ห้ามสิบล้อวิ่งเข้ากรุงวันคี่ กับปฏิบัติการ“ลิงแก้แห”ฝุ่นPM2.5

0
488

กลายเป็นปัญหาระดับวาระแห่งชาติไปแล้วสำหรับฝุ่น PM2.5 นอกเหนือแผ่ปกคลุมน่านฟ้าหลายพื้นที่ในเขตกทม.และปริมณฑลแล้ว ยังขยายครอบคลุมไปอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศ ขมวดเป็นพลานุภาพปกคลุมม่านตาภาครัฐจนพร่ามัว-มั่วตุ้มในการแก้ไขปัญหาอย่างไร้หางเสือ

จนกระทั่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้โพสต์ข้อห่วงใยลงในเฟสบุ๊กพร้อมสั่งการให้ตำรวจเร่งรัดออกข้อกำหนดสั่งห้ามใช้รถที่ปล่อยควันดำ รถที่ถูกจับจะต้องถูกขึ้น watch list เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสภาพรถเพื่อต่อทะเบียน ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนส่งข้อมูลรถปล่อยควันดำไปที่สายด่วน 1584 และช่วงนี้ต้องป้องกันตัวเอง ใส่หน้ากากอนามัยหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง

จากนั้นกรมขนส่งฯก็ออกโรงเด้งรับนายกฯลุงตู่ทันควัน พร้อมประกาศเข้มมาตรการล้อมคอกฝุ่น PM2.5 เต็มสตรีมปูพรมตั้งด่านตรวจจับควันดำ‘รถบรรทุก-รถโดยสาร‘แทบทุกตารางเมตรทั่วกรุง-ปริมณฑลเข้มข้นทะลวงไส้แตกไปทั่วประเทศทั้งในวันธรรมดาและวันหยุดราชการ หากตรวจพบค่าควันดำเกินมาตรฐาน (เกินกว่า 45 %) จะลงโทษเปรียบเทียบปรับ 5 พันบาท และพ่นสี“ห้ามใช้”เด็ดขาด

ถัดมาอีกไม่กี่วันปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)”จตุพร บุรุษพัฒน์”เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมมลพิษเพื่อหามาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ว่าที่ประชุมมีมติสรุป 12 มาตรการแก้ไขปัญหาโดยจะหายาที่แรงขึ้น เพื่อนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

และล่าสุด ครม.สัญจร(21 ม.ค.63)ที่จังหวัดนราธิวาส ก็เปิดไฟเขียว 12 มาตรการตามที่กระทรวง ทส.เสนอเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นPM2.5 ทั้งเพิ่มความเข้มคุมรถบรรทุกเข้ากรุงเทพฯตรวจควันดำรถบรรทุก-รถโดยสาร คุมการปล่อยฝุ่นของโรงงาน ดูแลการก่อสร้างในเขตเมืองให้ลดฝุ่นลดจราจรติดขัด ห้ามการเผาในที่โล่ง ลดราคาน้ำมันดีเซลเกรดพรีเมียมที่ก่อฝุ่นน้อย ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว เป็นต้น

1 ใน 12 มาตรการที่ถือว่าเป็น “ยาแรง”กระแทกหัวอกสิงห์รถบรรทุกไปเต็มเปา ที่ว่ายาแรงก็เพราะเป็นการห้ามรถบรรทุกสิบล้อขึ้นไปวิ่งถนนวงแหวนกาญจนาภิเษกรอบนอกในวันคี่โดยเด็ดขาด เริ่มตั้งแต่เวลา 06.00 น. – 21.00 น. และให้เข้าได้ในช่วงหลังเวลา 21.00น. – 05.00 น.ยกเว้นรถบรรทุกอาหารสดเท่านั้น ส่วนวันคู่สามารถเข้าได้ช่วงเวลาตามปกติ โดยมีระยะเวลา 2 เดือนสิ้นสุดเดือนกุมภาฯนี้

พลันที่กลุ่มขนส่งพอได้เสพโลกข่าวสารก็ดาหน้าถล่มยับกับมาตรการดังกล่าวต้นตอปัญหาฝุ่น PM 2.5 จำนวน 72 % มาจากยานพาหนะ เป็นรถบรรทุกกว่า 20 % กระบะอีก 20 % ภาคอุตสาหกรรม 18 % ส่วนที่เหลือมาจากรถยนต์ประเภทอื่นๆคือไฉนเล่า?หวยจึงมาออกที่ “รถสิบล้อ”เท่านั้นทำไมไม่ห้ามรถกระบะวิ่งบ้าง ไม่ห้ามโรงงานอุตฯหยุดเดินเครื่องจักร

 มาห้ามสิบล้ออย่างเดียว พูดยังกับว่าพวกเขาเป็นต้นตอปัญหาแต่เพียงผู้เดียว อย่างนี้มันคือแก้ปัญหาที่ตรงจุดและเป็นธรรมสำหรับพี่น้องสิบล้อแล้วหรือไม่? แล้วความเดือดร้อนและผลกระทบที่เกิดขึ้น…ใครจะช่วยเยียวยา?เพราะการห้ามสิบล้อวิ่งถนนวงแหวนกาญจนาภิเษกนี้ไม่ต่างอะไรกับ “ปิดตายรถสิบล้อ”วิ่งเข้าเขตชั้นในเมืองหลวง ระบบขนส่งเชื่อมจากเหนือ-อีสานเข้าใจกลางเมืองต่อไปท่าเรือและคลังสินค้าต่างๆ  หรือเชื่อมไปยังภาคกลาง และใต้แทบเป็นอัมพาต

Logistics Timeขอใช้พื้นที่นี้สะท้อนมุมมองจากกลุ่มขนส่งและนักวิชาการที่มีต่อยาแรง “ห้ามสิบ”ล้อวิ่งเข้ากรุงในวันคี่โดดขาดดังนี้ 

ประมุขสิบล้อโอด!สิบล้อจำเลยสังคม

นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย สะท้อนมุมมองว่าจากมาตรการดังกล่าวย่อมเกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนส่งแน่นอน แต่เราจะทำยังไงได้ก็ต้องปฏิบัติตามหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้จะเป็นมาตรการระยะสั้นก็ตามแต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เช่นกัน เพราะการขนส่งวัสดุก่อสร้างและสินค้าบางประเภทจะไม่สามารถขนส่งไปยังจุดหมายปลายทางตามเวลาได้ อาจจะทำให้การจราจรกรุงเทพฯให้เป็นอัมพาตได้ในการขนส่งสินค้า

“เรายินดีปฏิบัติตามแต่ไม่รับรองผลกระทบที่จะตามมา เพราะสินค้าหลักๆนอกจากจะไม่สามารถส่งตามเวลาได้ มันยังส่งผลกระทบด้านจราจรอีกช่องทางหนึ่งด้วย เพราะรถบรรทุกไม่มีที่จอดรถ ที่ผ่านมารถบรรทุกกลายเป็นจำเลยสังคมเสมอมา ถูกมองเป็นตัวการสร้างฝุ่น PM2.5 ทั้งๆที่รถบรรทุกทุกคันที่เป็นสมาชิกสหพันธ์ฯมีการตรวจสภาพตามกฎหมาย และใช้น้ำมัน B20 ตามนโยบายรัฐอยู่แล้ว”

ประธานสหพันธ์ฯย้ำว่าภาครัฐเองไม่ควรมานั่งเทียนแล้วมาคิดมาบอกรถสิบล้อคือต้นตอปัญหาเป็นยักษ์เป็นมาร ผมบอกตรงๆพวกเราเสียความรู้สึก พวกเราทำอาชีพสุจริต พอเกิดมลภาวะขึ้นมาก็มาโทษแต่รถบรรทุก ภาครัฐเอาข้อมูลมาจากไหนมาเป็นข้อพิสูจน์ว่ารถบรรทุกเป็นตัวการกระจายฝุ่น PM2.5

นายกฯTTLA อัดรัฐเลือกปฏิบัติ?

ขณะที่ดร.ชุมพล สายเชื้อ นายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย (TTLA)เปิดเผยกับ Logistics Time ว่าผลกระทบที่ตามมาจากมาตรการนี้มีแน่นอน โดยระดับผู้ประกอบการขนส่งพอเขาไม่ได้วิ่งงานและส่งงานไม่ทันแล้วโดนค่าปรับ ตรงนี้ใครจะไปเยียวยาพวกเขา แล้วภาครัฐได้หามาตรการเยียวยารองรับตรงนี้ไว้แล้วหรือยัง

“ระดับกลุ่มรถขนส่งก็อยากถามภาครัฐกลับว่าทำไมต้องเป็นกลุ่มรถสิบล้ออย่างเดียวทั้งที่บนท้องถนนรถทุกประเภทก็ล้วนแล้วก่อให้เกิดฝุ่นด้วยกันทั้งนั้น แล้วมาห้ามรถบรรทุกประเภทเดียวมันเป็นธรรมแล้วใช่ไหม มันเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ ก็ต้องห้ามวิ่งวันคี่รถทุกประเภทเป็นมาตรฐานเดียวกัน ทุกคนในสังคมต้องมีส่วนในร่วมกับการรับผิดชอบและร่วมกันแก้ไข”

ส่วนระดับภาครัฐเห็นแต่ออกมาตรการแต่เรื่องจำกัดการวิ่งรถบรรทุก ไม่เห็นมีมาตรการแก้ไขในต้นตอปัญหาอื่นๆเลย ทำไมมีแค่มาตรการเรื่องรถอย่างเดียว ภาครัฐต้องออกมาตรฐานเข้มงวดในส่วนอื่นๆที่เป็นต้นเหตุด้วย ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ภาคการก่อสร้าง และการเผาขยะในที่โล่งแจ้ง ต้องทำคู่ขนานกันไปการแก้ปัญหาจึงจะสัมฤทธิ์ผลได้

ดร.ชุมพล สำทับอีกว่าเมื่อเป็นเช่นนี้ภาครัฐต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ เอาล่ะเมื่อจะห้ามสิบล้อกลุ่มเดียววิ่งวันคี่ พวกเราเสียสละได้แต่ขอภาครัฐช่วยมาเยียวยาพวกเราด้วย ทุกคนได้ประโยชน์หมดได้วิ่งทั้งวันคู่วันคี่ แต่สิบล้อเป็นกลุ่มเดียวที่เสียสละวิ่งแค่วันคี่ กับผลกระทบที่เกิดขึ้นภาครัฐต้องมาช่วยเยียวยากับประโยชน์ที่พวกเราเสียไปด้วย

นิด้าโพลชี้รัฐสอบตกแก้ฝุ่น PM2.5

ขณะที่นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สำรวจความคิดเห็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตกทม. กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,256 หน่วยตัวอย่าง เรื่อง “การจัดการวิกฤตฝุ่นละออง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15-16 มกราคม 2563 เมื่อถามถึงการปฏิบัติตัวเมื่อเผชิญปัญหาจากวิกฤตฝุ่นละอองของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 69.98 ระบุ สวมหน้ากากอนามัยเวลาออกนอกบ้าน รองลงมา ร้อยละ 21.50 ระบุ หลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกบ้าน ร้อยละ 10.59 ระบุงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง

ทั้งนี้เมื่อถามถึงประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง พบว่าร้อยละ 2.47 ระบุมีประสิทธิภาพมาก เพราะหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมีการจัดการแก้ปัญหาที่ดี ร้อยละ 17.60 ระบุ ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ เพราะมีการพ่นละอองน้ำเพื่อลดฝุ่นมีการแจ้งเตือนเขตพื้นที่สีแดงทำให้ประชาชนได้เตรียมพร้อมรับมือ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานภาครัฐ แต่เป็นที่ตัวบุคคลในการทำให้เกิดฝุ่นละออง ร้อยละ 40.84 ระบุไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ เพราะหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องยังแก้ไขได้ไม่ตรงจุดทำงานไม่จริงจัง ไม่ต่อเนื่อง ควรมีมาตรการอย่างจริงจังที่เป็นรูปธรรมในการควบคุม เช่น การก่อสร้าง รถควันดำ หรือผู้ที่ก่อให้เกิดมลพิษ ร้อยละ 36.22 ระบุ ไม่มีประสิทธิภาพเลย เพราะการจัดการของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการตื่นตัว ไม่มีการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม ไม่มีความชัดเจน ปัญหายังเดิมๆ ไม่เปลี่ยนแปลง เช่น งานก่อสร้างต่างๆ รถประจำทาง/รถส่วนตัวยังมีควันดำ

อย่างไรก็ตามเมื่อถามถึงการมีส่วนร่วมช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 30.57 ระบุ ใช้บริการขนส่งสาธารณะแทนการขับรถส่วนตัว รองลงมาร้อยละ 24.20 ระบุ ฉีดน้ำล้างฝุ่นละอองหน้าบ้านตนเอง ร้อยละ 23.09 ระบุ หยุดเผาขยะ ใบไม้ เศษวัสดุ ร้อยละ 21.66 ระบุ ไม่มีส่วนช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง เพราะการใช้ชีวิตประจำวันไม่ได้ทำอะไรหรือสร้างปัญหาอะไรเกี่ยวกับงุ่นอยูแต่บ้าน/อาคารไม่ได้ไปไหน

ค่าเฉลี่ยรถใหญ่ปล่อยมลพิษมากกว่ารถเล็ก

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยสะท้อนมุมมองว่าจากปัญหาที่นี้สังคมต้องการให้มีหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนประเมินผลกระทบระบบเศรษฐกิจเกี่ยวกับรถบรรทุกในหลายๆมิติ คาดว่าจะมีมูลค่าผลกระทบมากขึ้นต่อเนื่องทุกปี ซึ่งภาคส่วนต้องบูรณาการความร่วมมือกันอย่างจริงจังและเข้มแข็ง ไม่ควรปล่อยปัญหานี้ให้ยืดเยื้อไปโดยที่ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

“เมื่อมีการเพิ่มปริมาณรถบรรทุกจำนวนมากขึ้นทุกปี ก็ยิ่งจะสร้างมลพิษต่ออากาศและสุขภาพประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้ๆถนน มีปัญหาสุขภาพและต้องการจ่ายค่ารักษาสุขภาพ ภาครัฐเองก็ใช้งบประมาณที่ต้องเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวปีละไม่ต่ำกว่า 6 พัน-1 แสนล้านบาท เนื่องจากค่าเฉลี่ยการปล่อยมลพิษรถบรรทุกสินค้าจะมีมากกว่ารถยนต์ทั่วไป”

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ ย้ำด้วยว่าภาครัฐเองก็ต้องขับเคลื่อนนโยบายเพื่อลดปัญหานี้อย่างจริงจัง และที่สำคัญบริษัทต่างๆทั้งผู้ผลิตสินค้า ผู้ประกอบการขนส่งทั่วไป และบริษัทจัดการระบบขนส่งมืออาชีพ ควรเร่งลดการใช้รถบรรทุกที่จะสร้างมลพิษมากๆ

“อีกทั้งยังต้องอบรมพนักงานขับรถบรรทุก ปลูกจิตสำนึกที่ดีต่ออาชีพและความรับผิดชอบต่อสังคม และเช็คสภาพรถอย่างต่อเนื่องเพราะจะช่วยลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุ และปัญหามลพิษได้ในระดับหนึ่งอีกด้วย”

จากปฏิบัติการห้ามสิบล้อวิ่งเข้ากรุงวันคี่ของภาครัฐดูเหมือนจะไม่ต่างอะไรกับ “ลิงแก้แห”ที่แก้เท่าไรก็ยิ่งยุ่ง เพราะต่อให้ห้ามสิบล้อวิ่งทั้งวันคู่-คี่ก็ตามทีเหอะ ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ก็ยังไม่ลด ตราบใดที่ไม่กล้าแตะต้นตอปัญหาใต้พรมอื่นๆคู่ขนานไปด้วย ตราบใดที่กทม.และปริมณฑลยังมีปริมาณรถมหาศาล ปัญหารถติดวินาศสันตะโรยังอยู่ยงคงกระพัน ไม่มีการทำหมันรถเก่า ทั่วกรุงยังอุดมด้วยการก่อสร้าง มีการเผาในที่โล่งแจ้ง และโรงงานอุตฯยังขยันปล่อยควันพิษ

รัฐต้องมีนโยบายที่แน่วแน่ แผนงานมีขั้นตอนงานชัดเจน บังคับใช้อย่างทั่วถึงเป็นธรรม และทำต่อเนื่องตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นมาตรการควบคุมการปล่อยไอเสียรถยนต์ การปล่อยฝุ่นจากโรงงานต้องอยู่ในมาตรฐานที่กำหนดและตลอดเวลา ไม่เฉพาะในช่วงเกิดปัญหา นโยบายเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์ใช้น้ำมันเป็นยานยนต์ไฟฟ้า

เพราะไม่เช่นนั้นไอ้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ก็ยังเที่ยวหลอกหลอนคนกรุงและปริมณฑลอยู่ร่ำไปนั่นแหล่ะ!มันเป็นการสะท้อนว่าการห้ามสิบล้อวิ่งวันคี่รวมถึงมาตรการทั้งหลายแหล่ที่ภาครัฐพรั่งพรูออกมารายวันน่ะมันล้วนแล้วแต่“ล้อมคอกปัญหา”ทั้งนั้น!