ส่งออกทรุด!พิษเทรดวอร์-ค่าเงินกระแทกซ้ำ วอนรัฐเหลียวแล

0
155

แม้สงครามการค้าระหว่าง 2 มหาอำนาจโลก “สหรัฐฯ-จีน”ที่เปิดศึกสู้รบหมัดต่อหมัดอย่างหนักหน่วงกินเวลาร่วมขวบปีจะเข้าสู่โหมดยอม “หย่าศึกชั่วคราว” แต่ทว่า ยังอยู่ภายใต้ข้อตกลงที่ต่างฝ่ายต่างหยิบยื่นให้กัน และไม่มีใครการันตีได้ว่า “เทรดวอร์” 2 มหาอำนาจโลกจะปะทุขึ้นอีกเมื่อใด

ยากที่ปฏิเสธท่ามกลางสมรภูมิสงครามการค้า “จีน-สหรัฐฯ”ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วทุกมุมโลก ประเทศไทยก็ไม่ได้รับข้อยกเว้นโดยเฉพาะภาคการส่งออกอีกเครื่องยนต์สำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยรับผลกระทบไปเต็มเปา

ประจักษ์ชัดกับรายงานภาพรวมส่งออกไทยช่วงเดือนม.ค.- พ.ค. ปี 62 โดยสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)พบว่ามีมูลค่ารวม 101,561 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหดตัว-2.7%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สอดคล้องกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.)รายงานตู้สินค้าผ่าน 5 ท่าเรือในรอบ 7 เดือน(ต.ค.61-เม.ย.62)มีสถิติลดลงอย่างเห็นได้ชัด เป็นกระจกบานใหญ่สะท้อนชัดพิษสงครามาการค้าพ่นพิษฉุดขนส่งทางเรือลดวูบ

5 ปัจจัยบวกแสงสุดท้ายปลายอุโมงค์

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) สะท้อนมุมมองถึงภาพรวมการส่งออกไทยหลังผ่านมาเกือบครึ่งทางว่าสรท.ได้ปรับคาดการณ์การส่งออกปี62 โต-1 – 0%โดยมี 5 ปัจจัยบวกสำคัญอย่างแรกไทยในฐานะประธานอาเซียนสนับสนุนกรอบกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP แล้วเสร็จภายในปี 2562 ต่อมาภาคการส่งออกไทยยังขยายตัวได้ดีในหลายตลาด โดยเฉพาะตลาดอินเดียและตลาดดาวรุ่ง เช่น แคนาดา รัสเซียและซีไอเอส

“ปัจจัยที่สามคือผลการตัดสิน WTO กรณีจีนผิดข้อตกลง WTO ในการจัดสรรโควตาสินค้าเกษตรจำพวกข้าวและข้าวโพดตามที่สหรัฐฯได้ทำการฟ้องร้อง อาจเป็นโอกาสประเทศไทยในการส่งออกข้าวไปยังประเทศจีนเพิ่มขึ้น ปัจจัยที่สี่คือกระทรวงพาณิชย์มีนโยบายในการจัดสรรงบประมาณสำหรับช่วยเหลือผู้ผลิตที่ได้รับผลกระทบการเปิดเสรีทางการค้า (กองทุน FTA กระทรวงพาณิชย์) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการ และสุดท้ายสหรัฐฯ ยืนยันไม่ขึ้นภาษีส่วนที่เหลืออีก3.25 แสนล้านเหรียญสหรัฐจากจีน และส่งสัญญาณกลับมาสู่การเจรจากันอีกครั้งทำให้บรรยากาศการค้าโลกดีขึ้น”

5 ปัจจัยเสี่ยงซ้ำเติมส่งออก

อย่างไรก็ตาม ประธานสรท.ยังสะท้อนถึง 5 ปัจจัยเสี่ยงอีกว่าอย่างแรกเป็นความผันผวนค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมากว่าร้อยละ 4.4(YTD) และร้อยละ 7 (Y-o-Y) ซึ่งไม่สอดคล้องสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน และความไม่ชัดเจนในการดำเนินนโยบายเพื่อจัดการอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทยและภาครัฐ

“อย่างที่สองถือว่าหนักและมีผลกระทบทั่วโลกคือสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีนที่ส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะตลาดจีนที่เป็นตลาดซัพพลายสินค้าหลายรายการของไทยปรับลดการนำเข้าอย่างเห็นได้ชัด ต่อมาเป็นปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่มีความผันผวนจากมาตรการการคว่ำบาตรของสหรัฐต่ออิหร่านมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ถัดมาเป็นปัจจัยด้านสินค้าโภคภัณฑ์ ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท และสุดท้ายคือปัจจัยด้านโครงสร้าง ได้แก่ เทคโนโลยีล้าสมัยในอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งอาจไม่สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน ทำให้นักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีความพร้อมในด้านปัจจัยโครงสร้างมากกว่า เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม เป็นต้น”

แนะรัฐดูแลค่าเงินบาทคงเสถียรภาพ

ถึงกระนั้น นางสาวกัณญภัค ยังได้เสนอแนภาครัฐว่าอย่างแรกอยากเสนอภาครัฐต้องกำกับดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่ให้แข็งค่าสูงกว่าคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญ โดยการใช้มาตรการปกป้องค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น 1)การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย2)มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทที่ผิดปกติ เช่น สนับสนุนให้นักลงทุนในประเทศออกไปลงทุนในต่างประเทศซึ่งนอกจากจะเป็นการสนับสนุนให้ธุรกิจและนักลงทุนไทยขยายกิจการและเครือข่ายการลงทุนไปยังต่างประเทศแล้วยังเป็นการใช้ประโยชน์จากค่าเงินบาทที่แข็งค่า แต่ต้องระมัดระวังเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี

“ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการส่งออก โดยเฉพาะ SMEs ต้องบริหารจัดการค่าเงินไม่ให้มีความผันผวนขึ้นลงมากเกินไป จนกระทบถึงต้นทุนการส่งออกโดยการพิจารณาใช้เครื่องมือทางการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการเครื่องมือประกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนจากปัจจัยของการแข็งค่าของเงินบาทที่ไม่อาจคาดการณ์ได้มารองรับ อาทิ1)บริการบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ หรือ Foreign Currency Deposit:FCD 2)การใช้เงินสกุลท้องถิ่น (Local Currency) เพื่อลดต้นทุนทางการเงินและความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 3)การประกันค่าเงิน Fx-Option หรือ สัญญา Fx-Forward ประกันความเสี่ยง เป็นต้น”

แนะกทท.ยกเลิกค่าภาระเรือชายฝั่งทลฉ.-ยกเว้นค่า Cargo Dues

ประธานสรท. ระบุอีกว่าขอให้รัฐบาลใหม่เร่งสนับสนุนภาคการค้าระหว่างประเทศ ในด้านต่างๆ โดยเร็ว ดังนี้ 1)สนับสนุนการเจรจาความตกลงการค้าเสรี FTA ให้ได้มากที่สุด เช่น FTA ไทย-อียู ไทย-ปากีสถาน RCEP และ CPTPP เป็นต้น และการเปิดตลาดใหม่หรือตลาดทดแทน (Market diversification) ไม่แน่นอนของสงครามทางการค้า2)ปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบทางการค้าที่ยังคงเป็นอุปสรรค เพื่อช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการในช่วงสภาพเศรษฐกิจที่มีความผันผวนสูงจากปัจจัยภายในและภายนอก3)ส่งเสริมการพัฒนาปัจจัยการผลิตที่สำคัญสำหรับการค้าและการลงทุน4)พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและยกระดับประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ โดยเฉพาะ

“อีกทั้งยังต้องพิจารณาถึงลดต้นทุนการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ชายฝั่งและลำน้ำภายในประเทศ โดยให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยพิจารณายกเลิกประกาศการท่าเรือแห่งประเทศไทย เรื่อง “กำหนดอัตราค่าภาระของเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ของท่าเรือแหลมฉบัง” ซึ่งได้ยกเลิกส่วนลด 50% สำหรับค่ายกขนสินค้าของเรือชายฝั่ง โดยมีผลตั้งแต่ 1 ก.พ. 2562ที่ผ่านมา”

อย่างไรก็ดี นางสาวกัณญภัค สรุปปิดท้ายว่าที่สำคัญอีกประการหนึ่งขอให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยพิจารณายกเว้นค่า Cargo Dues สำหรับกรณีของเรือขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ที่ขนส่งด้วยเรือ Barge จากท่าเรือแหลมฉบัง ผ่านร่องน้ำสันดอนเจ้าพระยา และเร่งแก้ไขปัญหาการตรวจจับรถหัวลากตู้คอนเทนเนอร์ชนิด High Cube ซึ่งมีความสูงเกินกว่า 4.2 เมตร เนื่องจากเป็นตู้สินค้าที่ใช้กันตามปกติสำหรับการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศ