สายเกินแก้!?สงคราม“ตัดราคา”ระเบิดเวลา‘ขนส่งไทย’!

0
252

หากโรคอัลไซเมอร์ไม่ลักพาตัวหนีไปเที่ยวหลบควันพิษไวรัสมหาประลัยโควิด-19 แล้วล่ะก็ คงพอจำกันได้กับข่าวช็อคแวดวงส่งด่วน-อีคอมเมิร์ซ-ธุรกิจออนไลน์เมื่อกลางเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมาหลังบริษัท“อัลฟ่าฯ”ผู้ให้บริการส่งพัสดุดังไปต่อไม่ไหวประกาศโบกมือลากิจการในไทยพร้อมบอกเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดหลังเผชิญภาวะ“แข่งขันสูง-สงครามตัดราคา-ขาดทุนสะสม”

แม้เฮือกสุดท้ายจะดิ้นฤทธิ์ด้วยการแก้เกมระดมทุนแต่ก็ต้านไม่ไหวถึงคราโบกมือบ๊ายบายไทยแลนด์ไปในที่สุด!

เป็นที่น่ากังขาว่าเกิดอะไรขึ้นในสมรภูมิธุรกิจส่งด่วน-อีคอมเมิร์ซที่ได้ชื่อว่าเป็นธุรกิจที่มาแรงจนแซงทุกโค้งธุรกิจในเวลานี้ มีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดสวนกระแสเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ที่เข้ามาตอบโจทย์วิถีชีวิตใหม่ได้แบบตรงจุด ซึ่งในปี 2020 ที่ผ่านมาตลาดอีคอมเมิร์ซไทยเติบโตทะลุทะลวงสูงถึง 81% นับเป็นมูลค่า 294,000 ล้านบาท แถมยังไม่ท่าทีอ่อนแรงลงซ้ำยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว แล้วเกิดฟ้าผ่าอะไรลงกลางกล่องดวงใจอัลฟ่าถึงได้ถอดใจลา?

กลเกมตัดราคา ป่วนกลไกตลาด

เป็นธรรมดาโลกการค้าการลงทุนที่เค้กก้อนโตทางการตลาดขนาดมหึมานี้มันช่างโชยกลิ่นหอมหวานพลางกวักมือเรียกผู้เล่นหน้าใหม่ทั้งไทยและเทศกระโจนเข้าร่วมชิงเค้กกันเป็นว่าเล่น ผู้เล่นหน้าเก่าผสมโรงหน้าใหม่ต่างก็งัดกลยุทธ์การตลาดเพื่อมัดใจลูกค้าเลือกใช้บริการ เมื่อผู้เล่นในตลาดแทบล้นทะลักมันหนีไม่พ้น“กลเกมตัดราคา”ออกมาป่วน“กลไกตลาด”ให้บิดเบี้ยวเสียรูปเสียทรง

รายใหญ่ทั้งพันธุ์ไทยแท้ไทยผสมยันกลายพันธุ์ไทยในร่างทรง“นอมินี” หรือบิ๊กเบิ้มต่างชาติทุนหนาขนหน้าแข้งไม่ร่วงพร้อมเดินหน้าท้าชนใน“กลเกมราคา”ลุยระดมทุนใต้ดินบนดินไม่อั้นทุบตลาด-คู่แข่งกระจุยกระจายหวังเสกแบรนด์ตัวเองให้โดดเด่นพุ่งชนเป้าหมายเข้าไปเฉิดฉาย&สบายใจเฉิบในตลาดหุ้นตลาดหลักทรัพย์ แต่รายขนาดกลาง-เล็กไม่ต่างอะไรกับปลาซิวปลาสร้อยนี่สิ…จะพากันกอดคอตายหงส์ตายห่านเกลี้ยงตลาด เพราะ…ต้านไม่ไหวกับ“สงครามตัดราคา” 

ใคร?จะเป็นเหยื่อรายต่อไป!

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นสวรรค์ชั้น7ของผู้บริโภคเปิดทางเลือกได้เสพสุขกันเอิบอิ่ม ทว่า หากมองในแง่มุมกลไกตลาดมันกลับบิดเบี้ยวดิ่งนรกอเวจีตีตรา “ราคาถูก”มาก่อน“คุณภาพบริการ”ที่ดี(ซะงั้น)!แล้วมาตรฐาน-เอกภาพตลาดที่ยั่งยืนล่ะมันอยู่ซอกหลืบไหน?

บทเรียนราคาแพงที่อัลฟ่าได้ทิ้งเอาไว้สะท้อนชัดว่าแม้เคยถูกจัดอันดับสูงสุดเรื่องคุณภาพบริการดีก็ตาม แต่ก็แพ้ภัยสงครามตัดราคาที่ต่ำกว่าต้นทุน ผู้เล่นในสนามส่วนใหญ่ล้วนแล้วยังขาดทุนและใช้วิธีแก้ไขด้วยกลยุทธ์ที่คลาสสิคไม่ต่างกัน คือการระดมทุน หวยออก3ตัวตรงอย่างนี้คงเหลือแต่รายใหญ่ไทย-เทศทุนหนาสายป่านยาวเท่านั้นถึงจะอยู่รอด ส่วนปลาซิวปลาสร้อยนับวันรอ“ลาโลง” แล้วใครจะเป็น“เหยื่อ”สงครามตัดราคา…รายต่อไป?

ขนส่งด้วยรถบรรทุกไม่ต่างกัน ปลาใหญ่กินปลาเล็ก

วกมาที่แวดวงขนส่งด้วยรถบรรทุกขนาดใหญ่ชะตากรรมและวงจรการแข่งขันก็ไม่ต่างกัน ผู้คลุกคลีตีโมงในแวดวงนี้รู้ซึ้งกันเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะสายตู้-สายก่อสร้าง-สายพืชเกษตร-ปิโตรเคมีฯก็ล้วนต้องถูกดึงเข้าสู่เกมการแข่งขัน “สงครามตัดราคา”ด้วยกันทั้งนั้น เข้าอีหรอบ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก”ผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งไทยและเทศทุนหนาสายป่านยาว-สายสัมพันธ์ระดับ Super Connection ยังถือครองความได้เปรียบเพราะมีไพ่ที่เหนือกว่าซ่อนอยู่ในมือ

โฟกัสไปที่ขนส่งยักษ์ใหญ่ต่างชาติที่พร้อมทั้งด้านเงินทุน มันสมอง และเทคโนโลยีครบเครื่องต้มยำ เล่นโชว์ศักยภาพเต็มฉากม้วนเดียวจบ ไล่เตะตัดขาขนส่งสายพันธุ์ไทยล้มละเนละนาดพลางกวาดงานไปเต็มหน้าตัก ที่เหลือและเกินไม้มือตัวเองค่อยใจบุญแบ่งให้ ทว่า ก็ต้องล็อกเงื่อนไขราคาไว้ดักหน้ารับได้ก็วิ่งรับไม่ได้ก็ไม่ได้ง้อ รายอื่นๆที่รอรับส่วนบุญงานขนส่งมีอีกบานตะไทยรอคิว

รายเล็กตั้งกลุ่มก๊วนแก้ลำขาใหญ่รับงานอิสระ!

ส่วนรายเล็กรายย่อยก็เป็นแค่ “ลูกไก่ในกำมือ”ของรายใหญ่ในตลาด ถึงกระนั้น บรรดารายย่อยต่างก็แก้ลำขาใหญ่พลางดิ้นรนสู้ยิบตาทุกช่องทางเพื่อให้“อยู่รอด”ในภาวะบีบรัดรอบทิศทางนี้ สังเกตได้จากการรวมตัวกันตั้งกลุ่มก้อนรับงานโดยอาศัยสื่อสังคมโซเชียลเป็นตัวกลางสร้างเอกภาพในการรับงาน-แบ่งงานขนส่งอิสระภายใต้“เพดานราคาค่าขนส่ง”ที่รับได้-อยู่ได้ของสมาชิกในกลุ่ม

แต่ก็อย่างว่านั้นแหล่ะ กลุ่มก๊วนรับงานลักษณะนี้ไม่ใช่มีแค่กลุ่มเดียวยังมีอีกหลายกลุ่มที่ผนึกกำลังก่อตัวขึ้นมารับงานเบ่งบานยังกับดอกเห็ด มันเป็นธรรมดาที่ใดมีการแข่งขันมากกว่า 2 รายขึ้นไปก็ย่อมก็ยังมีการงัดทีเด็ดเพื่อเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด หนีไม่พ้น“สงครามตัดราคา-เตะตัดขา-เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด-คมเฉือนคม”ของคนในกลุ่ม หรือแม้แต่ระหว่างกลุ่ม ว่ากันว่าบางงานขนส่งพ่วง18-22 ล้อยังดั้มพ์ราคาสู้กันยังกะราคาขนส่งรถ6ล้อก็ยังมีให้เห็น เป็นราคาต่ำเตี้ยเลียดินที่บางรายยากที่รับวิ่งให้ได้ ทว่า บางรายสุดทางตันก็กัดฟันวิ่งเพื่อความอยู่รอดเข้าทำนองกำขี้ดีกำตด

มันกลายเป็นว่ามิติการแข่งขันที่เพี้ยนและบิดเบี้ยวในกลไกการแข่งขันที่ยึดราคามากกว่าคุณภาพบริการ เป็นการสร้างนิสัยการซื้อที่ผิดให้กับลูกค้าแทนที่จะเลือกเพราะคุณภาพ(คุณค่า)กลับกลายเป็นเลือกเพราะผลประโยชน์(ราคาถูกกว่า) แล้วมาตรฐานการแข่งขัน-เอกภาพตลาดที่ยั่งยืนมันอยู่ที่ไหน?และหรือนี่อาจจะเป็น“ระเบิดเวลา”รอทิ้งบอมบ์แวดวงขนส่ง-รถบรรทุกเมืองไทยหรือไม่?

หากยังปล่อยให้ “สงครามตัดราคา”มีอิทธิพลอยู่เหนือราคา-กลไกตลาดที่ควรจะเป็น!

แล้วใครกันล่ะ?จะเป็นพระเอกขี่ม้าขาวกล้าอาสาถอดสลักระเบิดที่รอบอมบ์นี้ เพื่อกำกับดูแลให้ราคาค่าขนส่งมันได้มาตรฐานและสร้างแข่งขันที่เป็นธรรมนำไปสู่การเติบโตแวดวงขนส่งที่ยั่งยืน กระทรวงพาณิชย์?หรือกรมขนส่งฯ? หรือบรรดาสมาคมฯขนส่งต่างๆ?

หรือจะปล่อยให้ภาคธุรกิจขนส่งอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมีวงล้อที่หมุนไปอย่างซังกะตายไปวันๆ?