สรท.ปรับคาดการณ์ส่งออกปี 61 โต 8% ภายใต้ความเสี่ยงสงครามการค้า

0
194

สรท.ปรับคาดการณ์ส่งออกปี 61 โต 8% ชี้ปัจจัยบวกจากคู่ค้าตลาดหลัก-รองขยายตัวต่อเนื่อง ไทยกระจายโครงสร้างตลาดส่งออกได้ดี ภาคการผลิตปรับตัวรองรับกระแส IOT ผนวกทิศทางราคาน้ำมันดีดตัวสูงสุด และธุรกิจe-Commerce บูม ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงสงครามการค้า

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่าการส่งออกเดือนมีนาคม 2561 มีมูลค่า22,363 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (มูลค่าสูงสุดในประวัติการณ์) ขยายตัว 7.1% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 697,074 ล้านบาท หดตัว 4.0% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ขณะที่การนำเข้าในเดือนมีนาคม 2561 มีมูลค่า 21,095 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 9.5%เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 666,326 ล้านบาท หดตัว 1.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน  ส่งผลให้เดือนมีนาคม 2561 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 1,268 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 30,748 ล้านบาท โดยภาพรวมในไตรมาสแรก ปี 2561ไทยส่งออกรวมมูลค่า 62,829 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 11.3%  คิดเป็นมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทที่ 1,993,291 ล้านบาทขยายตัว 0.5% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 60,873 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 16.2%  หรือคิดเป็นมูลค่า 1,957,201 ล้านบาท ขยายตัว 5.0%  ส่งผลให้ไตรมาสแรก ปี 2561 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 1,956 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 36,090 ล้านบาท

“สาเหตุจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของทั้งประเทศคู่ค้าหลักและรองมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยขยายตัวได้ตามเป้าในทุกตลาดสำคัญ ยกเว้นจีน ผนวกกับการหดตัวของรายได้จากการส่งออกในรูปของเงินบาท ซึ่งไม่สอดคล้องตามทิศทางการขยายตัวในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้รายได้ที่ได้กลับคืนมาในรูปเงินบาทยังมีความผันผวนและได้รับน้อยลงกว่าที่ควร ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันได้ในระยะยาว”

นอกจากนี้ นางสาวกัณญภัค ระบุอีกว่า สรท.ได้ปรับคาดการณ์มูลค่าการส่งออกไทยในปี 2561 เติบโตเท่ากับ 8% อันมีปัจจัยบวกจากคู่ค้าตลาดหล้ก-รองมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจดี ประเทศไทยมีการกระจายโครงสร้างตลาดการส่งออกได้ดี ภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถปรับตัวรองรับการผลิตเทคโนโลยีตามกระแส Internet of Things (IOT) ประกอบกับทิศทางราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 3 ปีหลังมีข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปก ส่งผลให้ราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและราคาสินค้าเกษตรกรรมมีแนวโน้มปรับขึ้น รวมถึงกระแสการผลักดันการพัฒนาธุรกิจ e-Commerce ของภาครัฐ เป็นการเพิ่มโอกาสและช่องทางการจำหน่ายสินค้า โดยล่าสุด รัฐบาลไทยมีความร่วมมือกับอาลีบาบากรุ๊ป เพื่อเปิดตลาดประเทศจีน ซึ่งเน้นที่สินค้าเกษตรกรรม โดยมี 2 โปรเจคแรก คือ ทุเรียน และ Thai Rice Flagship Store

ขณะที่อุปสรรคต่อการส่งออกไทยประกอบด้วย 1) สงครามการค้า (Trade War)ยังมีความไม่แน่นอน หลังสหรัฐฯ เจรจาให้จีนลดปริมาณการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ให้เหลือ 200,000 ล้านเหรียญฯภายในปี 2020 ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของการนำเข้า-ส่งออกของจีน ซึ่งต้องนำเข้าจากสหรัฐฯ มากขึ้นสวนทางกับต้องลดการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ไปยังตลาดอื่น เพื่อปรับดุลการค้า 2) สถานการณ์ความรุนแรงในซีเรีย แม้ว่าสถานการณ์จะได้คลี่คลายความรุนแรง และไม่บานปลายอย่างที่หลายฝ่ายได้คาดการณ์ไว้ จนนักลงทุนสามารถคลายความกังวลได้ในระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากในโซนตะวันออกกลางเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของน้ำมันดิบ ทำให้มีความเปราะบางต่อสถานการณ์ความรุนแรงสูง จึงต้องคอยติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งที่แท้จริงจะได้รับการแก้ไขและ 3) สถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรบางชนิด ไตรมาสแรกของปี 2561 สินค้าเกษตรและอาหาร ขยายตัวได้ดีทุกรายการ ยกเว้น ยาง และสับประรด ที่โดนกดดันจากสถาการณ์ราคาตกต่ำและเป็นการหดตัวในเกือบทุกตลาด, มันสำปะหลัง ที่ราคาดีแต่ขาดแคลนผลผลิต ในขณะที่น้ำตาล ที่ผลผลิตล้นตลาด และโดนปัจจัยกดดันจากการปรับขึ้นราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2559/2560