การรถไฟฯยันให้ความสำคัญรับฟังความเห็นปชช. พร้อมปรับรูปแบบตามข้อกังวลคนในพื้นที่ ไฮสปีดเทรนกรุงเทพฯ-โคราช

0
0

การรถไฟฯ ยืนยันให้ความสำคัญการรับฟังความเห็นของประชาชน และพร้อมปรับรูปแบบตามข้อกังวลของคนในพื้นที่ โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ช่วงชุมทางบ้านภาชี–นครราชสีมา เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ชุมชนในระยะยาว

ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ระบุว่า โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ – นครราชสีมา ช่วงชุมทางบ้านภาชี – นครราชสีมา ละเมิดสิทธิมนุษยชน เนื่องจากขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่เขตอำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรีนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ขอชี้แจงว่า ที่ผ่านมาการรถไฟฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อข้อห่วงกังวลต่างๆ ของประชาชนแต่อย่างใด

การดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ – นครราชสีมา รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้จัดทำอย่างเป็นทางการ 2 ฉบับ ได้แก่ ฉบับแรกในปี 2556 ดำเนินการโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร่วมกับกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา MAA และฉบับที่สองในปี 2560 เป็นรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของโครงการ ซึ่งทั้งสองฉบับได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว

ส่วนประเด็นข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับรูปแบบการก่อสร้างแบบคันทางระดับดินที่อาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต ชุมชน และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อำเภอหนองแซงนั้น การรถไฟฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพิจารณาแนวทางการแก้ไขที่เหมาะสม โดยปรับรูปแบบการก่อสร้างบางส่วนเป็นสะพานช่องลอด ความยาวประมาณ 400 เมตร เพื่อเชื่อมต่อพื้นที่สองฝั่งชุมชน ลดผลกระทบด้านการสัญจร ทัศนียภาพ และการระบายน้ำ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดทำแบบรายละเอียดในการก่อสร้าง

สำหรับข้อสังเกตของ กสม. เกี่ยวกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำ EIA นั้น ยืนยันว่า การรถไฟฯ ให้ความสำคัญกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างต่อเนื่อง และพร้อมที่จะปรับปรุงและพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนให้ดีขึ้นในการพัฒนาโครงการอื่นๆ ให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล และแนวทางของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย

การรถไฟฯ ยืนยันว่า จะมุ่งมั่นพัฒนาโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางที่ทันสมัยเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ พร้อมรับฟังและทำงานร่วมกับประชาชนในทุกพื้นที่เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีที่ตรงกัน ลดผลกระทบ และสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนในระยะยาวต่อไป