กดปุ่มแล้ว..บัตรคนจน รูดปรึ๊ดๆ

0
475

 หลังครม.”พล.อ.ประยุทธ์” ไฟเขียวโครงการ “ประชารัฐ” สวัสดิการช่วยเหลือคนจน  แจกเงินผ่าน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน  โดยกำหนดกดปุ่มรูดปื๊ดดีเดย์ ในวันที่  1  ตุลาคม  2560  ยกเว้นใน  7 จังหวัดภาคกลาง จำเป็นต้องเลื่อนเป็นวันที่ 17 .ค.2560  เหตุจำกัดทางด้านเทคนิคปั๊มบัตรบันทึกข้อมูลในซิปการ์ดไม่ทัน    เฟสแรกรัฐทุ่มงบฯจ่ายกว่า 4 หมื่นล้านบาทต่อปี

กรมบัญชีกลางสรุปยอดการแจกบัตรคนจนที่เปิดลงทะเบียนกับรัฐ  เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2560 จากผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 14.1 ล้านคน แต่มีผู้มีสิทธิ์ได้รับบัตรคนจน  11.67 ล้านคน  และอธิบายลักษณะบัตรสวัสดิการแห่งรัฐว่า  มีรูปร่างหน้าจะคล้ายบัตรเครดิตและ ATM  แตไม่สามารถนำกดเงินจากตู้ ATM ได้ รัฐให้เป็นวงเงินผ่านบัตร แล้วนำไปชำระค่าสินค้าและค่าบริการขนส่ง รวมทั้งใช้ยืนยันสิทธิในการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐทุกครั้ง

ส่วนการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐต้องใช้กับเครื่องรับบัตรอัตโนมัติ (EDC) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 แบบ  คือแบบแรกจะเป็นมี 2 ชิปการ์ด ผลิตมาจำนวน 1.3 ล้านใบ เพื่อมอบให้กับประชาชนใน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ซึ่งจะสามารถใช้กับระบบตั๋วร่วม เพื่อขึ้นรถเมล์และรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ได้

และแบบที่ 2 ของคนในจังหวัดอื่น ๆ จะมีชิปการ์ดเดียว จึงไม่สามารถนำมาใช้ขึ้นรถเมล์และรถไฟฟ้าได้ อย่างไรก็ตาม หากมีการเปลี่ยนภูมิลำเนาเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ก็สามารถมาแจ้งเปลี่ยนเป็นบัตรแบบ 2 ชิปการ์ดได้   หากทำบัตรคนจนสูญหายสามารถดำเนินการทำบัตรใหม่ได้   แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำบัตรใหม่ จำนวน 50 บาท สำหรับบัตรที่มี 1 ชิปการ์ด และมีค่าใช้จ่าย 100 บาท สำหรับบัตรที่มี 2 ชิปการ์ด

บขส. -รถเมล์ – รถไฟ  ตบเท้าขานรับนโยบาย

เบื้องต้นผู้มีรายได้น้อยหลายๆคนอาจจะเกิดคำถามหรือข้อสงสัยแล้วว่า ขั้นตอนหรือวิธีการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจนนั้นสามารถนำไปใช้จ่ายอะไรได้บ้าง  ขั้นตอนยุ่งยากการใช้งานยุ่งยากสลับซับซ้อนแค่ไหน  และบทบาทหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใส่ใจมีความพร้อมอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับการใช้สิทธิตามโครงการประชารัฐหรือไม่  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อม เพื่อรองรับผู้ที่มีรายได้น้อยใช้สิทธิผ่านบัตรคนจนกว่า 11 ล้านคน

  “LOGISTICS TIME ” จึงรวบรวมรายละเอียดการใช้บัตรตนจนดังรายละเอียดต่อไปนี้:  กระทรวงการคลังเจ้าภาพหลักโครงการนี้ยืนยันเกี่ยวกับการใช้สิทธิตามโครงการประชารัฐกำหนดให้ใช้สิทธิผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถใช้เดินทางคมนาคมขนส่งกับ  รถโดยสาร บขส. รถเมล์ ขสมก. รถไฟฟ้า และรถไฟทุกขบวน และพร้อมเปิดบริการเฟสแรกวันที่ 1 ตุลาคม 2560 นี้

“ในส่วนของ บขส. ได้ประสารกับธนาคารกรุงไทยติดตั้งเครื่องรับบัตรอัตโนมัติ (EDC)  ที่สถานีขนส่งโดยสารกรุงเทพฯทั้ง 3 แห่ง  (จตุจักร เอกมัย ถ.บรมราชชนนี และที่ทำการสถานีเดินรถ บขส.ทั่วประเทศ 121 จุด  เพื่ออำนวยความสะดวกการจองซื้อตั๋วโดยสาร   สำหรับเงื่อนไขต้องเป็นผู้เดินทางเองเท่านั้น สามารถซื้อตั๋วโดยสาร บขส.ภายในวงเงิน 500 บาทต่อเดือน

“กรณีที่ค่าโดยสารเกินวงเงินที่ได้รับต้องจ่ายส่วนต่างเป็นเงินสดเท่านั้น สามารถเดินทางไปกับรถโดยสาร บขส.ได้ทุกมาตรฐาน ทุกเส้นทาง สามารถใช้ร่วมกับสิทธิลดหย่อนอื่นๆได้ตามเงื่อนไขที่บริษัทกำหนด ”นายอดิศักดิ์ เยาว์วัชกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวยืนยัน

ขณะที่นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงตมนาคม รักษาการผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)  กล่าวว่า ทางการรถไฟฯได้ติดตั้งเครื่อง EDC ประจำสถานีรถไฟทุกแห่ง 444  สถานีจำนวน 534 เครื่อง  การใช้บัตรคนจนสามารถใช้สิทธิ์ขึ้นรถไฟชั้น 3 ทุกขบวน  เป็นการทดแทน “โครงการรถไฟฟรีเพื่อประชาชน”ขณะนี้เครื่องติดตั้งแล้วเสร็จพร้อมใช้งานแล้ว   โดยสถานีกรุงเทพฯติดตั้งเครื่อง EDC มากที่สุดจำนวน  22 เครื่อง  เนื่องจากเป็นสถานีหลัก   ส่วนสถานีอื่นๆได้ติดตั้งจำนวนเครื่องตามความเหมาะสม  การใช้บัตรสามารถใช้โดยสารภายในวงเงินไม่เกิน 500 บาท

เช่นเดียวกับ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก. ) นายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ รักษาการแทน ผู้อำนวยการ ขสมก. เปิดเผยว่า รถเมล์ ขสมก. มีความพร้อมนำระบบ E-Ticket มาให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการของ ขสมก. เพื่อให้บริการประชาชน โดยมีแผนติดตั้งระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) บนรถโดยสารธรรมดาของ ขสมก.จำนวน 800 คันสำหรับ การเริ่มต้นให้บริการในวันที่ 1 ตุลาคมที่จะถึงนี้ และได้ติดตั้งเครื่องอ่านบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) บนรถโดยสารธรรมดา 200 คัน และจะทยอยติดตั้งให้ครบ 800 คัน เพื่อให้สามารถรองรับการใช้บริการของประชาชน ผู้ถือบัตรสวัสดิการดังกล่าว ให้ได้รับความสะดวกในการเดินทางด้วยรถโดยสารของ ขสมก.ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั้ง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

“ ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ จะต้องนำบัตรมาแตะที่เครื่องอ่านบัตรในขณะที่ขึ้นและลงรถโดยสาร เป็นการตัดค่าโดยสารอย่างอัตโนมัติ ซึ่งรถโดยสารทั้ง 800 คัน จะติดสติ๊กเกอร์สีเขียวข้อความ “รถคันนี้ใช้ระบบเก็บเงินอัตโนมัติ” แทนที่ข้อความ “รถเมล์ฟรีจากภาษีประชาชน” ที่กระจกด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลังรถโดยสาร”

 รูดซื้อสินค้าร้านธงฟ้า – ลดค่าแก๊ส –  ค่าไฟฟ้า

นอกจากนี้ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐยังสามารถใช้ซื้อสินค้ากับร้านธงฟ้าที่เข้าร่วมโครงการกับกระทรวงพาณิชย์ทั่วประเทศ  ทั้งยังสามารถใช้เป็นลดชำระค่าแก๊สกระทรวงพลังงานกำหนด 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน   และค่าไฟฟ้า อีกด้วย

ล่าสุด นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า   กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตั้งเครื่องรูดบัตรอิเล็กทรอนิกส์แล้วกว่า 3,000 แห่งจากร้านธงฟ้าประชารัฐสมัครเข้าร่วม 5,700 แห่ง คาดว่าจะติดตั้งครบภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 และเร่งติดตั้งให้ครอบคลุม 8,000 ตำบล เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าอุปโภคบริโภคครอบคลุมพื้นที่อำเภอทั่วประเทศ 878 อำเภอ ส่วนรายการสินค้าขณะนี้มีบริษัทผู้ผลิตสินค้า 30 ราย รวมกว่า 300 รายการสินค้าเข้าร่วมโครงการ 

“ต้องการให้โครงการมีความราบรื่นมากที่สุดจากนี้จะมีการติดตามงานและเร่งรัดให้ดำเนินงานตามเป้าหมาย ซึ่งทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือ อาทิ กรมบัญชีกลาง กรมประชาสัมพันธ์ ธนาคารรัฐทุกแห่งว่าได้มีความเห็นร่วมกันให้กรมบัญชีกลางเป็นศูนย์กลางให้ข้อมูลโครงการ และเปิดสายด่วนให้ประชาชนหรือ คอลเซ็นเตอร์ให้คำปรึกษาและแนะนำการใช้บัตร รวมถึงตอบปัญหาผู้มีรายได้น้อยที่ยังไม่เข้าใจ

“ขณะที่กรมประชาสัมพันธ์ ธนาคารของรัฐทุกแห่งต้องติดป้ายประชาสัมพันธ์รายละเอียดโครงการของสาขาเครือข่าย ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะมีสาขาเครือข่ายรวมกว่า 3,000 -4,000 แห่งทั่วประเทศ

ข้อมูลในคอลเซ็นเตอร์ของกรมบัญชีกลาง เช่น ร้านธงฟ้าประชารัฐ ที่ตั้งร้าน จำนวนรายการสินค้า จุดให้บริการรถเคลื่อนที่ ส่วนหน่วยงานอื่นจะส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องด้านต่างๆ เช่น ขั้นตอนการใช้บัตร  ปัญหาติดขัดจะแก้อย่างไร เป็นต้น ”รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว

หากสรุปยอดวงเงินเพื่อผู้ที่มีรายได้น้อยใช้จ่ายผ่านบัตรคนจนดังต่อไปนี้ ขึ้นรถไฟ 500 บาท ต่อเดือน รถบขส. 500 บาทต่อเดือน รถเมล์ขสมก.500 และรถไฟฟ้าต่อเดือน  ค่าไฟ 200 บาทต่อเดือน ค่าน้ำ 150 บาทต่อเดือน   วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าที่กระทรวงพลังงานกำหนด 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน คิดรวมในร้านธงฟ้าประชารัฐ 100 บาทต่อเดือน

ดังนั้น เมื่อคำนวณวงเงินงบประมาณที่รัฐพึ่งจ่ายให้กับผู้มีรายได้น้อยคิดอยู่ที่ประมาณ 2,750 บาทต่อคนเดือนต่อเดือน  หรือประมาณ 4 หมื่นล้านบาทต่อปี จากผู้มีรายได้น้อยทั้งสิ้น  11.67 ล้านคน  ซึ่งเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงกับปฏิเสธที่จะตอบถามว่า  จะจ่ายให้คนละเท่าไหร่  อย่ามาถาม…?    

อย่างไรก็ดี   แม้ว่าโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ มุ่งแก้ปัญหาลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม  ช่วยบรรเทาภาระปากท้องของผู้ที่มีรายได้น้อยที่เป็นตนส่วนของประเทศก็ตาม   แต่ที่น่าเป็นห่วงหากเกิดกรณีมีการใช้บัตรคนจนแทนกัน หรือมีการสวมสิทธิ์แทนกัน รัฐจะมีมาตรการป้องกันปัญหานี้อย่างไร? .