ผ่าแผนธุรกิจโลจิสติกส์ SCG พุ่งชนเป้า ‘หนึ่ง’ในธุรกิจหลัก

0
1133

ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจโลจิสติกส์เมืองไทยทั้งรูปแบบ B2B B2C และ B2C นับวันยิ่งเพิ่มพูนอัตราการแข่งขันดุเดือดเลือดพล่านขึ้นทุกปี เหตุมีผู้เล่นในสนามหนาหน้าและมีมูลค่าตลาดรวมกันมากกว่าล้านล้านบาท โดยเฉพาะธุรกิจรูปแบบ B2B ที่มีมูลค่ามากกว่าล้านล้านบาท แบ่งเป็นการขนส่งของผู้ผลิตสินค้าเองน้อยกว่า 50% ของตลาดและธุรกิจรับขนส่งรูปแบบ เอาท์ซอร์ซ เช่น เอสซีจี เอสเพรส, นิ่ม ซี่ เส็ง และอื่นๆ มากกว่า 50%

ขณะที่ธุรกิจโลจิสติกส์รายย่อยแบบ B2C และ C2C ในปีที่ผ่านมา พบว่ามีมูลค่า 20,000-30,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นธุรกิจที่เติบโตดับเบิ้ลดิจิต่อเนื่องทุกปี ที่การแข่งขันร้อนแรงปรอทแตกยากที่จะลดอุณหภูมิลงได้ ท่ามกลางการพุ่งทะยานเติบโตธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย โดยคู่แข่งในสมรภูมิมีมากกว่า 5 รายที่ช่วงชิงให้บริการจัดส่งพัสดุมากกว่า 1.5 ล้านชิ้นต่อวัน

ท่ามกลางการแข่งขันร้อนระอุเช่นนี้ ฟากยักษ์ใหญ่ SCG โดย ผู้จัดการใหญ่-ตลาดในประเทศ ธุรกิจเอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง “นิธิ ภัทรโชค” จะมีมุมมองต่อการเติบโตของธุรกิจโลจิสติกส์ในแง่มุมไหน อย่างไรบ้าง? และ SCG เองจะงัดไม้เด็ดด้านการตลาดอะไรออกห้ำหั่นกับคู่แข่ง ตลอดถึงจะขับเคลื่อนองค์กรที่แข่งแกร่งด้านวัฒนธรรมองค์กรอย่าง SCG โลจิสติกส์ไปในทิศทางไหน อย่างไร?

สร้างความแข่งแกร่งทั้งไทยและอาเซียน

ทั้งนี้ นิธิ ภัทรโชค ได้ฉายภาพรวมการตลาดเมื่อปีที่ผ่านมาว่าภาคธุรกิจโลจิสติกส์เติบโตต่อเนื่องทุกปี และเป็นธุรกิจที่แข่งขันดุเดือดมาก ขณะที่ เอสซีจี  เองก็มีให้บริการขนส่งทั้ง 2 รูปแบบ โดย SCG Logistic ให้บริการโลจิสติกส์แบบ B2B ซึ่งเป็นธุรกิจที่ให้บริการมาอย่างยาวนาน และ SCG Express ธุรกิจโลจิสติกส์แบบ B2C และ C2C ที่ร่วมมือกับ Yamato Asia หรือขนส่งแมวดำ ธุรกิจใหม่ที่เปิดให้บริการต้นปี 2560 โดยในปีที่ผ่านมา ธุรกิจโลจิสติกส์ของเอสซีจี เติบโต 7% จากปี 2559 ด้วยมูลค่าธุรกิจ 16,000 ล้านบาท ยอดการให้บริการ 1.7 ล้านเที่ยว และยอดขนส่งสินค้า 3.6 ล้านตัน ส่วนในปีนี้เราตั้งเป้าการเติบโต 10% ด้วยรายได้ 17,000 ล้านบาท

“การจะก้าวเป็นธุรกิจหลักของเอสซีจีอีก 1 ขาของเอสซีจีได้นั้น การรุกตลาดเพียงในประเทศอย่างเดียวไม่พอแน่นอน แต่สยายปีกและต้องหาแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจนี้ เอสซีจีได้มองเห็นโอกาสที่น่าสนใจในตลาดโลจิสติกส์ 3 ด้าน ได้แก่ Connectivity ของอาเซียน การค้าขายและการขนส่งสินค้าภายในประเทศและข้ามชายแดนระหว่างประเทศที่มีความชัดเจนอย่างเห็นได้ชัดเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาโดยโครงการ One Belt, One Road ถนนสายไหมในศตวรรษที่ 21 ที่เริ่มต้นจากจีนเพื่อขยายเส้นทางการค้าทั้งทางบก และทางเรือสู่ 3 ทวีป โดยปัจจุบันมีประเทศเข้าร่วมโครงการมากกว่า 30 ประเทศ จากการมองเห็นผลประโยชน์ที่มีร่วมกัน Digital Transformation และ Digital Commerce ที่เข้ามาปฏิวัติการค้าขายสู่โลกออนไลน์ ที่ต้องพึ่งโลจิสติกส์จำนวนมากในการส่งมอบสินค้าจากผู้ขายสู่ผู้ซื้อ”

ชู 6 กลยุทธ์สู่ความเป็นผู้นำ

นอกจากนี้ นิธิ ระบุต่อว่าโอกาสที่น่าสนใจทั้ง 3 ประการนี้ได้กลายเป็นกลยุทธ์ทางการตลาด 6 ประการให้กับธุรกิจโลจิสติกส์ของเอสซีจีในการขับเคลื่อนธุรกิจ ได้แก่ Total Logistic Solution Provider ให้บริการโลจิสติกส์ที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ Regional Logistics Solution ปรับการให้บริการโลจิสติกส์ในกลุ่มประเทศที่เอสซีจีเข้าไปทำธุรกิจ เช่น เวียดนาม เมียนมา ลาว กัมพูชา อินโดนิเซีย และจีน ให้เป็นรูปแบบ cross border ทั้งหมดภายใน 1-2 ปีข้างหน้า

.”Nation Wide Service Network ขยายการบริการครอบคลุมทั่วประเทศ Digital Logistic System นำระบบดิจิทัลเข้ามาควบคุมการทำงานในระบบหลังบ้าน เพื่อการบริหารรถขนส่งที่มีประสิทธิภาพ และตรวจสอบความเร็วในการขับรถได้แบบเรีลไทม์ พร้อมแจ้งเตือนทันทีเมื่อความเร็วเกินกำหนด และกำลังร่วมกับเอสซีจีเคมิคอลส์พัฒนาระบบตรวจจับตาคนขับรถ ป้องกันการหลับใน  และ Service Excellence อบรมมารยาทในการขับรถสำหรับคนขับรถบรรทุกส่งสินค้า และมารยาทในการส่งสินค้าเพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง”

ทุ่มลงทุนพันล้านหวังรายได้เพิ่ม 300%

อย่างไรก็ดี นิธิ สรุปปิดท้ายถึงกลยุทธ์การทำตลาดภายในปี 2561 นี้ว่าเราได้เตรียมงบลงทุนในส่วนเอสซีจี โลจิสติกส์ฯไว้ที่ 1,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาธุรกิจในเครือโลจิสติกส์ โดยเฉพาะเอสซีจี เอ็กซ์เพรส ที่เป็นการบริการแบบบริษัทสู่ลูกค้า(B2C) คาดจะใช้เงินลงทุนกว่า  600  ล้านบาทเพื่อขยายจุดให้บริการให้ครบทั่วประเทศ ภายในครึ่งปีนี้จากปัจจุบันที่มีจุดบริการแล้ว 500 สาขากระจายตามหัวเมืองต่าง ๆ 40 จังหวัด

“แผนงานดังกล่าวจะส่งผลให้รายได้เติบโตแบบก้าวกระโดดเป็น 300% ในปี 61 จากปีก่อนที่มีรายได้ 50-60 ล้านบาท ขณะเดียวกันจะพัฒนาระบบไอที การจัดส่งที่จะอำนวยความสะกวดให้กับผู้ใช้บริการสามารถติดตามการขนส่งได้ทุกขั้นตอน พร้อมเร่งพัฒนาการให้บริการแบบบริษัทสู่บริษัท(B2B)โลจิสติกส์เพื่อตอบรับความต้องการของตลาดให้มากยิ่งขึ้น โดยในปีนี้จะใช้งบที่แบ่งจากการพัฒนาเอ็กซ์เพรส มาดำเนินการ โดยจะเน้นไปที่พัฒนาความเชื่อมโยงกับประเทศจีนผ่านโครงการ One Belt, One Road ที่จะเป็นเครื่องมือกระจายตลาดไปยังประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน และเตรียมตั้งบริษัทโลจิสติกส์ในประเทศเวียดนามเพื่อกระจายการให้บริการและเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันภายในสิ้นปีนี้ และมั่นใจภายใน 10 ปีข้างหน้าจะมีรายได้เติบโตขึ้นกว่า 10 เท่า

เมื่อในสนามมีผู้เล่นมากหน้าหลายตา เป็นธรรมดาที่การแข่งขันก็ต้องดุเดือด ผู้เล่นที่แข็งแกร่งเท่านั้นที่จะขึ้นแท่นคว้าชัยไปครอง เอสซีจี จัดได้ว่าเป็นยักษ์ใหญ่ที่มีความพร้อมในทุกมิติ การกระโดดลงสนามแข่งขันให้บริการขนส่งด่วนที่นับวันอุณหภูมิทะยานเดือดไม่หยุดเช่นนี้

เป็นการส่งสัญญาณให้คู่แข่งต้องคิดหนักจะต่อกรกับยักษ์ใหญ่อย่างเอสซีจีอย่างไร!?