ย้อนรอยค่าโง่ทางด่วนบูรพาวิถี

0
2220

กลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่ทำให้หน่วยงานรัฐเกือบต้องเสียค่าโง่ “ซ้ำซาก” ….

กับโครงการทางด่วนบูรพาวิถี (บางนา-บางประกง) ที่ไม่รู้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม ไปทำสัญญากับผู้รับเหมาก่อสร้างกันอีท่าไหน ถึงได้ถูกคู่สัญญาเอกชน (กิจการร่วมค้าบีบีซีดี และกลุ่ม ช.การช่าง) ฟ้องนัวเนียจ่อจะทำให้รัฐต้องเสียค่าโง่ “ซ้ำซาก” ขึ้นมาได้

15 ปีก่อนถูกกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหาย จากความล่าช้าในการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างจนทำให้วงเงินก่อสร้างบานปลาย ผู้รับเหมาจึงฟ้องขอชดเชยเอาจาก กทพ. วงเงินรวม 6,200 ล้านบาท และต่อมาคณะอนุญาโตตุลาการที่ทั้งสองฝ่ายแต่งตั้งขึ้น ก็เห็นชอบให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐ คือ กทพ. ต้องจ่ายชดเชยความเสียหายแก่เอกชนเป็นวงเงินรวมกว่า 6,039.89 ล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่ 15 ม.ค. 2543 ที่ยื่นข้อพิพาท (คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ลงวันที่ 20 กันยายน 2544)

แต่ที่รัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ในอดีตนั้นเห็นความไม่ชอบมาพากล จึงลุกขึ้นมาฟ้อนเงี้ยวคัดง้างคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว พร้อมสั่งให้ กทพ.ต่อสู้คดีค่าโง่นี้ให้ถึงที่สุด (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 5 ก.พ.2545) และท้ายที่สุดศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2549  ยกคำร้องของกิจการร่วมค้าบีบีซีดีที่ยื่นฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับคดีตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7277/2549) โดยศาลเห็นว่าอดีตผู้บริหาร กทพ. ได้ลงนามในสัญญาสัมปทานโครงการโดยมิชอบมาตั้งแต่ต้น จึงไม่มีผลผูกมัดคู่สัญญาและไม่มีสิทธิ์ที่จะมาเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ เพิ่มเติม

หลังคำพิพากษาครั้งประวัติศาสตร์ กิจการร่วมค้า บีบีซีดี กลับพลิกหาช่องทางยื่นฟ้อง กทพ. ต่อศาลแพ่งใหม่อีกครั้ง เมื่อ 11 ก.พ. 51 กล่าวหาว่า กทพ. ได้ “ลาภมิควรได้” อันหมายถึงได้โครงการทางด่วนบูรพาวิถีมาเป็นทรัพย์สินของรัฐ โดยไม่ได้จ่ายค่าเสียหายให้แก่บริษัท ถือเป็นลาภที่มิควรได้ตาม ม.411 จึงฟ้องศาลให้ กทพ. คืนทรัพย์หรือทางพิเศษให้แก่บริษัท แต่เนื่องจากทางพิเศษดังกล่าวได้ตกเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินไปแล้ว จึงต้องให้ กทพ. ชดใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยแก่บริษัทเป็นเงินกว่า 9,683 ล้านบาท ไม่รวมดอกผลอันเกิดจากค่าผ่านทางพิเศษตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 50 เป็นต้นมา จนกว่าจะชดใช้เงินตามฟ้องได้ครบ

กลายเป็นคดีสุด “พิสดาร” จากคดีค่าโง่ทางด่วนที่ กทพ. ชนะคดีพิพาทไม่ต้องจ่ายค่าโง่ 6,200 ล้านบาท ตามคำพิพากษาศาลฎีกา แต่อยู่ดีๆ  กลับทำท่าจะต้องหวนกลับไปจ่าย “ค่าโง่” โครงการเดิมให้แก่คู่สัญญาเอกชนรายเดิมนี้อีกในวงเงินที่นัยว่ายังคงป้วนเปี้ยนอยู่ในราว 6,200 ล้านบาทอีกนั่นแหละ!

แถมวันดีคืนดีศาลแพ่งไม่เพียงจะประทับรับฟ้องคดีความดังกล่าว แต่ยังมีคำพิพากษาให้ กทพ. พ่ายแพ้คดีนี้ (15 กันยา 2554) โดย กทพ. ต้องจ่ายชดเชยแก่บริษัทจากลาภที่มิควรได้นี้กว่า 5,000 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่ 15 ก.พ. 2550 ก่อนที่ กทพ. จะใช้สิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ และทั้งสองฝ่ายได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเจรจาไกล่เกลี่ยตามขั้นตอนของศาลโดยมี พล.ต.อ.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์  บอร์ด กทพ. ในเวลานั้นเป็นประธาน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าอนุกรรมการเจรจาไกล่เกลี่ยที่ว่านี้ ไปเจรจากันอีท่าไหนกันอีกถึงจะให้กทพ.ต้องเสียค่าโง่ไปจนได้

ก่อนที่บอร์ด กทพ.ที่มี พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคมในเวลานั้นเป็นประธานจะมีมติ “หักดิบ” ให้ยุติการเจรจาไกล่เกลี่ยที่ทำท่าจะกลายเป็น “เจรจาเกี้ยเซี้ยะ” พร้อมเดินหน้ายื่นอุทธรณ์แทน เพราะขืนดำเนินการตามแนวทางการเจรจาไกล่เกลี่ยที่อนุกรรมการฯ เสนอ ที่จะให้ กทพ. จ่ายเงินชดเชยให้แก่เอกชนเพื่อยุติคดี ก็มีหวังทั้งบอร์ดและฝ่ายบริหาร กทพ. ได้พาเหรดขึ้นเขียง ป.ป.ช. ยกกระบิแน่

ในเมื่อศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ ยกคำฟ้องของคู่สัญญาเอกชนรายนี้ไปแล้วด้วยเห็นว่า มีการจัดทำสัญญากันอย่างฉ้อฉลไม่ชอบธรรมมาตั้งแต่ต้น จนยังความเสียหายแก่รัฐ แล้วจู่ ๆค่าโง่ ทางด่วน 6,200 ล้านที่ถูก “ปิดประตูลั่นดานไปแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาจะลุกขึ้นมาหลอน กทพ.ได้อย่างไร?  

27 ธันวาคม 56 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษากลับยกฟ้อง กทพ.ไม่ต้องจ่ายค่าโง่ที่ว่าอีกครั้ง ก่อนที่บริษัทจะใช้สิทธิ์ยื่นฎีกา และศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาล่าสุดเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 60  ยืนตามศาลอุทธรณ์ เท่ากับ กทพ. ชนะคดี โดยศาลเห็นว่า พฤติการณ์ของกิจการร่วมค้าบีบีซีดี โจทก์กับพวกถือได้ว่าโจทก์กับพวกทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างกับ กทพ. จำเลย โดยไม่สุจริตมาตั้งแต่ต้น โจทก์จึงมีส่วนร่วมในการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เป็นผลให้สัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างไม่มีผลผูกพันจำเลยแม้โจทก์กับพวก จะทำงานตามสัญญาจนเสร็จสิ้น และจะส่งมอบโครงการทางด่วน โดยมีราคาคงที่เพิ่มเติมในภายหลังก็ตาม ราคาคงที่เพิ่มเติมดังกล่าวก็ถือว่าโจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกราคาคงที่เพิ่มเติมและค่าดอกผลจากจำเลยฐานลาภมิควรได้ ตามมาตรา 411

ไม่รู้ว่าจากนี้ไปกลุ่มบริษัทรับเหมาเอกชนรายนี้จะยังมีลูกเล่นอะไรตามมาอีก!!!! 

บทความโดย…เนตรทิพย์