‘สภาผู้ส่งออก’ คาดการณ์ส่งออกปี 2017 เติบโต 3.5%

0
278

นายนพพร เทพสิทธา ที่ปรึกษาสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก แถลงข่าวร่วมกับนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งออก ดร.หลักชัย กิตติพล กรรมการสภาผู้ส่งออก ดร.ชัยชาญ เจริญสุข เลขาธิการสภาผู้ส่งออก และ นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหารสภาผู้ส่งออก ณ ห้องประชุม 1 สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย อาคารลุมพินีทาวเวอร์ ถนนพระราม 4 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 โดยระบุการส่งออกเดือนพฤษภาคม 2560 มีมูลค่า 19,944 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 13.21% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 680,125 ล้านบาท ขยายตัว 11.2% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้การส่งออก 5 เดือนแรกของปี 2560 มีมูลค่า 93,265 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโต 7.21% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้สภาผู้ส่งออก ยังคงคาดการณ์การส่งออกของไทยในปี 2017 จะเติบโตได้3.5% โดยคาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยในช่วง 7 เดือนหลังประมาณ 18,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน จากปัจจัยบวกจากภาพรวมเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของโลกมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ยืนยันจากรายงานพยากรณ์เศรษฐกิจของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้ปรับประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวมของโลก ปี 2017 ขึ้นอีก 0.1% เป็น 3.6% และสอดคล้องกับสถานการณ์ส่งออกในหลายประเทศมีทิศทางเติบโตมากขึ้นอย่างต่อเนื่องนับแต่ปี 2015 เป็นต้นมา โดยเฉพาะเวียดนามและอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังสัญญาณอันตรายจากอัตราเงินเฟ้อในประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร

อย่างไรก็ตาม แม้การส่งออกของไทยจะมีโอกาสขยายตัวได้ 5% แต่มีปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยที่ต้องติดตามและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด รวมถึงหาแนวทางการรับมืออย่างเร่งด่วนประกอบไปด้วย

1. การแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งสำคัญ ซึ่งส่งผลต่อผู้ส่งออกโดยตรงต่อต้นทุนและขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก ซึ่งจากการหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้สภาผู้ส่งออกคาดว่าค่าเงินบาทจะมีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจไทยมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง แต่อาจมีความผันผวนระยะสั้นจากปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทยจำเป็นต้องพิจารณาแนวทางสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ของไทย ให้สามารถเข้าถึงบริการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น โดยมีต้นทุนที่ไม่สูงเกินไป อาทิ การลดค่าธรรมเนียม การเพิ่มวงเงินสำหรับการใช้บริการป้องกันความเสี่ยง เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ผู้ส่งออกมีการใช้บริการป้องกันความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการผลักดันให้มีการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการซื้อขายสินค้ากับประเทศคู่ค้าและประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีความตกลงกันในเรื่องดังกล่าวให้มากขึ้น เป็นต้น

2. สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและราคายางพาราที่จะทรงตัวในระดับต่ำช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่น อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ไม้ยางพารา และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น และมูลค่าการส่งออกในภาพรวม โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ได้รับแรงกดดันจากราคา Shale Oil ตลอดจนการเพิ่มกำลังการผลิตในลิเบีย ไนจีเรีย และสหรัฐอเมริกา ซึ่งสวนทางกับปริมาณน้ำมันสำรองในประเทศอุตสาหกรรมที่เพิ่มสูงขึ้น แสดงให้เห็นว่าการลดปริมาณการผลิตของประเทศผู้ผลิตน้ำมันไม่สัมฤทธิ์ผล นักลงทุนจึงไม่สนใจเก็งกำไร จึงทำให้ราคาน้ำมันดิบตกอย่างรวดเร็ว

3. ความเสี่ยงจากสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ และสถานการณ์การก่อการร้ายในอาเซียนและทั่วโลก

4. ความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่อาจเกิดขึ้นในทันทีทันใด

5. ปัญหาด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ อาทิ ขาดแคลนตู้บรรจุสินค้าสำหรับการส่งออก การเรียกเก็บค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม ค่าธรรมเนียม ค่าซ่อมแซมตู้บรรจุสินค้า และค่าบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศมากขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยบริษัทสายเรือและผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้ส่งออกไม่สามารถส่งสินค้าได้ตรงตามกำหนด ยังส่งผลให้ต้นทุนโลจิสติกส์สำหรับการนำเข้า-ส่งออกปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งสภาผู้ส่งออกจะได้หารือไปยังกระทรวงคมนาคมและกระทรวงพาณิชย์ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป

6. ปริมาณสินค้าคงคลังของประเทศคู่ค้าที่เพิ่มสูงขึ้นจากการสั่งซื้อสินค้าในช่วงปลายปี 2016 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันอาจทำให้มีการสั่งซื้อลดลงในไตรมาส 3 เป็นต้นไป

7. โอกาสในการทำตลาดของธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดเล็ก (MSMEs) ของไทยผ่านระบบ E-Commerce ยังน้อย ซึ่งต้องเร่งรัดพัฒนาตามแนวทาง eTrade for all

โดยสรุป สภาผู้ส่งออกมีข้อเสนอแนะเพื่อผลักดันการส่งออกไทยในครึ่งปีหลังเพื่อให้มีการเติบโตของการส่งออกตามเป้าหมาย ประกอบไปด้วย

1) สนับสนุนให้ผู้ประกอบการประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน โดยการช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงการประกันความเสี่ยงได้ดีมากขึ้น อาทิ การเพิ่มวงเงินสำหรับการใช้บริการป้องกันความเสี่ยง การลดค่าธรรมเนียม เป็นต้น และสนับสนุนให้ใช้เงินบาทในการซื้อขายกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น

2) เร่งแก้ไขปัญหาแรงงานภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะต้องพิจารณาการใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๖๐ ให้สอดคล้องกับการปฏิบัติจริงในภาคอุตสาหกรรม และไม่เป็นอุปสรรคต่อภาคธุรกิจ โดยที่รัฐควรเลื่อนการบังคับใช้ออกไปพร้อมทั้งต้องจัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอต่อความต้องการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว

3) ยกระดับประสิทธิภาพการให้บริการในท่าเรือหลักของประเทศ โดยต้องเร่งพัฒนาระบบ Maritime Single Window และ Automation สำหรับการท างานทั้งระบบ รวมถึงลงทุนสิ่งอำนวยความสะดวก และอุปกรณ์ขนถ่ายสินค้า ให้มีความทันสมัย ท างานได้รวดเร็ว ตลอดจนสนับสนุนให้มีการแข่งขันในการให้บริการภายในท่าเรือ และควบคุมค่าใช้จ่ายให้เหมาะสม เป็นต้น