เมื่อไหร่จะเลิกเถียง LPG หรือ NGV ดีกว่ากัน?

0
561

44255181742

แม้เส้นทางการจ่อปรับขึ้นราคาภาษีสรรพสามิตก๊าซ LPG ภาคขนส่ง ที่กระทรวงพลังงานคอยตั้งการ์ดฟุตเวิร์คอยู่ข้างเวทีมาตั้งแต่ปีมะโว้แล้ว เล่นโชว์สเต็ปเชิงมวยขั้นเทพขู่ชาวบ้านชาวช่องตาดำๆไปวันๆ จนชาวบ้านชาวช่องบอกจะขึ้นก็รีบขึ้นซะให้รู้แล้วรู้รอดสมปรารถนาพระเดชพระคุณท่านเถอะครับเจ้านาย!!!

ขณะที่การถกเถียงของชาวบ้านชาวช่องผุ้หาเช้ากินเช้าอีกวันเกี่ยวข้อดี-ข้อเสียระหว่างก๊าซ LPG กับ NGV อันไหนดีกว่ากัน คุ้มค่ากว่ากัน ปลอดภัยกว่ากัน ฯลฯ ยังเป็นการถกเถียงที่ยังไร้ข้อสรุป เพราะทั้ง 2  อย่างต่างมีจุดเด่น-ด้อยต่างกันไป เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้เกิดการ “ตื่นรู้”  ปีศาจขนส่ง ใคร่นำเสนอข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ มหากาพย์ LPG VS NGV ดังต่อไปนี้

ก๊าซธรรมชาติ  (Natural Gas for Vehicle) หรือ NGV เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนซึ่งมีองค์ประกอบของก๊าซมีเทน (Methane) เป็น ส่วนใหญ่ จึงเป็นก๊าซที่มีน้ำหนักเบากว่าอากาศ การขนส่งไปยังผู้ใช้จะขนส่งผ่านทางท่อในรูปก๊าซภายใต้ ความดันสูง จึงไม่เหมาะสำหรับการขนส่งไกลๆ หรืออาจบรรจุใส่ถังในรูปก๊าซธรรมชาติอัดโดยใช้ความดันสูง หรือที่เรียกว่า CNG แต่ปัจจุบันมีการส่งก๊าซธรรมชาติในรูปของเหลวโดยทำก๊าซให้เย็นลงถึง –160 องศา เซลเซียส จะได้ของเหลวที่เรียกว่า Liquefied Natural Gas หรือ LNG ซึ่งสามารถขนส่งทางเรือไปที่ไกลๆ ได้ และเมื่อถึงปลายทางก่อนนำมาใช้ก็จะทำให้ของเหลวเปลี่ยนสถานะกลับเป็นก๊าซอย่างเดิม ก๊าซธรรมชาติมีค่า ออกเทนสูงถึง 120 RON จึงสามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในยานยนต์ได้

ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ( Liquefied Petroleum Gas) หรือLPG  เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอน ซึ่งมีองค์ประกอบของก๊าซโพรเพน (Propane) เป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นก๊าซที่หนักกว่าอากาศ โดยตัว LPG เองไม่มีสี ไม่มีกลิ่นเช่นเดียวกับก๊าซธรรมชาติ แต่เนื่องจากเป็นก๊าซที่หนักกว่าอากาศจึงมีการสะสมและลุกไหม้ได้ง่าย ดังนั้น จึงมีข้อกำหนดให้เติมสารมีกลิ่น เพื่อเป็นการเตือนภัยหากเกิดการรั่วไหล LPG ส่วนใหญ่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือนและกิจการอุตสาหกรรม โดยบรรจุเป็นของเหลวใส่ถังที่ทนความดันเพื่อให้ขนถ่ายง่าย นอกจากนี้ ยังนิยมใช้แทนน้ำมันเบนซินในรถยนต์ เนื่องจากราคาถูกกว่า และมีค่าออกเทนสูงถึง 105 RON

LPG เป็นก๊าซชนิดเดียวกันกับก๊าซหุงต้ม ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทยไม่สามารถผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศได้ทั้งหมด จนเริ่มมีการนำเข้าบ้างแล้ว ในขณะที่ก๊าซ NGV ประเทศไทยมีศักยภาพในการขุดเจาะจากแหล่งต่าง ๆ ภายในประเทศเพื่อนำมาใช้ได้อย่างเพียงพอ ประกอบกับได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ ดังนั้น หากมองเฉพาะจุดแข็งเรื่องราคากันแล้วในระยะยาว NGV น่าจะมีภาษีดีกว่า LPG แต่ปัญหาในระยะสั้น ก็คือ ปริมาณสถานีบริการ NGV ยังมีน้อย ไม่เพียงพอต่อการให้บริการ ดังนั้น ในระยะสั้น นี่ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยในการตัดสินใจเลือกก๊าซสำหรับรถยนต์ของคุณ แต่ในระยะยาว กับทิศทางนโยบายของภาครัฐแล้ว ก็ไม่แน่ว่าปัญหานี้จะบรรเทาเบาบางลง
กล่าวโดยสรุปก็คือ หากจะติดตั้งระบบแก๊สในรถยนต์ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ ชนิดของก๊าซที่จะเลือกใช้ โดยมีปัจจัยเรื่องแรงอัดที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ราคาค่าติดตั้งเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาในขั้นถัดมา และมีราคาก๊าซในระยะยาวเป็นตัวแปรสำคัญในการตัดสินใจ ระยะสั้น LPG มีความเหมาะสมกว่าหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านค่าติดตั้งที่ถูกกว่า มีปั๊มให้เติมเยอะ สะดวกสบาย ระยะทางต่อถังวิ่งไกลกว่า 3 เท่าตัว แต่มองกันยาวๆ แล้ว NGV จะมีภาษีดีกว่าเพราะได้รับการส่งเสริมสนับสนุนอย่างเป็นทางการ อีก 5 ปี 10 ปี น่าจะมีปั๊ม NGV กระจายมากพอ โดยเฉพาะราคาก๊าซจะถูกกว่ามาก และมีการประกาศว่าจะประกันราคากันที่ไม่เกิน 50% ของน้ำมัน

ที่มา:การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย

เมื่อทราบข้อมูลเบื้องต้นนี้แล้ว คงไม่ต้องถกเถียงกันให้เมื่อยตุ้มนะขอรับ หากจะพูดแบบกำปั้นทุบดินให้ฟินตามสมัยนิยมก็คงต้องบอกว่า “เอาที่คุณสบายใจละกัน” แต่หากจะพูดแบบหวังดี(ไม่ประสงค์ร้าย)ก็คงจะบอกว่า “คนจะเจริญก้าวหน้าต้องมีวิสัยทัศน์และมองการณ์ไกล” โอเคจบนะ!