กทท. แจงผลการดำเนินงานประจำปีงบ’61 ตู้สินค้าผ่านท่ารวม 9.513 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้น 3.7%

0
98

ร้อยตำรวจตรี มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง รักษาการแทน ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งปรเทศไทย (กทท.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานให้บริการเรือ สินค้า และตู้สินค้า ผ่านท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน (ทชส.) ท่าเรือเชียงของ (ทชข.) และท่าเรือระนอง (ทรน.) ประจำปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม 2560 – กันยายน 2561) โดยเปรียบเทียบกับปีก่อน สรุปดังนี้

ทกท.    เรือเทียบท่า 3,243 เที่ยว เพิ่มขึ้น 9.413 % สินค้าผ่านท่า 22.077 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 5.891 % ตู้สินค้าผ่านท่า 1.497 ล้าน ที.อี.ยู. ลดลง 0.032 %

ทลฉ.    เรือเทียบท่า 11,610 เที่ยว ลดลง 1.818 % สินค้าผ่านท่า 86.490 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3.100 % ตู้สินค้าผ่านท่า 8.016 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้น 4.410 %

ทชส.   เรือเทียบท่า 3,614 เที่ยว เพิ่มขึ้น 24.321 %  สินค้าผ่านท่า 254,724 ตัน เพิ่มขึ้น 28.528 %

ทชข.   เรือเทียบท่า 1,083 เที่ยว เพิ่มขึ้น 60.207 %  สินค้าผ่านท่า 71,468 ตัน ลดลง 8.895 %

ทรน.   เรือเทียบท่า 288 เที่ยว เพิ่มขึ้น 19.008 %  สินค้าผ่านท่า 89,919 ตัน เพิ่มขึ้น 34.991 %

 

เศรษฐกิจโลกครึ่งปีแรกของปี 2561 มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันในทุกภูมิภาค เกิดจากภาวะการค้าโลกที่ดีต่อเนื่อง การบริโภคภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง และการส่งออก ในภูมิภาคต่างๆ ถือเป็นแรงสนับสนุนที่ทำให้เศรษฐกิจในหลายภูมิภาคทั่วโลกเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีแม้เศรษฐกิจโลกโดยรวมจะเติบโตต่อเนื่องอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ยังมีปัจจัยที่ต้องจับตาดูในช่วงครึ่งปีหลังที่อาจจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกในภาพรวมลดลง ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ราคาน้ำมันที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้น ความคืบหน้าการดำเนินนโยบายการคลังของสหรัฐฯ เสถียรภาพทางการเมืองในเขตยูโรโซน การเริ่มชะลอตัวและภาวะหนี้ในระบบเศรษฐกิจของจีน รวมถึงความขัดแย้งในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง

สำหรับเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2561 ในช่วงครึ่งปีแรกยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ GDP ขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้น การบริโภค รวมถึงการลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดเม็ดเงินที่ไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงอัตราค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงส่งผลให้การส่งออกขยายตัวมากขึ้น สอดคล้องกับผลการดำเนินงานของ กทท. (ทกท. และ ทลฉ.) ที่เติบโตสูงขึ้นทั้งปริมาณสินค้าผ่านท่าและตู้สินค้า โดยในปีงบประมาณ 2561 กทท. มีตู้สินค้าผ่านท่าทั้งสิ้น 9.513 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.685 และปริมาณสินค้าผ่านท่า 108.567 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.656 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจโลกในปี 2562 และ 2563 ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่คาดว่า จะเกิดขึ้นตามการคาดการณ์ของ IMF อาทิ การขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางสหรัฐฯ ราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งปัจจัยต่างๆ ภายนอกประเทศเหล่านี้อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยในภาพรวมที่จะมีอัตราการเติบโตที่ลดลง