ระวัง! ค่าโง่ระลอกใหม่

0
84

หลังจาก นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมคนใหม่ ออกมาจุดพลุนโยบายกระทรวงคมนาคมที่จะลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน โดยจะผลักดันการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าเหลือ 15 บาทตลอดสายและได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดไปพิจารณาหาแนวทางและหามาตรการปรับลดภาระค่าครองชีพของประชาชนภายใน 1 เดือนนั้น

แม้หน่วยงานในสังกัดคมนาคมจะขานรับแนวนโยบายปรับลดภาระค่าครองชีพของประชาชนข้างต้น แต่หลายภาคส่วน ก็ได้เตือนให้ รมว.คมนาคมและรัฐบาลพึงระวังมันจะก่อให้เกิด “ค่าโง่” ขึ้นมาอีก

ด้วยบรรดา “ค่าโง่” ทั้งหลายแหล่ที่หน่วยงานรัฐในสังกัดกระทรวงคมนาคม โดยเฉพาะการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) กำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐทั้งสิ้น จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตามแต่ผลลัพธ์สุดท้ายมันได้ลากเอาประเทศชาติเข้าไปแบกรับภาระทั้งสิ้น

 อย่างนโยบายชะลอปรับอัตราค่าผ่านทางด่วนหรือค่าโดยสารจนเป็นเหตุให้บริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานหยิบยกมาเป็นประเด็นฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายคู่สัญญารัฐในภายหลังนั้นเห็นได้ชัดหรือนโยบายดั้นเมฆของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐบาลต่อการบอกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ในอดีต ที่ยืนยัน นั่งยันกันดีนักว่าไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามกรอบสัญญาที่มีอยู่ระหว่างกัน แต่สามารถใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บอกเลิกสัญญาได้

สุดท้ายล้วนแล้วแต่กลายมาเป็นค่าโง่ที่ยังจับมือใครดมไม่ได้ !

“เนตรทิพย์” ขอประมวลค่าโง่ที่หน่วยงานรัฐในสังกัดกระทรวงคมนาคมต้องเผชิญจากอันฉาบฉวยของรัฐดังนี้

1.คดีพิพาทที่บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เรียกร้องให้ กทพ. ชดใช้เงินค่าเสียหายจากการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษของทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D ในปีพ.ศ. 2551 ที่เป็นเงินผลต่างระหว่างอัตราค่าผ่านทางรถยนต์แต่ละประเภทของทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D ตามอัตราค่าผ่านทางในคำเสนอข้อพิพาทเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2556กับอัตราค่าผ่านทางตามประกาศกระทรวงคมนาคม ฉบับลงวันที่ 15 สิงหาคม 2551 ทุนทรัพย์ที่ยื่นข้อพิพาทจำนวนเงิน 4,062.83 ล้านบาท ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้ กทพ.จ่ายชดเชยความเสียหายแก่เอกชนวงเงินรวมกว่า 4,318 ล้านบาท

2.กรณีพิพาทปรับอัตราค่าผ่าทางพิเศษ(ทางด่วน)ศรีรัช ส่วน D ช่วงถนนรัชดาภิเษก-ศรีนครินทร์ ระหว่างบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่บริษัทเอกชนได้ยื่นข้อพิพาทต่อสำนักงานอนุญาโตตุลาการไปตั้งแต่กลางปี 2551 คณะอนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยชี้ขาดเมื่อ 22 เมษายน 2562 ให้กทพ.จ่ายชดเชยความเสียหายพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 1,048.23 ล้านบาท บริษัทเอกชนเตรียมยื่นคำร้องบังคับคดี

3.ยังมีกรณีข้อพิพาทที่บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2556 เรียกร้องให้ กทพ. ชดใช้เงินค่าเสียหายจากการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษของทางด่วนขั้นที่ 2 ในปี พ.ศ. 2551-2556 เป็นเงินผลต่างระหว่างอัตราค่าผ่านทางรถยนต์แต่ละประเภทของโครงข่ายในเขตเมืองและโครงข่ายนอกเขตเมือง ตามตามประกาศกระทรวงคมนาคม ฉบับลงวันที่ 15 สิงหาคม 2551 โดยมีทุนทรัพย์ 9,091.79 ล้านบาท อนุญาโตตุลาการได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 ให้กทพ.ชดใช้ค่าเสียหายให้ BEM ตามที่เรียกร้องรวมวงเงินกว่า 12,000 ล้านบาท

4.คดีพิพาทที่ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) (บริษัทย่อยของ BEM) ได้ยื่นข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2556 เรียกร้องให้ กทพ.ชดใช้ค่าเสียหายจากการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษในปี พ.ศ. 2546 เป็นเงินผลต่างระหว่างอัตราค่าผ่านทางพิเศษ ทางพิเศษสายบางปะอิน–ปากเกร็ด ตามอัตราค่าผ่านทางพิเศษในคำเสนอข้อพิพาทกับอัตราค่าผ่านทางพิเศษตามประกาศกระทรวงคมนาคม ฉบับลงวันที่ 29 สิงหาคม 2546 ทุนทรัพย์ 69 ล้านบาท  5.คดีพิพาทที่บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เรียกร้องให้ กทพ.ชดเชยผลกระทบจาก “เหตุการณ์ที่เป็นข้อยกเว้น” ตามสัญญาข้อ 19 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2543 อันเนื่องจากการเกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจในประเทศไทย ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและสภาวะดอกเบี้ยสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทฯ ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าตามที่กำหนดไว้ในสัญญา จำนวนเงิน 5.12 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย

นัยว่ายังมีคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการวงเงินรวมกว่า 35,000 ล้านบาท และยังมีคดีที่เตรียมจะพาเหรดยื่นเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการอีกกว่า 75,473 ล้านบาท หรือรวมความเสียหายหรือค่าโง่ที่รัฐอาจจะต้องชดเชยให้แก่เอกชนจากกรณีต่างๆ กว่า 137,000 ล้านบาท

หากรัฐและคมนาคม มีนโยบายจะช่วยลดภาระค่าครองชีพแก่ประชาชนจริง ก็ไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายที่จะไปบีบหรือปรับลดค่าโดยสารโดยตรง แต่อาจช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยตรงจะดีกว่า จะเพิ่มค่าครองชีพให้ประชาชนอีก 300-500 บาทต่อเดือน ก็ยังดีกว่าจะถูกเช็คบิลค่าโง่ย้อนหลัง นับพันล้านหรือนับหมื่นล้านอย่างที่เป็นรอยู่ในเวลานี้”

:เนตรทิพย์