“อาคม”ออกโรงอย่าศึก ‘ทอท.-ทย.’ ปมโอนย้ายสนามบินให้ทอท.บริหาร

0
189
“อาคม”ออกโรงอย่าศึก ทอท.-ทย. ปมโอนย้ายสนามบินให้ทอท.บริหาร โยนเผือกรัอนให้ สนข.ศึกษาเปรียบเทียบข้อดี -ข้อเสีย ความเหมาะสมและรูปแบบการบริหารสนามบินให้แล้วเสร็จใน 1 เดือน ก่อนชี้ขาดควรโอนสนามบินไหนให้ทอท.บริหาร ด้านทอท.ปัดร่วมทุนบริหารสนามบิน ย้ำยังอยากเป็นผู้ประกอบการรายเดียว
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงกรณีการโอนย้ายสนามบินในสังกัดทย.ให้ทอท.บริหารว่าจากการหารือร่วมกันได้มอบหมายให้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือสนข. ไปศึกษาประสิทธิการบริหารท่าอากาศยานของสนามบินในสังกัด กรมท่าอากาศยาน หรือ ทย.และของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน)หรือ ทอท.ว่ามีสนามบินใดบ้างที่ควรโอนให้ ทอท.ดูแล และสนามบินใดบ้างที่ ทย.รับผิดชอบบ้างใน 29 สนามบิน รวมถึงให้ศึกษารุปแบบการบริหารจัดการที่เหมาะสม
“ทอท.หรือ ทย.บริหารเอง, ทย.ลงทุนปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และให้เอกชนเข้ามาบริหาร หรือ ให้สัมปทานเอกชนบริหารจัดการ ทั้งนี้ใน 1 เดือนต้องได้ข่อสรุปก่อนที่ตนจะตัดสินขั้นเด็ดขาดอีกครั้ง อีกทั้งเพื่อให้การพัฒนา ปรับปรุงสนามบินในความรับผิดชอบของ ทย.จำนวน 29 แห่งตามแผนพัฒนาศักยภาพใน10ปี(ปี60-69) ได้มีความคล่องตัวและรวดเร็วโดยที่ไม่ต้องรอเงินสนับสนุนจากภาครัฐบาลกว่า 30,000 ล้านบาทจึงได้มีแนวคิดที่จะให้ ทย. กู้เงินจากสถาบันการเงิน โดยเฉพาะธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี เพื่อร่นระยะเวลาการรอเงินสนับสนุนจากภาครัฐ หากใช้เงินกู้จะร่นเวลาจาก10ปีเหลือเพียง 5 ปีเท่านั้น โดยส่วนนี้ทางเอดีบีจะเป็นผู้พิจารณาว่า ทย.ควรกู้บางส่วนเพื่อมาพัฒนาสนามบิน หรือ กู้ทั้งหมด คาดว่าแนวทางนี้จะได้ข้อสรุปภายใน 3 เดือน”
นอกจากนี้ นายอาคม กล่าวอีกว่าปัจจุบันสนามบินในสังกัดทย. มี 29 แห่ง มีรายได้จากการดำเนินการ 1,400 ล้านบาท/ปี มีค่าใช้จ่าย 800 ล้านบาท/ปี มีกำไรเฉลี่ยกว่า 600 ล้านบาท/ปี ซึ่งขณะนี้กระทรวงคมนาคม โดย ทย. ได้อยู่ระหว่างขอแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ ทย.สามารถเก็บรายได้ไว้ เพื่อให้ ทย. สามารถนำเงินดังกล่าวมาใช้ปรับปรุงพัฒนาสนามบินในสังกัด ทย. โดยที่ไม่ต้องรอเงินสนับสนุนจากรัฐบาล”
“กรณีทอท.มีความต้องการที่จะเข้าไปบริหารสนามบินในสังกัด ทย. จำนวนกว่า 15 สนามบินนั้น แต่จากผลการศึกษาของ ทย. เห็นควรที่จะให้โอนย้ายสนามบินในสังกัด ทย. เพียง 2 สนามบิน คือ สนามบินตาก และสนามบินอุดรเท่านั้น เรื่องนี้ต้องรอผลการศึกษาจาก สนข.มาประกอบผลการศึกษาของ ทอท. และ ทย.แล้วตนจะเป็นผู้พิจารณาตัดสินอีกครั้งคาดว่าใน1เดือน ภายในสิ้นปี 60จะต้องได้ข้อสรุปชัดเจน ซึ่งจะทำให้ ทย. และ ทอท. มีทิศทางที่จะนำไปพัฒนาศักยภาพสนามบินต่อไป”
ด้านนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน)(ทอท.)กล่าวว่า  การเข้าบริหารสนามบินในประเทศนั้นเป็นการแก้ปัญหาความแออัดของผู้โดยสารใน 6 สนามบินหลักของประเทศซึ่งปัจจุบันล้วนเกินขีดความสามารถผู้โดยสารไปแล้วทั้งสิ้น ดังนั้นการขยายสนามบินไปเป็นฮับฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีของตลาดการบินในประเทศ อย่างไรก็ตามทอท.มองว่าการเข้าบริหารสนามบินภูมิภาคนั้นต้องมาในรูปแบบผู้ประกอบการรายเดียว (Single Operator) เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินโยบายรวมถึงมีประสิทธิภาพเพียงพอในการทำตลาดอีกด้วย