุกจิตสำนึกบริการที่ดี และการยอมเจียดที่นั่งเพื่อ “ผู้สูงอายุ”!

หรือแม้กระทั่งระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นรถตู้, รถทัวร์บขส., รถไฟ, รถไฟฟ้าใต้ดินบนดิน ตลอดถึงระบบขนส่งทางน้ำ และทางอากาศ ที่ปัจจุบันพื้นที่เพื่อ “ผู้สูงอายุ” มีมากน้อยแค่ไหน เพียงพอหรือยัง และเตรียมการเพื่อรองรับไปถึงไหนแล้ว ตลอดถึงการปรับทัศนคติของผู้ให้บริการที่มีต่อ “ผู้สูงอายุ”ที่ไม่ได้อยู่ในสถานะ “บุคคลผู้เป็นภาระสังคม” ได้ยกระดับให้สูงขึ้นหรือยัง?

หรือแค่…เสือกระดาษ!

แม้แต่กระทรวงคมนาคมจะรู้ซึ่งถึงปัญหาและอุปสรรคเป็นอย่างดี ถึงขนาดกำหนดเป็น “ยุทธศาสตร์การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในภาคขนส่งสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ” โดยได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีได้รับทราบ และเพื่อใช้เป็นกรอบการดำเนินงานของหน่วยงานทุกภาคส่วน เป็นไปอย่างสอดคล้อง ครอบคุลม และบูรณาการ อีกทั้งยังกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งระยะ 20 ปี ภายใต้กรอบ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการฉบับที่ 5 พ.ศ.2560-2564 และแผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่ 2 พ.ศ.2545-2564 อีกด้วย

โดยได้กำหนดแนวทางในการดำเนินการทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านนโยบายแลกฎหมาย ด้านการปรับปรุงโครงสร้างทางกายภาพ ด้านการฝึกอบรมบุคลากร และด้านการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่อำนวยความสะดวกเพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ

 

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม ยังได้นำร่องด้วยการใช้หลักการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design)ในการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกตามสถานที่ให้บริการภาคการขนส่ง 5 แห่ง อาทิเช่น ป้ายหยุดรถรถโดยสารประจำทางบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สถานีขนส่งสายใต้ ท่าเรือพระนั่งเกล้า สนามบินดอนเมือง เป็นต้น ซึงปัจจุบันสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกต้นแบบที่ออกแบบเพื่อการใช้งานของคนพิการและผู้สูงอายุ เช่น ประตูทางเข้า-ออกของอาคาร ทางลาด ห้องน้ำ ที่จอดรถเพื่อผู้สูงอายุ เป็นต้น อีกทั้งยังมีแผนขยายไปยังสถานที่การให้บริการภาคขนส่งอื่นๆอีกด้วย

แต่นั่นย่อมถูกสังคมตั้งคำถามว่าการนำร่องแค่เศษเสี้ยวนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับพฤติกรรม “ผักชีโรยหน้า” เพียงแค่พอให้มีผลงานถูกเสนอเป็นข่าวตามหน้าสื่อบ้างไรบ้าง แต่เนื้อในงานที่ลึกไปกว่านี้กระทรวงฯได้เดินหน้าและเร่งรัดให้เกิดเป็นรูปธรรมมากกว่ายุทธศาสตร์สวยหรูที่นอนนิ่งอยู่ในแฟ้มงานเท่านั้นหรือยัง? ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้จริงจังมากน้อยแค่ไหน? หรือทำพอเผาผลาญงบประมาณและเป็นข่าวจากนั้นหายเงียบเป็น “เป่าสากฝังครก“? หลอมรวมเข้าสู่โหมด “ไร้คุณภาพ ประสิทธิภาพ และไร้การสานต่อ”อย่างสิ้นเชิง

เรื่องพันธุ์นี้คนใหญ่คนโตในกระทรวงฯน่าจะรู้ตื่น-ลึก-หนา-บางเป็นอย่างดี?!

ถึงกระนั้น แม้กระทรวงฯ จะดั้นเมฆถึงยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญเพื่อรับบริบทการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อการพัฒนาระบบคมนาคมาขนส่งและยกระดับคุณภาพมาตรฐานการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะให้กับผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงและใช้บริการได้อย่างสะดวกปลอดภัยก็ตาม

แต่ก็อดกังวลไม่ได้ว่ายุทธศาสตร์ที่วางไว้สวยหรูนี้ เกรงว่าจะเป็นแค่ “เสือกระดาษ” แต่ผลงานยังไม่เป็นชิ้นเป็นอัน และไม่ได้ถูกขับเคลื่อนอย่างจริงจังไปไม่ถึงฝั่งฝันอย่างที่กล่าวขานเอาไว้ ครั้นถึงการเปลี่ยนผ่านไปถึงมือผู้อำนาจอีกขั้ว กลายเป็น”ปลาเปลี่ยนน่ำ” เรื่องที่ชงเอาไว้ก็หายจ้อยไปกับปุยเมฆ(ซะงั้น)

สุดท้ายแล้วผู้รับชะตากรรมแห่งผิดหวังซ้ำซากต้องตกอยู่ที่ “ประชาชนตาดำๆ”!