เสร็จแล้ว!ทล.ขยาย4เลนเส้นปัตตานี-เบตงหนุนท่องเที่ยว-ขนส่งไทยไปมาเลย์

0
295

กรมทางหลวง(ทล.)ขยาย 4 ช่องจราจรทางหลวงหมายเลข 410 สายปัตตานี – อ.เบตง ตอน บ.ตือลาฆอบาต๊ะ-บ.ตะบิงติงงี จ.ยะลา ระยะทาง 18 กม.แล้วเสร็จเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งรองรับท่องเที่ยว และขนส่งไทย-มาเลเซีย

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า กรมทางหลวง โดย สำนักก่อสร้างทางที่ 1 ดำเนินการก่อสร้างขยายทางหลวงหมายเลข 410 สาย ปัตตานี – อ.เบตง ตอน บ.ตือลาฆอบาต๊ะ–บ.ตะบิงติงงี จ.ยะลา ระยะทาง 18.015 กิโลเมตร แล้วเสร็จ ตามนโยบายด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

สำหรับทางหลวงหมายเลข 410 สาย ปัตตานี – เบตง  เชื่อมต่อระหว่างจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และชายแดนประเทศมาเลเชียที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ระยะทางยาวประมาณ 157 กิโลเมตร อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงทั้งสิ้น 153 กิโลเมตร  โดยกรมทางหลวงได้ทำการบุกเบิกก่อสร้างถนนดินตลอดเส้นทางกว้างประมาณ 4 เมตร เมื่อปี พ.ศ. 2483 ลักษณะสภาพทางและภูมิประเทศด้านคันทางเป็นที่ราบ เนิน และภูเขา สองข้างทางเป็นสวนยางพารา สวนผลไม้ และป่าไม้เบญจพันธุ์ การจราจรผ่านได้ในฤดูร้อนเป็นบางช่วงเท่านั้น และได้ปรับปรุงพื้นทางให้ดีขึ้น ก่อสร้างสะพาน ท่อเหลี่ยม และวางท่อกลมเพิ่มเติม ดำเนินการลาดยางแล้วเสร็จตลอดสายทางเมื่อปี 2509 สามารถใช้สัญจรได้ทุกฤดูกาล ปัจจุบันประชาชนนิยมใช้เป็นเส้นทางการค้าชายแดนไทย – มาเลเซีย  ทำให้มีผู้ใช้เส้นทางสายนี้เพิ่มขึ้น  ดังนั้นเพื่อเพิ่มความสะดวกในการเดินทาง กรมทางหลวงเล็งเห็นความสำคัญของทางหลวงหมายเลข 410 สาย ปัตตานี -เบตง จึงดำเนินการก่อสร้างจากเดิมทางหลวงมาตรฐานทางชั้น 1 ปรับปรุงเป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษ 4 ช่องจราจร(ไป-กลับ) โดยแบ่งเป็น 2 ตอน  ได้แก่ ตอนที่ 1 ระหว่าง กม.50+540 – กม.59+955  ระยะทาง 9.415 กิโลเมตร แล้วเสร็จเดือนเมษายน 2564 และตอนที่ 2 ระหว่าง กม.59+955 – กม.68+555 ระยะทาง 8.6 กิโลเมตร แล้วเสร็จเดือนกันยายน 2564  รวมระยะทางทั้งหมด 18.015 กิโลเมตร ผิวจราจรและไหล่ทางแอสฟัลต์คอนกรีต  ผิวจราจรข้างละ  2  ช่อง  กว้างช่องละ  3.50  เมตร  ไหล่ทางด้านนอกกว้าง  2.50  เมตร พร้อมปรับปรุงเกาะกลาง และติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง งบประมาณ 786,892,000 บาท

โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้เส้นทางนักท่องเที่ยวและอำนวยความสะดวกในด้านการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไทย-มาเลเซียเป็นการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซี่ยน