การรถไฟฯแจงปมร้อนประเคนที่ดินมักกะสันกว่า 150 ไร่ให้กับโครงการ EEC

0
97

การรถไฟฯออกโรงแจงประเด็น นายศรีสุวรรณ  จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษณ์รัฐธรรมนูญไทย
ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้มีการทบทวนและแก้ไขทีโออาร์ โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน เนื่องจากมีแนวโน้มส่อการทุจริตซึ่งขอชี้แจงในประเด็นต่าง ๆ นั้น

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ชี้แจงว่า ที่ดินบริเวณมักกะสัน ได้ดำเนินการในลักษณะที่ให้เอกชนเช่าพื้นที่ของการรถไฟฯ โดยมีการคิดค่าเช่าตามระเบียบของการรถไฟฯ และตามผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาเมื่อต้นปี 61 ซึ่งการรถไฟฯมีแผนงานที่จะดำเนินการในลักษณะนี้อยู่แล้ว แม้ว่าจะไม่มีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินที่ดินที่จะให้เอกชนเช่าดังกล่าว มีขนาดพื้นที่ประมาณ 150 ไร่ และให้เช่ารวมระยะเวลาในการก่อสร้างเป็นระยะเวลา 50 ปีเท่านั้น ไม่มีเงื่อนไขต่อหรือขยายระยะเวลาใน TOR และสัญญา โดยการรถไฟฯ จะมีค่าเช่าตลอดอายุสัญญา ประมาณ 51,000 ล้านบาท  หลังจากสัญญาเช่าหมด ทรัพย์สินที่เกิดจากการลงทุนทั้งหมดจะตกเป็นทรัพย์สินของการรถไฟฯ ในลักษณะเช่นเดียวกับ โครงการห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัล ลาดพร้าว ซึ่งสัญญาเช่ารอบแรกสิ้นสุดเมื่อปี 2551 ค่าเช่าปีสุดท้ายประมาณ 10 ล้านบาท ภายหลังจากทรัพย์สินจากสัญญาเช่าตกเป็นของการรถไฟฯ แล้ว โครงการมีมูลค่าผลตอบแทนตลอด 20 ปี ประมาณ 21,000 ล้านบาท  ซึ่งการประเมินมูลค่าที่ดินการรถไฟฯ ได้ให้ที่ปรึกษาที่มีวิชาชีพประเมินดำเนินการตามหลักการและวิธีการที่สากลยอมรับ โดยใช้ฐานข้อมูลที่ดินในตลาด ซึ่งมีทำเลใกล้เคียงกับที่ดินแปลงดังกล่าวในโครงการ

ส่วนที่มีความคิดเห็นว่ามีเจตนาที่จะยึดแอร์พอร์ตลิงก์ มูลค่าสี่หมื่นล้านบาทไปให้เอกชนในราคาเพียง 1.3 หมื่นล้านบาท ทำให้การรถไฟฯ ยังคงต้องแบกภาระหนี้จากการลงทุนต่อไปอีกเกือบ 30,000 ล้านบาทนั้น ปัจจุบันโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ มีหนี้ประมาณ 33,229 ล้านบาท และการดำเนินงานแอร์พอร์ตลิงก์ขาดทุนทุกปีประมาณ 300 ล้านบาท ถ้าปล่อยแบบนี้ต่อไป การรถไฟฯ จะเป็นหนี้สะสมเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากการดำเนินงาน โดยเอกชนคาดว่าจะไม่ขาดทุน และเอกชนมาบริหารจะให้บริการที่ดีขึ้น มีรายได้มากขึ้นกว่าที่โครงการเดิมดำเนินการอยู่ ใน TOR รัฐจึงให้เอกชนต้องจ่ายสิทธิการบริหารแอร์พอร์ตลิงก์ ให้การรถไฟฯ ไม่น้อยกว่า 10,671 ล้านบาท (คิดจากค่าเสียโอกาสรายได้ หากการถไฟฯ ดำเนินโครงการเอง) ประการสำคัญการขาดทุนของแอร์พอร์ตลิงก์ที่เป็นอยู่ ทำให้ไม่สามารถเพิ่มบริการให้เท่ากับความต้องการของประชาชนได้เต็มที่ ดังนั้น เอกชนที่เข้ามาบริหารต้องการเพิ่มการลงทุน และสอดคล้องกับความต้องการ และเพิ่มประสิทธิภาพการบริการต่อประชาชนได้อย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ได้ให้นโยบายไว้ว่า การประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการ PPP หลักใน EEC ต้องเป็นแบบเปิดกว้างแบบนานาชาติ หรือ International Bidding โดยรายละเอียดหลักการดังกล่าว ได้ผ่านการพิจารณาของ กพอ. ในการประชุมครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2561 และคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบเมื่อการประชุมวันที่ 22 พฤษภาคม 2561
ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูง ได้นำหลักการดังกล่าวประกอบการจัดทำเอกสารคัดเลือกเอกชน
และมีบริษัทเอกชนมาซื้อเอกสารจำนวน 7 บริษัทญี่ปุ่น จำนวน 4 บริษัท ฝรั่งเศส จำนวน 2 บริษัท มาเลเซีย จำนวน 2 บริษัท อิตาลี จำนวน 1 บริษัท และเกาหลีใต้ จำนวน 1 บริษัท แสดงว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ต้องการเปิดกว้างให้มีการแข่งขันแบบนานาชาติ เอกชนต่างประเทศมีความเชื่อถือว่า โครงการเป็นแบบเปิดกว้าง ไม่ล็อคสเปค