4 จี…ตบรางวัลกันแทบสำรอก!

0
150

จุดพลุขึ้นมาถูกที่ถูกเวลาจริงๆ

กับเรื่องที่ นายฐากร ตัณฑสิทธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกมาตีปี๊บร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่เพื่อออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม 4 จี บนคลื่น 900 (850MHz) และ1800 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz )รองรับสัมปทานมือถือของดีแทคที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานวันที่ 15 กันยายน 2561

โดย กสทช. มีแผนจะนำคลื่นความถี่ดังกล่าวออกประมูลก่อนสิ้นสุดสัมปทาน เพื่อที่รัฐและ กสทช.จะได้ไม่ต้องงัด ม.44 ออกมาตรการเยียวยาให้เกิดปัญหายุ่งขิงตามมาอีก พร้อมกาง “โร้ดแม็พ” ประมูลที่จะมีขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2561 โดยคลื่นความถี่ 850 และ1800 MHz ที่จะนำออกประมูลทั้งสิ้น 4 ใบอนุญาต แยกเป็นคลื่น 850 MHz ขนาด 5 MH จำนวน 1 ใบอนุญาต ตั้งเกณฑ์ราคาประมูลขั้นต่ำไว้ 37,988 ล้านบาท ส่วนคลื่น 1800 MHz  3 ใบอนุญาตๆ ละ 15 MHz ตั้งเกณฑ์ราคาขั้นต่ำไว้ที่ 37,457 ล้านบาท/ใบอนุญาต รวมเบ็ดเสร็จ 4 ใบอนุญาต คาดจะทำให้ กสทช. ดึงเม็ดเงินประมูลเข้ารัฐไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาท

ทำเอารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยิ้มแก้มปริ เพราะจุดพลุได้ถูกที่ถูกเวลาได้ดีจริงๆ สามารถกลบกระแสข่าวปริร้าวในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่กำลังระอุแดดภายหลัง รมว.แรงงานและสวัสดิการสังคมยกทีมลาออก หลังถูกหัวหน้า  คสช. งัด ม.44 เด้งอธิบดีในใต้บังคับบัญชาข้ามหัวโดยไม่ปรึกษาหารือ!  

แต่ที่ทำเอาผู้คนในแวดวงโทรคมนาคม “อึ้งกิงกี่” ก็คือเหตุใด กสทช. ถึงมาตีปี๊บแจงเกณฑ์ประมูลคลื่น 850 และ1800 MHz เอาในช่วงนี้ แถมยัง “ปาดหน้า” รถไฟความเร็วสูง “ไฮสปีดเทรน” ของกระทรวงคมนาคมที่ปล้ำผีลุกปลุกผีนั่งมาตั้งแต่ปีมะโว้ เพราะ กสทช. ปลุกผีไปวันก่อน วันวานนัยว่ากระเตงผ่านบอร์ดกลั่นกรองและกระเตงเข้าบอร์ด กสทช. พิจารณาทันที ทั้งที่กว่าจะประมูลจริงก็อีก 7-8 เดือนข้างหน้า

มันจึงคิดไปเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากการเดินหมากหลายชั้นเข้าฮอร์สของใครบางคนที่กำลังโชว์ “โปรไฟล์” ให้เห็นถึงศักยภาพของบิ๊ก กสทช. ว่ายังมี “น้ำอิ๊ว” ที่น่าจะเป็นตัวเลือกสำหรับการปรับ ครม. ชุดใหญ่ที่กำลังจะมีขึ้น เป็นการโชว์ผลงาน “ชิ้นโบแดง” ให้เห็นว่า  “เขาทุ่มเทแรงกายแรงใจทำงานสนองนโยบายให้กับรัฐบาลแค่ไหน”  แต่หากบอร์ด กสทช. “ตีกลับ” หรือมีความเห็นต่างไม่อนุมัติเกณฑ์การประมูลตามที่เสนอก็จะกลายเป็นการโยน “เผือกร้อน” ใส่บอร์ด กสทช.ไปเต็มๆ

ที่สร้างความพิศวงงงงวยยิ่งขึ้นไปอีก ก็เมื่อเลขาธิการ กสทช. ออกมา “แบไต๋” เองว่า การประมูลคลื่น 850 และ1800 MHz ที่จะมีขึ้น ยังคงเปิดกว้างให้บริษัทสื่อสารที่เคยทิ้งการประมูลครั้งก่อนคือ “หลวงพี่แจ๊ส” หรือ แจส โมบายบรอดแบนด์ (JAS) เข้าร่วมประมูลได้อีก ด้วยข้ออ้างได้ลงโทษปรับและริบหลักประกันการประมูลบริษัทไปแล้ว ถือว่าได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขครบถ้วนเป็น “กู๊ดบอย” แล้ว

ไม่มีการพูดถึงการขึ้น “แบล๊กลิสต์” ในฐานะผู้ทิ้งงานจนทำให้รัฐเสียหายทำเอาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเสียหาย จน กสทช. ต้องวิ่งพล่านไปขอให้นายกฯ งัด ม.44 ผ่าทางตันการประมูลให้แม้แต่น้อย จนก่อให้เกิดคำถาม ตกลงแล้ว “กสทช.” สามารถวางหลักเกณฑ์จัดซื้อพัสดุ หลักเกณฑ์ประมูลจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นเอกเทศได้เองโดยไม่ต้องอิงระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุ หรือ พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุฉบับใหม่ พ.ศ. 2560 แต่อย่างใดได้ด้วยหรือ!!!

ลำพังแค่การที่บอร์ด กสทช. ดอดต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 ให้กับบริษัทสื่อสารผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต 3บีบี 15 ปีรวด จากที่จะสิ้นสุดในปี 2569 ไปสิ้นสุดปี 2575 ทั้งที่สัญญาเดิมยังเหลืออีกตั้ง 9 ปีก่อนหน้านั้น ก็ทำเอาผู้คนกังขากันมากพออยู่แล้ว

นี่ยังจะมา “ตบรางวัล” แจกโบนัสเปิดทางให้บริษัทได้เข้าร่วมประมูลกันอีกระลอกเข้าไปด้วยอีก จึงไม่แปลกใจที่ทันที่ กสทช. แถลงโร้ดแม็พการประมูลคลื่น 850 และ 1800 MHz ที่จะมีขึ้นกลางปีหน้าแทนที่หุ้นในกลุ่มสื่อสารโทรคมนาคมจะติดปีกขานรับกันคึกคัก ก็กลับกอดคอกันร่วงระนาว

เรื่องอื้อฉาวขนาดนี้หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบทุจริตอย่างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หรือ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่คิดจะล้วงลูกเข้ามาตรวจสอบเบื้องหน้าเบื้องหลังการตบรางวัลชนิดที่ทำเอาบริษัทสื่อสารแทบจะสำรอกกันบ้างหรือ?!!   

กับความคาดหวังของ กสทช. ที่ยังคงยืนยันจะใช้ราคาประมูลคลื่นความถี่ 900 ครั้งล่าสุด คือ 75,600 ล้านบาท เป็นเกณฑ์การตั้งราคาเริ่มต้นประมูลใบอนุญาตใหม่ที่จะมีขึ้นนั้น นัยว่าทำเอาหลายฝ่ายสะดุ้งโหยง เพราะบทเรียนในอดีตที่ กสทช. ตั้งป้อมคาดหวังแต่จะจัดเก็บค่าต๋ง โดยไม่ดูสภาพตลาดที่แท้จริงนั้น เคยทำเอาตลาดทีวีดิจิทัลหืดจับหายใจไม่ทั่วท้องกันมาหนแล้ว

เพราะแม้ผลประมูลที่ได้จะทำให้รัฐได้เม็ดเงินประมูลไปกว่า 51,000 ล้าน แต่สุดท้ายผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลน้อยใหญ่ต่างอยู่ในสภาพ “หืดจับหายใจไม่ทั่วท้อง” รายที่สายป่านสั้นหน่อยต้องแพ็คกระเป๋ากลับบ้าน ที่เหลือก็ล้วนอยู่ในสภาพที่ต้องหายใจรวยรินและต้องบากหน้าไปขอให้ นายกฯ งัด ม.44 ผ่าทางตันหามาตรการเยียวยาให้อยู่เลยไม่ใช่หรือ?