ภารกิจสุดท้าทาย!“เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร”ผอ.กทท.กับเป้าหมาย‘มาตรฐานท่าเรือชั้นนำโลก’

0
343

เข้าสู่ยุคการแข่งขันธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วตามวงล้อการเปลี่ยนเศรษฐกิจโลก เทรนด์เทคโนโลยีโลก และพลังพฤติกรรมผู้บริโภค ทุกองค์กรจำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้ทันทุกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจและสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันในเวทีการค้าทั้งในและต่างประเทศ นำพาองค์กรพุ่งชนการเติบโตอย่างยั่งยืน

การท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.)รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม ที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนธุรกิจของประเทศด้านศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางน้ำและโลจิสติกส์ เชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่อาเซียนและโลก สำแดงภารกิจรองรับ “ภาคธุรกิจส่งออกไทย”อีกหนึ่งในเครื่องยนต์หลักทางธุรกิจที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตต่อเนื่องทุกปี

ทว่า ภายหลังกทท.ได้ว่างเว้นตำแหน่งผอ.การท่าเรือฯมาตั้งแต่ 13 มิ.ย.60 หลังร.อ.สุทธินันท์ หัตถวงษ์ ได้ลาออกจากตำแหน่งและบอร์ดได้แต่งตั้ง ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผอ.ท่าเรือแหลมฉบังรักษาการในตำแหน่งผอ.กทท.แทน จนกระทั่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร เป็นผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)คนใหม่ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562

กับห้วงเวลากว่าขวบปีที่กทท.ได้ว่างเว้นหัวเรือใหญ่กับการนำพาองค์กรที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนธุรกิจของประเทศด้านการขนส่งสินค้าทางน้ำและโลจิสติกส์ เชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่เวทีการค้าโลก จากนี้ไปจึงน่าจับตาเป็นพิเศษถึงวิสัยทัศน์หัวเรือใหญ่กทท. “เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร” จะรับไม้ต่อหรือผลักดันองค์กรไปในทิศทางไหนอย่างไรบ้าง?

เป้าหมายมีไว้พุ่งชน “มาตรฐานท่าเรือชั้นนำระดับโลก

“การท่าเรือฯได้จัดแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานเป็นไปตามแนวทางการดำเนินงานการท่าเรือรูปแบบใหม่ตามนโยบายรัฐบาล  ที่มุ่งสู่ท่าเรือทันสมัยสะดวกรวดเร็ว รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกและของประเทศ ด้วยการพัฒนาระบบริหารจัดการท่าเรือให้มีมาตรฐานระดับโลก และเป็นกลไกขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ สามารถเชื่อมโยงโครงข่ายขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ”

ปรารภแรกที่ผอ.กทท. “เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร”ได้เกริ่นวิสัยทัศน์ในฐานะหัวเรือใหญ่ของการท่าเรือฯกับ Logistics Time  และระบุต่อว่าการพัฒนาท่าเรือฯให้มีมาตรฐานเทียบเท่าท่าเรือชั้นนำระดับโลก เป็นการยกระดับเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของการท่าเรือฯและประเทศโดยรวม ได้กำหนดแนวทางในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขององค์กร การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการบริหารงานบริการ  และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

“อีกทั้งยังสร้างมูลค่าเพิ่มในการใช้ประโยชน์สินทรัพย์เชิงธุรกิจ และยกระดับการให้บริการและการพัฒนาองค์กรให้มีสมรรถนะ สร้างความมั่นใจได้ว่าการท่าเรือฯจะสามารถนำพาองค์กรไปสู่มาตรฐานชั้นนำ ภายใต้วิสัยทัศน์ที่ว่า “มุ่งสู่มาตรฐานท่าเรือชั้นนำระดับโลก ด้วยการให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในปี 2573”และค่านิยมที่ว่ายึดมั่นธรรมาภิบาล บริการด้วยใจ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม พร้อมร่วมมือเพื่อองค์กร

นอกจากนี้ ผอ.กทท.ยังระบุอีกว่าการท่าเรือฯเป็นประตูเศรษฐกิจทางน้ำที่สำคัญเพื่อนำเข้า-ส่งออกสินค้าไปสู่ภูมิภาคต่างๆทั่วโลก ดังนั้น ในการขับเคลื่อนประตูเศรษฐกิจนี้ให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างแข็งแกร่ง และทำอย่างไรการท่าเรือฯจะมีส่วนส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น และได้มาซึ่งมาตรฐานความเป็นท่าเรือระดับโลก

“อีกทั้งทำอย่างไรจะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของประเทศได้ ก็จะเป็นการสะท้อนในภาพรวมออกมา เราจึงจำเป็นต้องกำหนดหาเกณฑ์และมาตรฐานที่สำคัญอันจะนำมาสู่การปฏิบัติในท่าเรือให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนสำคัญก็การนำเอาเทคโนโลยีต่างๆมาใช้ในการบริหารจัดการสอดรับนโยบาย Thailand 4.0”

นำร่องเรืออัจฉริยะนำระบบ Truck Queuing แก้จราจร ทลฉ.

เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร  ได้ไล่เรียงการพัฒนาใน 5 ท่าเรือภายใต้การกำกับดูแลของการท่าเรือฯว่าที่ผ่านมาการท่าเรือฯได้พัฒนาทุกท่าเรือตามความเหมาะสมในแต่ละท่าเรือ เริ่มที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยที่ผ่านมาเราได้ปรับปรุงกายภาพของทางเข้าท่าเรือแหลมฉบัง รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อให้เกิดความสะดวกและแก้ปัญหาการจราจรบนโครงข่ายถนนโดยรอบและภายในเขตท่าเรือ เนื่องจากมีปริมาณรถบรรทุกเข้าสู่ท่าเรือจำนวนมากโดยเฉพาะวันปลายสัปดาห์เนื่องจากเรือจะออกจากท่า ทำให้เกิดการจราจรติดขัดที่มอเตอร์เวย์

“เพื่อช่วยส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งอัจฉริยะ และการบริการของทลฉ.ในด้านการขนส่งให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้ประสบความสำเร็จ โดย กทท.ได้ผลักดันนโยบายการบริหารจัดการใช้งานจองคิวรถบรรทุกระบบ Truck Queuing อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งปัจจุบันระบบเสร็จเรียบร้อยและเปิดทดลองใช้งานได้ 3 เดือนแล้ว ระยะต่อไปจะออกประกาศเป็นข้อบังคับของทลฉ.ซึ่งได้ผ่านบอร์ดเป็นที่เรียบร้อย คาดจะออกเป็นระเบียบข้อบังคับใช้กับผู้ประกอบการได้ภายในปี 62 นี้”

นอกจากนี้ เรายังมีพัฒนาโครงการ SRTO คือการขนส่งตู้ทางรางรถไฟ ซึ่งตอนนี้มีปริมาณขนส่ง 2 ล้านทีอียู/ปี ต่อไปนี้เมื่อได้ทำข้อตกลงกับการรถไฟฯแล้วก็จะช่วยศักยภาพการขนส่งเพิ่มได้อีก 30 % หรือประมาณ 3.5 แสนตู้/ปี และตอนนี้รถไฟฯก็ได้เพิ่มขบวนรถไฟจากเดิม 6 เป็น 16 ขบวน/วัน ซึ่งการใช้ระบบ SRTO ก็จะทำให้ข้อมูลระหว่างท่าเรือฯ กับไอซีดีลาดกระบังเชื่อมโยงกันและสามารถจัดระบบการขนส่งตู้สินค้ามายังท่าเรือเพื่อขนลงเรือได้แบบไร้รอยต่อ

ยันประมูลแหลมฉบังเฟส3ทุกอย่างโปร่งใส

ส่วนความคืบหน้าของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 นั้น ผอ.กทท.ในฐานะประธานกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ เปิดเผยว่าการประมูลคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 มูลค่า 84,000 ล้านบาท ได้เริ่มเปิดซองที่ 4 ข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอบแทนของกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC แล้ว แต่ยังไม่สามารถเริ่มกระบวนการเจรจาได้ เนื่องจากยังคงต้องรอฝ่ายกฎหมายอีอีซี

“สรุปว่าจะยืนตามแนวทางของคณะกรรมการคัดเลือกฯ หรือไม่ หลังกลุ่มกิจการร่วมค้า NCP ซึ่งเป็นเอกชนอีกรายที่ไม่ผ่านคุณสมบัติยื่นอุทธรณ์ภายหลังถูกปัดตก เนื่องจากยื่นเอกสารไม่ครบถ้วน ส่วนประเด็นที่มีกระแสข่าวว่า NPC เสนอผลตอบแทนให้มากกว่า GPC ที่เหลือรายเดียว ขอยันยันไม่เป็นความจริเพราะตามระเบียบประมูลไม่สามารถเปิดซองที่ 4 เรื่องข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติตั้งแต่ซองที่ 2 ยืนยันว่ากระบวนการประมูลเป็นไปอย่างโปร่งใส เนื่องจากทำตามขั้นตอนการประมูล และมีผู้แทนองค์กรต่อต้านคอรัปชั่นร่วมสังเกตการณ์กับคณะกรรมการคัดเลือกฯ ทุกครั้ง”

เรือโท กมลศักดิ์ ย้ำว่าขั้นต่อไปฝ่ายกฎหมายอีอีซีจะมีการพิจารณาเพื่อสรุปแนวทางดำเนินการต่อหรือไม่หากยืนตามแนวทางของคณะกรรมการคัดเลือกฯและผลของการอุทธรณ์เป็นที่สุดแล้วจึงจะเข้าสู่กระบวนการเจรจาร่วมกับ GPC ส่วนการลงนานเซ็นสัญญานั้นหากทุกอย่างดำเนินการไปได้ด้วยดีถึงขั้นการเจรจาเสร็จเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด EEC ว่ารับไม่รับถ้ารับก็เสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อทราบ คาดจะจบภายในเดือนต.ค.62นี้  

ปรับปรุงพื้นถนนในพื้นที่ ทกท.สร้างความปลอดภัย-สะดวกขนส่งสินค้า

ส่วนการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพนั้น(ทกท.)นั้น ผอ.กทท.กล่าวว่าการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เราพึ่งได้ดำเนินการปรับปรุงพื้นถนนในพื้นที่ ทกท. เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการให้เกิดความคล่องตัวในการขนส่งสินค้า ลดความแออัดของการจราจรที่ติดขัดในเส้นทางขาออก สร้างความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน อีกทั้งลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง และลดการเกิดฝุ่นละอองภายในท่าเรือ

“สำหรับพื้นที่ที่ดำเนินการปรับปรุง คือ ถนนสาย 2 และสาย 4 สำหรับพื้นที่ถนนสาย 2 เป็นการปรับปรุงถนน 1 เลนจาก 2 เลน ระยะทาง 593 เมตร ต่อจากพื้นถนนเดิมที่ปรับปรุงในปี 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งได้ดำเนินการปรับปรุงเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ระยะทาง 530 เมตรเป็นเลนขาออกไปเรียบร้อยแล้ว และในปี 2562 นี้เป็นการปรับปรุงถนนเลนขาออกต่อเนื่องจากของเดิม โดยปรับปรุงจากคลังสินค้ารถยนต์ ถึงทางแยกโรงพักสินค้า 3 (แผนกปั้นจั่น)”

เนื่องจากเส้นทางถนนสาย 2 ดังกล่าว เป็นเส้นทางสัญจรหลักของรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถบรรทุกขาออกที่ต้องวิ่งผ่านออกตลอดเวลา โดยจะขุดลอกเอาพื้นลาดยางแอสฟัลท์ (Asphalt) หรือยางมะตอยเดิมออกก่อน และทำเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก เพิ่มความแข็งแรง ทนทาน ใช้งานได้นานกว่า รับน้ำหนักรถบรรทุกได้เป็นอย่างดี และถนนสาย 4 เป็นการปรับปรุงถนนทั้ง 2 เลน คาดว่าเมื่อแล้วเสร็จจะเพิ่มความสะดวก คล่องตัว ลดการติดขัดสะสมของรถบรรทุกสินค้า เกิดความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน และช่วยลดอุบัติเหตุได้เป็นอย่างดี

ปั้นท่าเรือระนองเชื่อมการค้าเอเชียใต้

ส่วนความคืบหน้าการพัฒนาท่าเรือระนองนั้น เรือโท กมลศักดิ์ ระบุว่าตามเป้าหมายเราที่วางไว้ให้ : “เป็นประตูการขนส่งหลักทางฝั่งทะเลอันดามันที่ได้มาตรฐาน” โดยเวลานี้ กทท.กำลังเตรียมจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาแผนการพัฒนาการเดินเรือขนส่งสินค้าจากท่าเรือระนองเชื่อมโยงไปยังประเทศในกลุ่มประเทศบิมสเทค (BIMSTEC) ซึ่งมีสมาชิก 7 ประเทศ คือ บังกลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย พม่า เนปาล ภูฎาน และไทย

“เบื้องต้นได้คัดเลือกท่าเรือที่มีความเหมาะสมจำนวน 3 แห่งในการศึกษาเดินเรือเชื่อมกับท่าเรือระนอง ได้แก่ท่าเรือกฤษณาปัทนัม ประเทศอินเดีย พร้อมลงนาม MOU 15 ส.ค.62,ท่าเรือฮัมบันโตตา ประเทศศรีลังกา ลงนาม MOU 21 ส.ค.62,ท่าเรือจิตตะกอง ประเทศบังกลาเทศ ลงนาม MOU 27 ส.ค.62 และท่าเรือวิสาขปัทนัม ประเทศอินเดียกำลังอยู่ระหว่างการนัดหมาย คาดจะใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปี หรือภายในปี 2563 จึงจะสามารถเปิดเดินเรือเชื่อมกันได้”

ผอ.กทท.ยังเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน/ท่าเรือเชียงของว่าตามพื้นที่ตั้งในเชิงยุทธศาสตร์เราต้องการให้ “เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่ได้มาตรฐาน” โดยท่าเรือเชียงแสนเป็นท่าเทียบเรือสนับสนุนการขนส่งทางน้ำในอนุภูมิภาคกลุ่มแม่น้ำโขง คู่ค้าหลักก็คือจีนตอนใต้ที่ผ่านสายน้ำนั้นมาก็จะรวมถึงพม่า และสปป.ลาวด้วย

“ปัจจุบันเกิดนวัตกรรมขนส่งที่เกิดจากความมุ่งเน้นด้วยการการขนส่งสินค้าผ่านสายน้ำมาด้วยระบบตู้คอนเทนเนอร์ปัจจุบันก็มีเรือคอนเทอร์เริ่มวิ่งแล้ว นอกจากนี้ ยังเกิดความความร่วมมือในหลายๆด้านในรูปแบบการบันทึกความร่วมมือกับกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง ซึ่งก็ต้องมีการพัฒนากันไปตามความเหมาะสมและความโดดเด่นของทำเลที่ตั้ง”

เตรียมเข้าบริหารท่าเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่
อย่างไรก็ดี เรือโท กมลศักดิ์ ปิดท้ายถึงการเตรียมเข้าบริหารท่าเรือเอเนกประสงค์คลองใหญ่ จ.ตราดว่าท่าเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ จังหวัดตราด เป็นท่าเรือที่กระทรวงคมนาคมวางยุทธศาสตร์ เพื่อพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำชายฝั่งทะเลในภาคตะวันออก เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านรองรับสินค้าระหว่าง ไทย กัมพูชาและเวียดนามตอนใต้ ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2559 ขณะนี้ กทท. อยู่ระหว่างเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติการเข้าบริหารและประกอบการตามแผนฯ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในเดือนตุลาคม 2562

“เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของรัฐที่ต้องการใช้ประโยชน์สูงสุดจากโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่และมติคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา ให้ กทท. เป็นผู้บริหารท่าเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ จังหวัดตราด”

นอกจากนี้ กทท.ในฐานะหน่วยงานรัฐที่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการท่าเรือ และต้องดำเนินการภายใต้นโยบายรัฐบาล จึงได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและการเตรียมความพร้อมในการเข้าบริหาร พร้อมทั้งจัดทำแนวทางการขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมธนารักษ์ กรมเจ้าท่า กรมศุลกากร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สำคัญที่ช่วยสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการเดินเรือและขนส่งสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แม้ “เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร” จะก้าวขึ้นมาเป็นหัวเรือใหญ่ในฐานะผอ.กทท.คนปัจจุบันคนที่ 18 ในทำเนียบผอ.กทท. และได้ชื่อว่าเป็นลูกหม้อการท่าเรือฯมาแล้ว 33 ปีก็ตาม

 แต่บทบาทหน้าที่กับการขับเคลื่อนองค์กรพุ่งชนเป้าหมาย มาตรฐานท่าเรือชั้นนำระดับโลกด้วยการให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ ถือเป็นภารกิจสุดท้าทาย!