ภาษี e-Commerce ทางออกของปัญหาการค้าออนไลน์ จริงหรือ..?

0
2358

การขายของออนไลน์ หรือ e-Commerce เป็นช่องทางการขายที่มีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน โดยสามารถทำได้ง่าย เปิดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่สำคัญยังสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้รวมเร็วและในปริมาณที่มากอีกด้วย ผนวกกับยังมีระบบการชำระเงินแบบ e-Payment ที่สะดวกทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ ซึ่งเมื่อดูมูลค่าของการทำธุรกรรมของธุรกิจออนไลน์ จะเห็นได้ว่ามีมูลค่าการค้าขายที่สูงถึงหลักหลายล้านบาทเลยทีเดียว

จากเหตุปัจจัยดังกล่าวจึงทำให้ภาครัฐออกมาตรการในการจัดเก็บภาษีอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อไม่ให้เกิดช่องโหว่ในการขายของที่ผิดกฎหมาย จึงทำให้ทางกรมสรรพากรได้จัดทำกฎหมายภาษีธุรกิจออนไลน์ (e-Commerce) ยื่นเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อทำให้การค้าขายออนไลน์เข้ามาสู่ระบบ และตรวจสอบได้มากขึ้น

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ ตลาดดอทคอม (Tarad.com) และนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย สะท้อนมุมมองเรื่องของการจัดเก็บภาษี e-Commerce ที่ภาครัฐกำลังจะดำเนินการให้ ทีมงานนิตยสาร Logistics Time ว่า เมื่อพูดถึงการค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์ หรือ e-Commerce ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีอัตราการค้าขายที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น ทั้งนี้อาจเนื่องมากจากเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้การทำธุรกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการซื้อ-ขายสินค้าประเภทต่างๆ ทำได้อย่างรวดเร็ว และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จึงส่งผลให้มีเม็ดเงินในระบบการค้าผ่านทาง e-Commerce มีปริมาณที่สูง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กรมสรรพากร เล็งเห็นถึงการจัดเก็บภาษีจากกลุ่มบุคคลเหล่านี้

“ทั้งนี้การขายของผ่านช่องทาง e-Commerce จะว่าไปแล้วมันที่ผ่านมามันไม่ได้มีภาษี e-Commerce เกิดขึ้น เพียงแต่ในปัจจุบันโลกของ e-Commerce มีผู้คนเข้ามาทำธุรกิจ เข้ามาค้าขายสินค้ากันมากขึ้น และเมื่อขายดีขึ้น หลายๆ คนไม่ทราบว่ารายได้ที่เกิดจากการขายของผ่านช่องทาง e-Commerce จะต้องมีการนำไปชี้แจงให้สรรพากรรับทราบ ดังนั้นมันก็เลยกลายเป็นว่าคนที่ทำธุรกิจผ่านออนไลน์หลายคนได้เงินมาก็ไม่ไปชี้แจงรายได้กับภาครัฐเพราะคิดว่าไม่ต้องชี้แจง ตรงนี้มันก็เลยกลายมาเป็นปัญหาที่ทำให้ภาครัฐมองว่าในเมื่อคุณขายของแล้วมีรายได้เยอะ แต่ทำไมถึงไม่นำรายได้ดังกล่าวมาชี้แจงกับสรรพากร จึงเป็นเหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐต้องเข้ามากำหนดมาตรการการจัดเก็บภาษี e-Commerce นั่นเอง

ซึ่งหากถามว่าการจัดเก็บภาษีดังกล่าวถูกต้องแล้วหรือไม่ เรื่องนี้หากมองให้ดีจะเห็นได้ว่าผู้ค้าควรจะต้องทำให้ถูกต้องตามที่กฎหมายได้กำหนดเอาไว้ เพราะเมื่อขายของแล้วมีรายได้เข้ามา ก็ควรที่จะไปชี้แจงต่อสรรพากรว่ามีรายได้ในส่วนดังกล่าวเกิดขึ้นมาจากการค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มผู้ค้าออนไลน์ออกได้เป็น 2 กลุ่มด้วยกัน นั่นก็คือ ในกลุ่มแรกเป็นกลุ่มคนที่ไม่รู้เรื่อง แต่ก็พร้อมที่จะทำตามที่ภาครัฐต้องการให้สำแดงรายได้ อีกกลุ่มคือกลุ่มคนรู้ แต่ไม่อยากจ่าย ไม่ยอมจ่ายภาษีให้แก่รัฐ ฉะนั้นจากประเด็นที่กล่าวไปในเบื้องต้นในเรื่องของการจัดเก็บภาษี e-Commerce จึงไม่ได้เป็นเรื่องใหม่แต่อย่างใดและไม่ได้มีอะไรที่แตกต่างจากการเสียภาษีในรูปแบบของภาษีบุคคลธรรมดา หรือภาษีนิติบุคคล เพียงแต่ว่ามันเกิดขึ้นขึ้นกับกลุ่มธุรกิจใหม่บนโลกออนไลน์ ซึ่งคนเหล่านี้ไม่รู้มากกว่า”

พร้อมเสนอสิทธิทางภาษีแก่ผู้ประกอบการ

กรรมการผู้จัดการ Tarad.com อธิบายต่อไปอีกว่า สำหรับเรื่องของภาษี e-Commerce ในมุมมองของภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์ มองว่ามาตรการเรื่องการจัดเก็บภาษีดังกล่าว ภาครัฐพยายามที่จะดำเนินการอยู่ ซึ่งตรงนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงก็คือ กรมสรรพากร ควรจะเข้ามาพูดคุยสื่อสารให้ผู้ประกอบการมีความเข้าใจมากกว่านี้ เพราะปัจจุบันการสื่อสารของสรรพากรจะถูกตีความไปในรูปแบบของเชิงลบ ซึ่งเมื่อเอ่ยถึงสรรพากรคนส่วนใหญ่ก็จะกลัว ดังนั้นการออกมาพูด การอธิบายให้เข้าใจในเรื่องของภาษีจึงควรพูดออกมาในรูปแบบที่เป็นเชิงบวกที่ทำให้ผู้ประกอบการเห็นว่าเขาจะได้รับอะไรจากการจัดเก็บภาษีดังกล่าว

“ยกตัวอย่างให้มองเห็นภาพเชิงบวก อย่างเช่น โครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวเมื่อไปท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ รวมไปถึงการเข้าพักยังโรงแรมหรือที่พัก ก็ให้นำบิลดังกล่าวมาเบิกได้ หรืออาจจะนำมาใช้ในการลดค่าใช้จ่ายได้ ตรงนี้มองว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจและผู้คนก็จะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นใครที่ซื้อสินค้าออนไลน์ก็สามารถที่จะนำใบเสร็จต่างๆ มาใช้เพื่อการลดหย่อนภาษี มาตรการดังกล่าวก็จะเป็นอีกมาตรการที่ทำให้ผู้ซื้อสินค้าออนไลน์เป็นตัวขับเคลื่อนผู้ขายให้ต้องเข้ามาสู้ระบบที่ภาครัฐกำหนด รวมไปถึงยังเป็นการกระตุ้นในเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น หากซื้อสินค้าออนไลน์ จากที่เคยต้องเสียภาษีอยู่ที่ 7% ก็อาจจะลดลงมาเหลือ 5% เรียกว่าได้รับสิทธิทางภาษี

ดังนั้นจึงมองว่าในส่วนที่กล่าวไปแล้วนั้นจะเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการที่ทำผิดหันมาเข้าสู้ระบบมากยิ่งขึ้น ซึ่งมันย่อมดีกว่าที่จะไปไล่ตามจับตามเก็บกลุ่มคนขายของออนไลน์ เพราะอย่างไรก็คงไม่สามารถที่จะตามจับได้หมดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นภาครัฐจึงควรจะต้องมีมาตรการในการสื่อสารที่มันถูกวิธี ไม่ใช่จะใช้บทลงโทษไปจัดการกับกลุ่มผู้ค้าขายในช่องทางออนไลน์”

บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ในเรื่องของการสนับสนุนผู้ประกอบการให้หันมาใช้รูปแบบการค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์ให้เพิ่มมากขึ้น หน่วยงานภาครัฐที่ให้การส่งเสริมในเรื่องดังกล่าว อย่างกระทรวงพาณิชย์ ถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มุ่งส่งเสริมเรื่องดังกล่าวมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน อย่างจะเห็นได้จาก เว็บไซต์ thaitrade.com ที่ทางกระทรวงได้จัดทำขึ้นมา เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการขายสินค้าออนไลน์ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

“สำหรับกรณีของการส่งเสริมการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ กระทรวงพาณิชย์ เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทเป็นอย่างมากกับเรื่องเหล่านี้ โดยได้มีการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือ SMEs ให้นำสินค้ามาลงในเว็บไซต์ thaitrade.com เพื่อเป็นช่องทางในการจำหน่ายสินค้า แต่ในขณะเดียวกันทางกรมสรรพากร ก็จ้องที่จะเก็บภาษีจากกลุ่มบุคคลเหล่านี้ ซึ่งมุมมองส่วนตัวเห็นว่า ภาครัฐแต่ละหน่วยงานต่างคนต่างทำงานที่แยกจากกันอยู่แล้ว ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้ไม่ค่อยที่จะพูดคุยกัน หรือร่วมมือกันสักเท่าไหร่ ซึ่งจะว่าไปแล้ว ทั้งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ต่างก็พยายามที่จะกระตุ้นเรื่องของ e-Commerce แต่ทางสรรพากรก็พยายามที่จะมาจับในส่วนนี้ ก็เลยกลายเป็นว่ามองนโยบายไปคนละทางกัน         

เพราะฉะนั้นการที่เราเป็นภาคเอกชน เวลาไปคุยกับหน่วยงานของรัฐ ก็ไม่อยากที่จะพูดถึงสรรพากร พูดเรื่องการเสียภาษีมากนัก เพราะหากพูดมากเกินไป ภาครัฐก็อาจจะมองว่าเอกชนไม่อยากเข้าสู่ระบบ ไม่อยากทำตามกฎระเบียบที่ได้กำหนดเอาไว้  เช่น ผู้ค้าบางคนมียอดขายที่ดี ก็ไม่อยากที่จะเข้าระบบ แต่หากสรรพากรมาจับส่วนใหญ่ก็จะใช้วิธีการปิดธุรกิจนั้นไป ทั้งนี้ถามว่าการปิดธุรกิจของผู้ค้าออนไลน์ส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง ธุรกิจที่มียอดขายที่ดีก็จะย้ายไปขายเมืองนอก ไม่ว่าจะเป็นการขายบน eBay หรือช่องทางออนไลน์อื่นๆ ซึ่งรัฐจับไม่ได้

ตรงนี้ก็จะกลายเป็นผลร้ายที่จากเดิมที่เราพอเห็นข้อมูลในส่วนนี้ก็จะกลายเป็นไม่เห็นข้อมูลมูลค่าในการซื้อขายเลย เพราะฉะนั้นภาครัฐแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำงานให้ใกล้ชิดกันมากกว่านี้ ดังนั้นหน่วยงานของรัฐอาจจะต้องมีแผนทางด้าน e-Commerce ที่เป็นกรอบอย่างชัดเจน และดูว่าแต่ละคนจะทำหน้าที่อะไรเพื่อลดความซ้ำซ้อน นอกจากนั้นควรจะมีการเข้ามาพูดคุยกับคณะทำงานกลุ่มใหญ่เสียก่อน คือทำให้เป็นภาพใหญ่ไม่ใช่คนนี้ไปทางอีกคนก็ไปอีกทาง ตรงนี้น่าจะเป็นแนวทางในการดำเนินการเรื่องของภาษี e-Commerce ที่น่าจะดีกว่าการมาไล่ตามจับ”

จี้รัฐเร่งทำความเข้าใจ

อีกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ คงหนีไม่พ้นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพราะถือว่าเป็นจักรกลสำคัญในการกระตุ้นเรื่องของเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะเรื่องของ e-Commerce เพราะฉะนั้นการทำความเข้าใจในเรื่องการใช้เทคโนโลยีเพื่อการค้าขาย จึงเป็นอีกบทบาทที่สำคัญที่จะทำให้ผู้ประกอบเข้าความหมายของคำว่า การทำการค้าบนออนไลน์ได้เป็นอย่างดี

“จริงๆ แล้วบทบาทโดยตรงของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก็คือ การกระตุ้นในเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งส่วนหนึ่งก็คือเรื่อง e-Commerce ซึ่งตรงนี้ทางกระทรวงก็มีหน่วยงานภายใต้ซึ่งเรียกว่า สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) จะเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนด้าน e-Commerce โดยตรง ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องมีการพูดคุยกันในเรื่องของการทำธุรกิจออนไลน์ หรือการจัดเก็บภาษี e-Commerce ถึงแม้จะมีกระทรวงใหม่ขึ้นมาแล้วก็ตาม แต่ถามว่าสรรพากรยังพยายาม ที่จะเดินเกมจับปรับผู้ประกอบการออนไลน์ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้การทำงานของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำได้ยากขึ้น เพราะคนก็จะกลัวเหมือนกัน ตรงนี้คงต้องเร่งสร้างความเข้าใจและพยายามทำให้เป็นนโยบายในเชิงบวกต่อผู้ประกอบการ

หากถามว่าทางภาครัฐจะมีการดำเนินการแก้ไขกฎหมายการเก็บภาษี e-Commerce หรือไม่ ตรงนี้มองว่ายังคงจะใช้กฎหมายเดิมเพียงแต่ว่าปรับวิธีการสื่อสารที่จะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคเข้าใจมากขึ้นมากกว่า ตรงนี้มันไม่ได้เกี่ยวกับตัวบทกฎหมายแต่มันเกี่ยวกับความเข้าใจของประชาชนมากกว่า ฉะนั้นทางสรรพากรเองก็ควรที่จะเข้ามาให้ความรู้ในเรื่องของภาษี e-Commerce ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ คือให้ความรู้และมีนโยบายในเชิงบวกจะเป็นวิธีการที่ดีกว่า ซึ่งตรงนี้จะทำให้ Start Up ที่เกิดขึ้นใหม่ไม่ค่อยกลัวกับเรื่องเหล่านี้สักเท่าไหร่ เพราะเขาโตขึ้นมาอย่างเป็นระบบและเป็นในรูปแบบของบริษัทที่ชัดเจน แต่ที่น่ากลัวก็คือ พ่อค้าแม่ค้าที่ซื้อมาขายไป ขายบนโซเชียลมีเดีย ขายบนช่องทางออนไลน์ พวกนี้มองว่าเป็นกลุ่มที่ใหญ่ เพราะฉะนั้นภาครัฐควรจะทำความเข้าใจและมีนโยบายในเชิงบวกกับกลุ่มที่ยังไม่รู้หรืออาจจะยังเข้าใจผิดเรื่องพวกนี้อยู่”