“อ้วนคอนเทนเนอร์”โชว์ศักยภาพขนส่งไทย เลือกต่อหางดัมพ์ PANUS 32 คัน มั่นใจมาตรฐานสูง

0
686

อ้วนคอนเทนเนอร์”ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทุกประเภท ประกาศศักดางานบริการขนส่งชั้นแนวหน้าเมืองไทย ด้วยการเหมาโหลรถหัวลากสแกนเนีย รุ่น P360  พร้อมต่อหางยกดัมพ์ PANUS ถึง 32 คันรวด หวังยกระดับมาตรฐานงานบริการขนส่งสายพันธุ์ไทย ย้ำหัวลากสแกนเนียฝังติดด้วยเทคโนโลยีสูง โดดเด่นด้าน“ความปลอดภัย-ประหยัดเชื้อเพลิง” บริการหลังการขายดีเยี่ยม ชูหางดัมพ์ PANUS มาตรฐานสูง ตอบโจทย์ “ประหยัดเวลา-ลดต้นทุน” พร้อมผงาดยักษ์ใหญ่ขนส่งที่มี”หางยกดัมพ์ยาว 7 เมตร”มากสุดในไทย

คุณวุฒิพงษ์ (อ้วน) วิศิษฏ์ศักดิ์ กรรการผู้จัดการ บริษัท อ้วนคอนเทนเนอร์ จำกัด เปิดเผยว่าบริษัทฯรับให้บริการขนส่งสินค้าทุกประเภทด้วยรถหัวลากยกดัมพ์, 10 ล้อพ่วงแม่ลูกยกดัมพ์,รถตู้แห้ง 6 ล้อ 10 ล้อ 22 ล้อ, ลานพักตู้, คนงานขึ้น-ลงสินค้า, ให้เช่าตู้ 20 และ 40 ฟุต โดยเรามีประสบการณ์ด้านการขนส่งกว่า 24 ปี ให้บริการลูกค้าทุกท่านด้วยความมุ่งมั่นและจริงใจในงานบริการ เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าผู้ใช้บริการเป็นหลัก

“เราต้องการโชว์ศักยภาพผู้ให้บริการงานขนส่งไม่แพ้ต่างชาติ ด้วยการสั่งซื้อหัวลากสแกนเนียรุ่น P360 จำนวน 32 คัน พร้อมให้ทางพนัสต่อหางยกดัมพ์ขนาดความยาว 7 เมตรจำนวน 32 คันเช่นกัน เราเชื่อมั่นในรถหัวลากสแกนเนีย เพราะเป็นแบรนด์ยุโรปที่โดดเด่นด้านเทคโนโลยีที่สูง ตอบโจทย์ด้านความปลอดภัยและประหยัดเชื้อเพลิง อีกทั้งบริการหลังการขายก็น่าประทับใจ แม้จะมีราคาค่อนสูงหากเปรียบเทียบกับรถญี่ปุ่น แต่หากมองในมิติการใช้งานระยะยาวถือว่าคุ้มค่ากับการลงทุน”

ขณะที่หางยกดัมพ์แบรนด์พนัสก็เป็นที่รู้จักของผู้ประกอบการขนส่งเมืองไทยอยู่แล้ว มีชื่อเสียงและคุณภาพของสินค้าและการบริการเป็นที่ไว้วางใจของลูกค้าอยู่แล้ว จึงไม่แปลกหรอกที่พนัสจะทะยานเป็นยักษ์ใหญ่ในตลาดผู้ผลิตรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ในไทย ประกอบกับที่เราเองต้องใช้หางยกดัมพ์เป็นจำนวนมากถึง 32 คัน ก็ต้องคิดให้ดีและรอบด้านต่อการใช้งานระยะยาว เราจึงไว้วางใจและเชื่อมั่นให้ทางพนัสต่อหางยกดัมพ์ 7 เมตรทั้งหมด 32 คัน

“เรากล้าพูดเลยว่าเวลานี้อ้วนคอนเทนเนอร์เป็นผู้ขนส่งที่มีหางยกดัมพ์ 7 เมตรมากที่สุดในท้องตลาด เป็นการยกระดับมาตรฐานการขนส่งที่ช่วยให้ผู้ว่าจ้างประหยัดค่าแรงและเวลาในการลงตู้สินค้า เพราะบางทีการขึ้น-ลงตู้สินค้าในบางสถานที่ที่ไม่มีรถหางดัมพ์บริการ ก็ต้องใช้แรงงานในการขึ้น-ลงตู้สินค้า หมายความว่าผู้ว่าจ้างก็ต้องจ่ายค่าแรงเพิ่มขึ้นในการลงตู้สินค้า 800-1,000 บาทต่อตู้ เป็นการเพิ่มต้นทุน อีกทั้งยังต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงในการลงตู้สินค้าในแต่ละครั้ง แต่หากเป็นหางยกดัมพ์ใช้เวลาลงตู้สินค้าแค่ 10 นาทีต่อตู้เท่านั้น”

อย่างไรก็ดี คุณวุฒิพงษ์ กล่าวสรุปว่าการที่เราเลือกใช้รถหัวลากสแกนเนีย พร้อมกับให้ทางพนัสต่อหางยกดัมพ์ถึง 32 คันรวด เป็นการยกระดับมาตรฐานการขนส่งให้เป็นที่ยอมรับของผู้ว่าจ้าง ที่ต้องการความปลอดภัยของสินค้า การตรงต่อเวลา และการบริการที่ดีเยี่ยม อีกทั่งยังเป็นการตอบโจทย์งานขนส่งที่ประหยัดเวลาและต้นทุนได้เป็นอย่างดี