TEST มาแล้ว!หัวลากสิงโตไฟ MAN TGS “แก๋ว”…บอกเลย!

0
1106

หากเปรียบเป็นบทเรียนการเปิดสนาม TPRO Training Center เมืองแปดริ้วให้พี่น้องสื่อมวลชนได้ร่วมทดสอบเจ้าหัวลากสิงโตไฟ MAN TGS ของค่าย MAN (เอ็ม เอ เอ็น)ครั้งนี้ ถือเป็น Charpter III ส่งท้ายปลายปี 63 แล้วหลังครั้งแรกเป็นการจุดพลุเปิดตัวทีมผู้บริหารจัดทัพหน้าลุยไฟตลาดรถใหญ่เมืองไทยพุ่งชนเป้าเติบโตคู่โลจิสติกส์ไทย และครั้งที่สองกับการอัดบิ๊กอีเว้นต์เผยโฉมรถบรรทุก 3 รุ่นใหญ่ร่วมบู๊สู้ศึกสมรภูมิรถใหญ่

ข้าน้อย-หนุ่มเหลือน้อยที่เคยหลงระเริงในป่าดงดิบสิบล้อในบทบาทสุนัขเฝ้าบ้านมาร่วม 10 ปี เคยได้รับเกียรติให้สับไกเกียร์เจ้ายักษ์ยุโรปมาแล้วหลายค่ายต่างกรรมต่างวาระทั้งในสนามปิดและร่วมลุยบนถนนที่โหดจริง-นน.บรรทุกจริงเต็มพิกัดกม. ขบวนล่าสุดนี้ถือเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์น่าประทับที่ได้กระแทกคันเร่งในสนาม TPRO Training Center ใน 3 สถานีเพื่อร่วมทดสอบประสิทธิภาพ-สมรรถนะเจ้าหัวลาก MAN TGS เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา

งานนี้ทาง MAN Truck&Bus Thailand  นำทัพโดย“คุณเจ๊ก-จักรพงษ์ ศานติรัตน์”ผู้บริหารหนุ่มไฟแรงได้พาเหรดรถบรรทุกหัวลาก 3 รุ่นย่อย คือ TGS 6×4 360 แรงม้า 2.TGS 6×4 400 แรงม้า และ 3.TGS 6×4 440 แรงม้าการันตี CBU 100% จากแผ่นดินแม่เยอรมันประจำการให้พี่น้องสี่อมวลหลายสำนักได้ลองสัมผัสและเปิดประสบการณ์ใหม่ร่วมทดสอบถึงความแข็งแรงทนทาน ล้ำด้วยเทคโนโลยี-ฟังก์ชั่นอัจฉริยะที่ช่วยให้ผู้ควบพวงมาลัยขับขี่ได้ง่าย มั่นใจในระบบความปลอดภัยของค่ายรถใหญ่ผู้นำยนตรกรรมระดับโลก

โดยรถหัวลากทั้งหมดภายในงานนี้ได้รับอภินันทนาการจาก“คุณเจ-ยุทธนา สมประยูร”นายใหญ่ใจดีของเค-แมน ออโต้.เซอร์วิส ดีลเลอร์รายใหญ่หนึ่งเดียวของค่าย MAN ในไทยในเวลานี้

ปลุกเร้าใจให้ลุกโชนด้วยสถานี MAN Driving Slalom

เปิดประสบการณ์&ปลุกเร้าต่อมฮึกหาญต่างเรียกน้ำย่อยให้ลุกโชนนิดๆกับสถานี MAN Driving Slalom โดยมีเจ้าหัวลาก MAN TGS 6×4 สีขาวมาพร้อมด้วยขุมกำลัง 400 แรงม้าที่ 1,900 รอบต่อนาที ให้แรงบิดสูงสุดที่ 1,900 นิวตันเมตร ที่รอบการทำงานตั้งแต่ 1,000-1,400 รอบต่อนาที ประจำการให้พี่น้องสื่อมวลชนได้ลองสัมผัสและแตะคันเร่งหนัก-เบาพร้อมสาวพวงมาลัยให้เจ้าสิงโตไฟด้วยมิติความกว้าง 2,500 มม.ยาว 6,775 มม.และสูงถึง 3,391 มม.เข้าโค้งใหญ่-เล็กตามวงรอบกรวยที่ถูกจัดวางไว้ได้ถูกต้องและแม่นยำ โดยมีอาจารย์ผู้ชำนาญการคอยแนะนำ-นั่งควบคุมการทดสอบร่วมไปด้วยทุกรอบการทดสอบ

ด้วยระบบส่งกำลังเจ้าหัวลากคันนี้เป็นระบบเกียร์แบบ 12 เกียร์เดินหน้า 2 เกียร์ถอยหลังทำงานแบบกึ่งอัตโนมัติ (Automated Manually Operated) ด้วยระบบการเปลี่ยนเกียร์อัตโนมัติแบบ TipMatic แบบ Smartshifting ที่ทำให้การเปลี่ยนเกียร์เป็นไปได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ เป็นฟังก์ชั่นที่ช่วยให้ผู้ขับขี่ที่แม้จะไม่เคยขับรถหัวลากมาก่อนก็สามารถขับได้ง่ายและไม่ยุ่งยากอะไร เพียงแค่ผู้ขับขี่ต้องสร้างความคุ้นเคยกับตัวรถ การควบคุมการทรงตัวรถ การควบคุมพวงมาลัยให้ได้องศาสมดุลที่ต้องขับอ้อมกรวยที่วางไว้ เพราะด้วยมิติความกว้าง ยาว และสูงที่มากกว่ารถยนต์ขนาดเล็กจึงต้องระวังและกะองศาการควงพวงมาลัยให้สมดุล

เรียกได้ว่าสถานี MAN Driving Slalom นี้ คือการขับแบบสลาลมเพื่อเป็นการสร้างความคุ้นชินพลางปลุกเร้าใจให้ฮึกหาญกล้าที่จะลองกล้าที่จะสาวพวงมาลัยกระแทกคันเร่งหนัก-เบาเข้าโค้งกว้าง-แคบอ้อมสิ่งกีดขวางได้สนุกเร้าใจเร้าพอสมควร ซึ่งเขาให้ลองได้แค่คนละ 2 รอบ ทว่า ข้าน้อยรู้สึกไม่หน่ำใจพระเดชพระคุณท่าน เลยขออนุญาตเบิ้ลเพิ่มอีก 2 รอบสุดฟิน-เต็มอิ่มไปเลย

MAN Easy Start ปลดแอกการ“หยุด-ออก”ตัวทางลาดชัน

สถานีต่อมาเป็นคิว MAN Easy Start กับเจ้าหัวลาก MAN TGS 6×4 สีน้ำเงินที่มาพร้อมด้วยขุมกำลัง 400 แรงม้าเช่นเดียวกับสถานีแรก เพื่อทดสอบระบบช่วยการออกตัวบนทางลาดชันอุปกรณ์มาตรฐานที่ช่วยให้ผู้ขับขี่สบายใจได้หากกรณีเกิดการหยุดรถ-ออกตัวบนทางลาดชัน เป็นเรื่องสำคัญมากเมื่อรถหัวลากเวลาที่ต้องลากหางพ่วงที่บรรทุกน้ำหนักมหาศาลไปบนท้องถนน และกรณีที่เกิดหยุดหรือออกตัวบนถนนที่มีการความลาดชันมากๆ ซึ่งจะช่วยผู้ขับขี่อุ่นใจได้มากๆ

แม้การทดสอบครั้งนี้จะไม่มีการลากหางพ่วงที่บรรจุน้ำหนักก็ตาม ซึ่งด้วยข้อจำกัดสถานที่และเหนือสิ่งใดที่ทาง MAN Truck&Bus Thailand ให้ความสำคัญคือ“ความปลอดภัย” ทว่า สถานีทดสอบ MAN Easy Start ก็ตอบโจทย์การหยุด-ออกตัวบนถนนลาดชันได้ดีและใช้งานได้ง่าย ในสถานีที่สองนี้ก่อนที่จะควบเจ้าสิงโตไฟเข้าจุดทดสอบระบบ MAN Easy Start อุปกรณ์มาตรฐานในส่วนระบบการขับเคลื่อนเป็นเพลาหน้าและหลัง เป็นแบบแหนบ (Parabolic Leaf Spring) พร้อมกันโคลง เพื่อให้การรองรับน้ำหนักและการทรงตัวเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพรองรับทุกการใช้งานแล้ว

บรรดาพี่น้องสื่อมวลชนยังได้ลองกดคันเร่งด้วยอัตราความเร็วระดับ 60 กม./ชม.เข้าโค้งที่ทางสนามได้ออกแบบไว้อย่างสวยงามและได้องศาความลาดเอียง แล้วลองแตะเบรคเพื่อทดสอบระบบความปลอดภัยด้วยระบบเบรค MAN BrakeMatic ระบบเบรคล้อแบบลมล้วนควบคุมด้วยอิเลคโทรนิค (EBS) แบบดิสค์เบรกทั้งด้านหน้า-หลังติดตั้งมาพร้อมกับระบบป้องกันล้อล็อกอัตโนมัติ (ABS)และเชื่อเหลือเกินว่าหลังพี่น้องสื่อมวลชนได้ลองขับแล้งคงสัมผัสได้ถึงการเข้าโค้งที่ลาดเอียงแล้วการทรงตัวรถไม่โคลงและยังให้ฟิลลิ่งที่นุ่มนวล อีกทัั้งประสิทธิภาพของระบบเบรคของ MAN ที่ให้ความรู้สึกนิ่มนวล เบาใจได้ถึงความปลอดภัยยามที่ต้องแตะเบรคแบบกระชันชิด

บอกตรงนี้เลยว่า“ของเขาดี”จริงๆไม่จิงโจ้ตามแบบฉบับรถหัวลากเกรดพรีเมี่ยม CBU 100% จากเยอรมัน!

MAN Adaptive Cruise Control จัดไปโลดไม่เสียหาย!

มาถึงสถานีสุดท้ายกับ MAN Adaptive Cruise Control โดยมีเจ้าหัวลากตัวท็อปสุดที่ทำตลาดในไทย คือ MAN TGS 6×4 สีแดงเข้มที่มาพร้อมกับขุมพลังถึง 440 แรงม้าที่ 1,900 รอบต่อนาที และให้แรงบิดสูงสุดที่ 2,100 นิวตันเมตร ที่ช่วงรอบการทำงานตั้งแต่ 1,000-1,400 รอบต่อนาที ประจำการให้สื่อได้ร่วมทดสอบระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าระบบ Adaptive Cruise Control ระบบตั้งความเร็วรถยนต์ของเราให้วิ่งไปได้โดยไม่ต้องเหยียบคันเร่ง และสามารถปรับเปลี่ยนความเร็วได้ตามรถคันหน้า

แม้ใครหลายๆคนอาจมองว่าเป็นระบบที่ช่วยให้ผู้ขับขี่ขนส่งสินค้าระยะทางไกลๆได้ดีไม่เกิดความเมื่อยล้า แต่สำหรับผมแล้วความเห็นส่วนตัวมองว่าไม่ค่อยจำเป็นเท่าไหร่นักในบ้านเรา เพราะด้วยข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานบ้านเราไม่เอื้ออำนวย ถนนหนทางก็อุดมด้วยบรรดาหลุมอุกกาบาตบางเส้นก็ซ่อมเป็นเจ็ดชั่วโคตร แม้จะเป็นถนนมอเตอร์เวย์ก็หนาแน่นด้วยฝูงรถนานาชนิด ที่สำคัญเลยก็พฤติกรรมของผู้ขับขี่รถทุกประเภทนี้แหล่ะเข้าขั้นและขึ้นชื่อเรื่อง“ไร้วินัยจราจร”หลอมรวมเป็นปัญหา-อุปสรรคไม่อนุญาตให้ระบบนี้ถูกใช้งานได้สะดวกโยธิน ยิ่งเป็นรถหัวลากรถบรรทุกขนาดใหญ่พ่วงด้วยหางลากด้วยแล้วก็ยิ่งไปกันใหญ่   

แต่ก็นั่น…ก็เป็นทางเลือกที่ผู้ซื้อรถจะเอาหรือไม่เอากับระบบนี้ จะมีไว้เพื่อประดับคู่บารมีเจ้ารถหัวลากเกรดพรีเมี่ยมก็ดีงามตามท้องเรื่องคือกัน!

นี้คืออีกหนึ่งประสบการณ์สุดประทับใจในบทบาทสื่อผู้เคยหลงระเริงในป่าดงดิบสิบล้อแล้วได้ลองกระแทกคันเร่งเจ้าห้วลากสิงโตไฟ MAN TGS CBU 100% จากเยอรมัน ที่ทาง MAN Truck&Bus Thailand ได้กรุณาเชิญให้ไปเปิดโลกกว้างเพื่อทดสอบถึงประสิทธิภาพและสมรรถนะหัวลากนามก้องโลกยานยนต์ อีกหนึ่งรถบรรทุกในฝันของใครหลายๆคน

การจัดกิจกรรมครั้งนี้หากเปรียบเป็นลมหายใจคงเป็นลมสุดท้ายที่ไม่ใช่เฮือกสุดกับขาย“ความมุ่งมั่น”ต่อการสร้างแบรนด์หวังเติบโตในไทยภายในปีนี้เป็นแน่แท้ ทว่า ค่ายพญาราชสีห์ MAN ยังพร้อมเติมลมหายใจให้เต็มเปี่ยมกับการสยายปีกโบยบินทยอยอัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดและคำรามปล่อยกลยุทธ์ให้ทะลุทะลวงในทุกมิติ กรุยทางสู่การเติบโตคู่วงล้อโลจิสติกส์เมืองไทยในปีหน้า 2564

เพราะการดึง MAN กลับมาลุยไฟการตลาดเองกับมือครั้งสำคัญนี้ MAN Truck&Bus Thailand รู้อยู่เต็มอกว่า”เดิมพัน”…มันสูงมาก!

หลังได้ลอง TEST แล้ว ขออนุญาตพรูพรั่งออกมาเป็นภาษาเยอรมันตะวันออกเฉียงเหนือในยุคสมัยโซเชียลยึดครองเมืองมนุษย์คำเดียวเพียวๆว่า… “แก๋ว”(ยอดเยี่ยม)ไปโลด ทว่า หากเป็นไปได้ ย้ำ…นะครับหากเป็นไปได้กับการ TEST ครั้งต่อไปขอโหดๆในเส้นทางขนส่งจริงๆและน้ำหนักบรรทุกจริงจะถูกใจใช่เลย

…กล้าหรือเปล่าครับ? MAN Truck&Bus Thailand  ไฟเขียวหรือเปล่าจ๊ะ?คุณเจ๊ก-จักรพงษ์ ศานติรัตน์

:ลมใต้ปีก