มวยถูกคู่ “รฟม. VS องค์กรต้านโกง” ใครของจริง ?

0
63

ดร.สามารถ”ขานรับองค์กรต้านโกงเคลื่อนไหวจี้นายกฯ ไล่เช็กบิล รฟม.หลังประมูลสายสีส้ม ส่อพิรุธส่วนต่างแพงขึ้น 6.8 หมื่นล้าน พร้อมชักชวนคนไทยร่วมกดดันหาผู้รับผิดชอบ

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ วิศวกรผู้เชี่ยวชาญโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และรองหัวหน้าพรรค ประชาธิปัตย์โพสต์ “ใครของจริง ? รฟม. ปะทะ องค์กรต้านโกงกรณีส่วนต่าง 6.8 หมื่นล้าน ประมูลสายสีส้ม “ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

น่าดีใจที่องค์กรต้านโกงออกโรงเรียกร้องให้นายกฯ ตรวจสอบการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ทำให้รัฐต้องจ่ายค่าก่อสร้างแพงขึ้นถึง 6.8 หมื่นล้าน พร้อมชักชวนให้คนไทยทุกภาคส่วนร่วมกันกดดันให้ผู้เกี่ยวข้องกับการประมูลที่ฉาวโฉ่ยืดอกแสดงความรับผิดชอบ !

1.องค์กรต้านโกงเกี่ยวข้องกับการประมูลสายสีส้มอย่างไร ?
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ลงนามในข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) กับผู้เข้าร่วมประมูล และผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT (Anti-Corruption Organization of Thailand) ภายใต้โครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

ข้อตกลงคุณธรรมเป็นการตกลงร่วมกันระหว่าง รฟม.กับผู้เข้าร่วมประมูลว่าจะไม่กระทำการทุจริตในการประมูล โดยมีผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมสังเกตการณ์ทุกขั้นตอนตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำร่างขอบเขตของงาน (ร่างทีโออาร์) ร่างประกาศเชิญชวน จนถึงขั้นตอนสิ้นสุดการประมูล

ผู้สังเกตการณ์เป็นบุคคลภายนอกหรือภาคประชาสังคมที่มีความเชี่ยวชาญ ความรู้ และประสบการณ์ซึ่งจำเป็นต่อการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม และจะต้องมีความเป็นกลาง ไม่มีส่วนได้เสียกับการประมูล

2.ผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต้านโกงพบสิ่งผิดปกติในการประมูลสายสีส้มหรือไม่ ?
ในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ผู้สังเกตการณ์จาก ACT ซึ่งมีจำนวน 5 คน ได้ทักท้วงการประมูลในประเด็นที่น่ากังขาดังต่อไปนี้หรือไม่ ?

(1) ในระหว่างการประมูลครั้งที่ 1 รฟม. เปลี่ยนเกณฑ์ประมูลตามคำขอของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD หลังจาก ITD ได้ขอให้เปลี่ยนเพียงแค่ 2 สัปดาห์ ทั้งๆ ที่ รฟม. ได้ใช้เวลาศึกษามาอย่างละเอียดรอบคอบถึงเกือบ 2 ปี การใช้เกณฑ์ใหม่เอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่ ?

(2) การเปลี่ยนเกณฑ์ประมูล ทำให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาว่า การเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ รฟม. ไม่เห็นด้วย จึงอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ยังไม่ทันที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งลงมา รฟม. ได้ชิงล้มการประมูลไปก่อน ทำให้ BTSC ฟ้องต่อศาลปกครองกลางอีกคดีหนึ่ง ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาว่า คำสั่งยกเลิกการประมูลเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ รฟม. เพิกถอนคำสั่ง แต่ รฟม. ไม่เพิกถอนคำสั่งนั้นกลับเดินหน้าเปิดประมูลใหม่หรือประมูลครั้งที่ 2 เหตุใด รฟม. จึงไม่เพิกถอนคำสั่ง แล้วกลับไปดำเนินการประมูลครั้งที่ 1 ให้แล้วเสร็จ ?

(3) การประมูลครั้งที่ 2 รฟม. ได้ปรับแก้คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลและเกณฑ์การให้คะแนน ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่าเอื้อประโยชน์ และ/หรือ กีดกันเอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่ ? เช่น

ก. กำหนดคุณสมบัติของผู้รับเหมาให้สามารถเข้าร่วมประมูลได้ยากขึ้นกว่าการประมูลครั้งที่ 1 ทำให้ BTSC ที่เคยยื่นประมูลร่วมกับบริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ในครั้งที่ 1 ไม่สามารถเข้าประมูลในครั้งที่ 2 ได้ เนื่องจาก STEC ซึ่งเคยมีคุณสมบัติครบในการประมูลครั้งที่ 1 กลับมีคุณสมบัติไม่ครบในการประมูลครั้งที่ 2 เพราะมีการปรับแก้คุณสมบัติของผู้รับเหมาให้เข้าร่วมประมูลได้ยากขึ้น เหตุใด รฟม. จึงปรับแก้คุณสมบัติของผู้รับเหมาให้เข้าร่วมประมูลได้ยากขึ้น ?

ข. ลดคุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าลง ทำให้ Incheon Transit Corporation หรือ ITC จากเกาหลีใต้สามารถเข้าร่วมประมูลกับ ITD ได้ หาก ITC ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ ITD จะหาผู้เดินรถไฟฟ้ารายอื่นมาร่วมประมูลได้หรือไม่ ? เหตุใด รฟม. จึงลดคุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าลง ไม่เพิ่มคุณสมบัติขึ้นเหมือนผู้รับเหมา หรือคงคุณสมบัติไว้เหมือนเดิมเป็นอย่างน้อย ?

ค. ITD มีกรรมการคนหนึ่งได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก จึงเกิดคำถามว่า ITD มีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนหรือไม่ ? โดยเอกชนที่มีลักษณะดังกล่าว “ไม่มีสิทธิ์” ได้รับคัดเลือกเป็นคู่สัญญาร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนตาม พรบ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 แต่เหตุใด รฟม. จึงพิจารณาให้ ITD ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ ?

ง. ให้ผู้รับเหมาเป็นผู้นำกลุ่มผู้ยื่นข้อเสนอได้ ทำให้ ITD สามารถเป็นผู้นำกลุ่ม ITD Group ซึ่งประกอบด้วย ITD และ ITC ได้ หาก ITD ไม่สามารถเป็นผู้นำกลุ่ม ITC จะยอมเป็นผู้นำกลุ่มหรือไม่ ? ทั้งนี้ ผู้นำกลุ่มจะต้องถือหุ้นมากที่สุด และไม่น้อยกว่า 35%

จ. เพิ่มคะแนนผ่านเกณฑ์ด้านเทคนิคให้สูงขึ้นกว่าครั้งที่ 1 และสูงกว่าโครงการอื่นที่ก่อสร้างในพื้นที่เดียวกัน ใช้เทคนิคการก่อสร้างเหมือนกัน ทำให้เป็นที่สงสัยว่ามีการกีดกันเอกชนรายใดรายหนึ่งไม่ให้ผ่านเกณฑ์เทคนิคหลังจากผ่านเกณฑ์คุณสมบัติมาแล้วหรือไม่ ?

ฉ. จากการเปรียบเทียบการประมูลครั้งที่ 1 กับครั้งที่ 2 ทำให้รัฐต้องจ่ายค่าก่อสร้างแพงขึ้นถึง 6.8 หมื่นล้านบาท จึงเกิดคำถามว่าการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วยปกป้องผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและประเทศชาติหรือไม่ ?

3รฟม. และองค์กรต้านโกง ต้องทำอย่างไร ?
ACT ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีตรวจสอบการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ถึง 6.8 หมื่นล้านบาท พร้อมชักชวนให้คนไทยทุกภาคส่วนร่วมกันกดดันให้ผู้เกี่ยวข้องกับการประมูลที่ฉาวโฉ่ยืดอกแสดงความรับผิดชอบ

แต่ รฟม. โต้ ACT ว่า รฟม. ไม่ได้รับรายงานผลการสังเกตการณ์ของผู้สังเกตการณ์จาก ACT ที่ชี้ให้เห็นว่า รฟม. มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต หาก ACT ได้รับรายงานดังกล่าวก็ควรส่งให้ รฟม.

ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้สาธารณชนหายเคลือบแคลงสงสัย รฟม. และ ACT ควรพิจารณาดำเนินการดังนี้
(1) รฟม. ควรเปิดเผยรายงานการประชุมให้เห็นว่ามีการทักท้วงจากผู้สังเกตการณ์หรือไม่ ?
(2) ACT ควรเปิดเผยความเห็นของผู้สังเกตการณ์ต่อการประมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นตามข้อ 2 ดังกล่าวข้างต้น
(3) กรณีคุณสมบัติของ ITD ซึ่งอาจขัดหรือแย้งกับประกาศของคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนดังกล่าวข้างต้น รฟม. เคยให้ข่าวว่า จะสอบถามไปยังคณะกรรมการฯ ถึงเวลานี้ รฟม. ควรเปิดเผยความเห็นของคณะกรรมการฯ ว่ามีความเห็นอย่างไร ?

หมายเหตุ : ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วย เจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง