กทค.ชิ่งหนีเผือกร้อนเงินเยียวยาคลื่น1800 แฉ 2 ปีปิดบัญชีไม่ลงหลังเคาะโต๊ะต่ำติดดินสวนฐานลูกค้า

วงการสื่อสารมึนบอร์ด กทค.เคาะรายได้ เยียวยาคลื่น 900 แค่ 8 เดือน 7.2 พันล้าน แต่กับรายได้เงินเยียวยาคลื่น1800 ที่ทอดยาวร่วม 2 ปีกลับปิดบัญชีไม่ลงหลัง เคาะโต๊ะออกมาแค่ 3,900 ล้านทั้งที่ฐานลูกค้า เท่ากัน ก่อนโยนเผือกร้อนให้คลัง-สตง.ชี้ขาดแทนหวังปัดภาระรับผิดชอบ

0
196

วงการสื่อสารมึนบอร์ด กทค.เคาะรายได้ เยียวยาคลื่น 900 แค่ 8 เดือน 7.2 พันล้าน แต่กับรายได้เงินเยียวยาคลื่น1800 ที่ทอดยาวร่วม 2 ปีกลับปิดบัญชีไม่ลงหลัง เคาะโต๊ะออกมาแค่ 3,900 ล้านทั้งที่ฐานลูกค้า เท่ากัน ก่อนโยนเผือกร้อนให้คลัง-สตง.ชี้ขาดแทนหวังปัดภาระรับผิดชอบ
แหล่งข่าวรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)ถึงมติคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.)ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่มีมติให้บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน)หรือเอไอเอส นำส่งเงินรายได้จากการใช้งานคลื่นความถี่ 900 MHz ในช่วงมาตรการเยียวยาหลังหมดสัญญาสัมปทานระหว่าง 1 ต.ค.2558-30 มิ.ย.2559 จำนวนเงินทั้งสิ้น 7,221 ล้านบาทเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน โดยหากเอไอเอสไม่เห็นด้วยก็สามารถทำเรื่องอุทธรณ์ หรือใช้สิทธิฟ้องศาลปกครองได้
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ในส่วนของเงินรายได้จากการใช้งานคลื่น 1800 MHz ของบริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด หรือดีพีซี ที่กินเวลากว่า 2 ปีตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.2556- 3 ธ.ค.2558 นั้น บอร์ด กทค. กลับไม่สามารถชี้ขาดได้ โดยที่ประชุมมีมติให้ถามความเห็นเพิ่มเติมจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และกระทรวงการคลังจากนั้นให้คณะทำงานสรุปเพื่อเสนอบอร์ดกทค.พิจารณาภายใน 30 วัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาเหตุที่บอร์ดกทค.ยังไม่สามารถชี้ขาดเงินรายได้นำส่งรัฐจากการใช้คลื่น 1800 MHz ได้ทั้งที่ผ่านมากว่า 2 ปีนั้น เพราะตัวเลขรายได้นำส่งรัฐที่คณะทำงานตรวจสอบรายได้ ซึ่งกทค.แต่งตั้งขึ้นได้สรุปตัวเลขรายได้นำส่งรัฐที่ 2 ค่ายมือถือ คือทรูมูฟ และดีพีซีจะต้องนำส่งรัฐรวมทั้งสิ้น 14,868.83 ล้านบาท แยกเป็นของทรูมูฟ 13,989.24 ล้านบาท และดีพีซี 879.59 ล้านบาท แต่เมื่อรายงานไปยังบอร์ดกทค. กลับปรากฏว่าสำนักงาน กสทช.กลับตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองขึ้นมาใหม่และทบทวนการคำนวณรายได้นำส่งรัฐใหม่ออกมาได้เพียง  3,967.81 ล้านบาท ทำให้บอร์ดกทค.ไม่สามารถชี้ขาดได้ ก่อนจะขอให้ กสทช.ทำเรื่องสอบถามความเห็นไปยังกระทรวงการคลังและสตง.ว่าสมควรจะยึดถือฐานรายได้ใดเป็นหลัก เพื่อปัดความรับผิดชอบโดยหวังจะอาศัยความเห็นของคลัง-สตง.เป็นเกราะกำบัง ทั้งที่สองหน่วยงานดังกล่าวไม่ได้มาร่วมรับรู้ตื้นลึกหนาบางและกระบวนการคำนวณรายได้ในช่วงมาตรการเยียวยาด้วยแม้แต่น้อย
นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าสังเกตว่าตัวเลขรายได้นำส่งรัฐของการใช้คลื่น 900 ที่กทค.มีคำสั่งให้เอไอเอสจ่ายเข้ารัฐที่มีระยะเวลาเยียวยา 8 เดือนจาก 1 ต.ค.58- 30 มิ.ย.59 มีวงเงินสูงถึง  7,221 ล้านบาทเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้นำส่งรัฐของทรูมูฟจากการใช้คลื่น 1800 MHz ที่สำนักงาน กสทช.คำนวณออกมาได้เพียงแค่ 3,900 ล้านบาท ทั้งที่มีระยะเวลาเยียวยานานถึง 2 ปี และฐานลูกค้าทั้งสองรายในช่วงสิ้นสุดสัมปทานก็ใกล้เคียงกันคือ 17-18 ล้านเลขหมาย แต่ตัวเลขกลับแตกต่างกันลิบลับ จนก่อให้เกิดการวิพากษ์กันอย่างหนักสำนักงาน กสทช.ไปเอาฐานตัวเลขรายได้มาจากไหน
“แค่ตัวเลขที่เคาะโต๊ะออกมาก็มีความไม่ชอบมาพากลแล้ว เป็นไปได้อย่างไรที่รายได้นำส่งรัฐของคลื่น 900 ที่เยียวยาแค่ 8 เดือนสูงกว่า 7,200ล้านบาท แต่รายได้ของการใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz ที่เยียวยามากว่า 2 ปีแต่กลับมีรายได้แค่ 3,900 ล้านบาทเท่านั้น แค่นี้ก็เห็นถึงความผิดปกติแล้ว หากบอร์ดกทค.ไปยึดถือเอาฐานการคำนวณของสำนักงานกสทช.ที่ไม่มีที่มาที่ไปก็เชื่อแน่ว่าคงจะโดน สตง.และป.ป.ช.สอบกราวรูดแน่”