เศรษฐกิจไทยดีจริงหรือ?

0
307
เหลือบไปเห็นการโยนลูก-รับลูก (กระพรวน) กันเป็นปีเป็นขลุ่ย ระหว่างรัฐบาล สภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)
หลังนายกฯ “บิ๊กตู่”และ รองนายกฯ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ออกมาตีปี๊บ สภาเศรษฐกิจโลกถึงกับยกอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยขึ้น 2 อันดับ จากอันดับที่ 34 เป็น 32 ของโลกจากทั้งหมด 137 ประเทศ ตามด้วยข่าวการขยายตัวเพิ่มของจีดีพี (GDP) และการส่งออกที่ขยายตัวสูงสุดในรอบ 55 เดือน
ฟากเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ออกมารับลูกยืนยันแนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเกินกว่ากรอบที่สศช.คาดการณ์ไว้ที่ 3.3-3.8% โดยจีดีพีจะขยายตัวมากกว่า 3.5% รวมถึงการส่งออกที่มีโอกาสสูงกว่ากรอบเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.6% โดยมีแนวโน้มขยายตัวระดับ 5%ได้ ยังผลให้ สศช.ต้องปรับประมาณการเศรษฐกิจในปี 2560 นี้ขึ้นจาก 3.5-4.0 เป็น 4.0%  
ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ก็ออกมาตีปี๊บตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปีนี้กำลังดีวันดีขึ้น โดยประเมินว่าจะเติบโตเฉลี่ยเป็น 3.5% จากที่เคยประเมินไว้เดิมที่ 3.4% และในปีหน้า 2561 จะเติบโตต่อเนื่องข้ึนเป็น 3.7%จากที่ประเมินไว้เดิม 3.6% จากปัจจัยหนุนทั้งการส่งออก และการลงทุนของภาครัฐ
ท่ามกลางข้อกังขาของประชาชนโดยส่วนใหญ่ หากเศรษฐกิจไทยดีจริงทำไมผู้คนยังคงไม่จับจ่ายใช้สอย ยังต้องแบมือขอให้รัฐเข้าไปช่วย พ่อค้าแม่ค้ายังคงตาละห้อยกับการทำมาค้าขายที่ดูจะยัง “ไม่กระเตื้อง”แถมล่าสุดรัฐบาลยังต้องงัด “บัตรสวัสดิการ” ให้ผู้มีรายได้น้อยจำนวน 11.4 ล้านคน ให้จับจ่ายซื้อสินค้าครองชีพ 200-300 บาทผ่านร้านธงฟ้าประชารัฐออกมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าเข้าไปด้วยอีก!
สอดคล้องกับข้อมูลของลัดดา สำเภาทอง นายกสมาคมการค้าธรกิจอาหาร ที่ระบุว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ธุรกิจร้านอาหารมีการปิดตัวไปแล้วกว่า 1,300 ร้านเพิ่มขึ้นจากปี 2559 เป็นเท่าตัวและคาดทั้งปีร้านอาหารจะทยอยปิดตัวลงไม่น้อยกว่า 2,300 ร้าน จากปัจจัยลบเศรษฐกิจที่ยังคงมีอยู่ ทำให้ผู้คนกินข้าวนอกบ้านน้อยลง  แถมยังมาเจอกฎหมายจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวซ้ำเติมเข้าไปอีก  
ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาแสดงความกังวลต่อปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยปีนี้ที่ดูจะสวนทิศกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และยังสอดคล้องกับที่คุณวีรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมนักลงทุนไทย ที่ออกมาสัพยอกเรื่องนี้ว่า จีดีพีที่ขยายตัว 3% นั้นมันไปโตที่การส่งออกกับท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ในส่วนของกิจการเอสเอ็มอี นั้นต่างกำลังหืดจับหายใจไม่ท่ัวท้องไปตามๆกัน ปิดไปก็หลายร้านแล้ว หนี้เสียของเอสเอ็มอีกำลังเพิ่มขึ้น ก่อนจะมีการตั้งคำถาม… 
ทำไมตัวเลขเศรษฐกิจดี แต่ชาวบ้านบอกไม่มีเงินใช้!!! 
เรื่องของการขยายตัวทางเศรษฐกิจน้ัน ที่ผ่านมารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนคนไทยเราเองยังคงติดยึด” อยู่กับตัวเลขอัตราการขายตัวทางเศรษฐกิจหรือ GDP Growth เป็นหลัก หากรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศชุดใดไม่สามารถขับเคลื่อนหรือผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวเป็นบวกได้ ก็มักถูกโจมตีว่าไร้ผลงานหรือไร้ฝีมือ และมักถูกกดดันให้ต้องปรับเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบ แม้แต่รัฐบาล คสช.ชุดนี้ก็เคยเปลี่ยน “ม้ากลางศึก” เปลี่ยนทีมเศรษฐกิจกันยกกระบิกันมาหนแล้ว เพราะไม่สามารถผลักดันนโยบายขับเคลื่อน กระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามเป้าหมาย
นี่ก็แว่วๆ มาอีกว่าหลังผ่านพ้นงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ไปแล้ว รัฐบาล คสช.จะมีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหญ่ตามมาอีกระลอก!
ในตำราเศรษฐศาสตร์ที่ รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์มหภาค ของสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ หรือ “นิด้า” ได้พร่ำสอนลูกศิษย์ลูกหามาโดยตลอดนั้นได้ระบุ นิยามความหมายของเศรษฐกิจดีนั้น ไม่ได้หมายความแต่เฉพาะเศรษฐกิจมีการขยายตัวหรือมีGrowth อย่างเดียว 
อาจารย์มนตรีบอกเลยว่าเศรษฐกิจดีต้องมี SEG (Not SEX) คือ มีท้ัง G-Growth, E-Equality และ S-Sustainability คือ มีทั้งการเติบโต กระจายรายได้ และมีความยั่งยืน ขาดอย่างหน่ึงอย่างใดไปก็เกิดปัญหา เหมือนอย่างที่บ้านเรากำลังเผชิญคือมุ่งแต่จะ Growth อัดฉีดการลงทุนภาครัฐหวังปั๊มเศรษฐกิจให้เติบโตจนละเลยปัญหาการกระจายรายได้ ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้จนเกิดปัญหา “รวยกระจุก จนกระจาย” ตามมา
แม้แต่บัตรสวัสดิการคนจน” ที่ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย 11.4 ล้านไปรูดบัตรซื้อสค้าจำเป็นในร้าน ธงฟ้าประชารัฐ”อะไรนั่นแม้อาจช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้คนได้ก็จริง แต่หากจะถามว่า มีส่วนในการกระจายรายได้ หรือทำให้เงินหมุนเวียนในท้องถิ่นได้จริงและยั่งยืนดังตาราเศรษฐาสตร์อาจารย์มนตรีข้าต้นหรือไม่นั้น คำตอนั้นทุกฝ่ายรู้แก่ใจกันดี 
มันจะไปกอบกู้ “ช่วยโชห่วย”ในท้องถิ่นได้อย่างไร เพราะโชห่วยกว่า  500,000 รายที่ถูกเลือกให้เข้าร่วมโครงการนี้มีอยู่แค่หลัก 20,000-30,000 รายหรือราว 10% เท่านั้น อานิสงไม่ได้ลงตกไปถึงผู้ประกอบการฐานรากอย่างที่ตั้งใจกัน แถมยังต้อมาลุ้นกันอีกมาตรการที่ว่าจะยั่งยืนหรือไม่ หรือจะเป็นแค่มาตรการ “ไฟไหม้ฟาง”อีก!!!
ยิ่งไปกว่าน้ัน การที่บัตรสวัสดการคนจน” ถูกกำหนดให้ต้องนำไปรูดซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพซึ่งล้วนอยู่ในมือของผู้ผลิตไม่กี่รายจนถูกสัพยอกว่าเป็นการช่วย เศรษฐีเพราะเงินก้อนนี้จะกระจุกอยู่กับผู้ผลิตรายใหญ่ไม่ได้กระจายสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริงนั้น มันยิ่งเปนเครื่องตอกย้ำความบิดเบี้ยวแห่งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ 
จึงไม่แปลกที่ใครต่อใครจะสัพยอกเอาว่า มาตรการและนโยบายของรัฐยัง “เกาไม่ถูกที่คัน”
 บทความโดย : เนตรทิพย์
Cr.ภาพประกอบจาก http://www.ddproperty.com