WICE มั่นใจธุรกิจโค้งสุดท้ายปี61 การันตีฟันรายได้1.8 พันล้าน

0
140

WICE มั่นใจธุรกิจโค้งสุดท้ายปี61 “ดี” ต่อเนื่อง แม้อยู่ท่ามกลางสงครามการค้า การันตีฟันรายได้โตไม่ต่ำกว่า 30% คว้างานลูกค้าจีนรายใหม่มูลค่ารวม 40 ล้านบาท ขยายไซส์คลังสินค้ารองรับงานเพิ่ม เดินหน้าลุยงานขนส่งข้ามพรมแดน เผยกลยุทธ์ขยายบริการโลจิสติกส์ในนอกประเทศ เปิดโรดแมพ 3 ปี กวาดรายได้แตะ 3,300 ล้านบาท ทะยานขึ้นแท่นผู้นำโลจิสติกส์ภูมิภาคเอเชีย

นายชูเดช คงสุนทร  กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน)(WICE)ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศแบบครบวงจร เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจในช่วงไตรมาส4/61 เป็นไปในทิศทาง ที่ดีอย่างต่อเนื่อง แม้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับปัญหาสงครามการค้า แต่ WICE ในประเทศต่างๆ มีปริมาณการให้บริการกับลูกค้าเพิ่มขึ้น เชื่อมั่นว่าผลการดำเนินงานปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยรายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 30% อยู่ที่ประมาณ 1,800 ล้านบาท ทำสถิติสูงสุดในรอบ 25 ปี            

ทั้งนี้ บริษัทได้เซ็นสัญญารับงานจากผู้ผลิตแผงโซล่าเซลล์รายใหม่ของประเทศจีน เพื่อให้บริการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจร เป็นระยะเวลา 1 ปี คิดเป็นมูลค่าการให้บริการอยู่ที่ 40 ล้านบาท ทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ไตรมาส 4/61 เป็นต้นไป การรับงานลูกค้ารายใหม่ดังกล่าวส่งผลให้บริษัทต้องขยายพื้นที่คลังสินค้าแห่งใหม่พื้นที่ 17,600 ตารางเมตร ที่ อ.แหลมฉบัง จ.ชลบุรี เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น ลดต้นทุนในการบริหารจัดการ  บริษัทจึงได้มีการรวมคลังสินค้าที่มีอยู่เดิม 5,000 ตารางเมตร / 8,000 ตารางเมตร ไว้เป็นแห่งเดียวกันและยังสามารถมีพื้นที่เหลือสำหรับการให้บริการลูกค้าใหม่ในอนาคต

นอกจากนี้ยังสามารถถ่ายโอนงานโลจิสติกส์จากซัพพลายเออร์เดิมในประเทศจีนให้กับ WICE กวางโจว และเซี่ยงไฮ้ได้มากขึ้น คิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 70% ของปริมาณงานทั้งหมดที่เคยใช้บริการจากซัพพลายเออร์เดิม ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทเกิดการรับรู้รายได้เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน  

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจต่อจากนี้ บริษัทยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจในส่วนของการให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ งานบริการขนส่งในประเทศ งานด้านการขนส่งข้ามชายแดน )Cross border) ตามเส้นทาง One Belt One Road ของจีน และงานบริหารคลังสินค้าเพิ่ม พร้อมขยายฐานลูกค้าในส่วนของการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศแบบ Door-to-Door ควบคู่กับโปรโมทงานบริการทุกประเภท โดยดำเนินงานร่วมกันกับบริษัทเครือข่าย  ทั้ง WICE Logistics (Hong Kong) Ltd. , WICE Logistics (Singapore) Ltd. และบริษัทร่วมทุน EUROASIA TOTAL LOGISTICS CO., LTD. (ETL) เพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่ร่วมกัน

ด้านความคืบหน้าภายหลังการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน ETL เพื่อให้บริการขนส่งข้ามพรมแดน (Cross-Border Transport Services) ระหว่างประเทศจีน ฮ่องกง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามเส้นทาง One Belt One Road ของจีน ปัจจุบันได้รับมอบตู้คอนเทรนเนอร์แบบสั่งทำพิเศษทั้งตู้สำหรับแช่เย็น และตู้แบบแห้งแล้วจำนวน 150 ตู้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับรองรับงานขนส่งข้ามชายแดนที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น

“ตอนนี้ WICE เดินหน้าวางแผนงานร่วมกันให้ WICE Logistics (Hong Kong) Ltd.และWICE Logistics (Singapore) Ltd.ทำงานเชื่อมโยงกับ ETL ให้ขนส่งตามเส้นทางผ่านระหว่างประเทศไทย ไปมาเลเซีย ผ่านเวียดนาม ขึ้นไปจีน และด้านเส้นทางมาเลเซีย ผ่านสิงคโปร์ขึ้นไปจีน ซึ่งเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางการค้าสำคัญที่มีตลาดใหญ่มาก และมีผู้เล่นที่ให้บริการแบบครบวงจรอย่าง WICE ไม่มาก เราจึงมองว่านี่เป็นโอกาสที่เราจะเข้าไปในตลาดนี้”นายชูเดช กล่าว

นายชูเดช กล่าวต่อไปว่า บริษัทเดินหน้าพัฒนาเส้นทางและระบบการเชื่อมโยงเครือข่ายโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสงครามการค้าจะเป็นตัวแปรสำคัญของการเดินหน้าธุรกิจ ทั้งนี้บริษัทได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ 3  ปี (2562-2564) ตั้งเป้าหมายการเติบโตเฉลี่ยของรายได้ไว้ไม่ต่ำกว่า 30% อัตรากำไรสุทธิ 7% โดยคาดว่าในปี 2564 บริษัทจะมีรายได้รวมอยู่ที่ 3,300 ล้านบาท และก้าวสู่การเป็นผู้นำการให้บริการด้านโลจิสติกส์ในระดับภูมิภาคเอเชีย ที่มีบริการครบวงจรสามารถให้บริการได้ครอบคลุมพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางการค้าที่สำคัญ โดยมุ่งเน้นการสร้างโครงข่ายพันธมิตรในธุรกิจขนส่งอย่างต่อเนื่องในอนาคต

ส่วนภาพรวมธุรกิจด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศคาดว่ายังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แม้ปัญหาสงครามการค้ายังไม่คลี่คลาย แต่เชื่อว่าการเติบโตทางการค้า-การลงทุน ทั้งในส่วนของภาคการผลิตเดิม การย้ายฐานการผลิต และอีคอมเมิร์ซ จะเข้าสู่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งประเทศไทยยังมีการดำเนินโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economics Corridor ) หรือ EEC พัฒนาเมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่บนพื้นที่ภาคตะวันออกภายในระยะเวลา 5 ปี (2560-2564) ที่คาดว่าจะดึงดูดการลงทุนเข้ามาอีกมากในอนาคต ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตดังกล่าวจะส่งผลให้ความต้องการบริการขนส่งเพื่อนำเข้าและส่งออก ตลอดจนการใช้งานพื้นที่คลังสินค้ามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ทุกประเภท