รมต.ใหม่ “ประยุทธ์ 5”ฟิตจัด!

0
130
รมต..ใหม่ ครม.ประยุทธ์ 5 ฟิตจัด โชว์วิสัยทัศน์การทำงานในระยะ 1 ปีที่เหลือ พลังงานย้ำ 4 ภารกิจเร่งด่วน เกษตรยันแก้ไขปัญหาราคายางรุดหารือคมนาคมใช้ผลิตภัณฑ์ยางทุกรูปแบบ  
รัฐมนตรีในรัฐบาล “ประยุทธ์5” ต่างโชว์วิสัยทัศน์การทำงานหลังทะยอยเข้ากระทรวงวันแรก โดย
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า นโยบายกระทรวงพลังงานในระยะเร่งด่วนที่จะดำเนินการ ใน 4 เรื่องสำคัญๆ ได้แก่  1.การดำเนินงานให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่พลังงานต้องก้าวไปสู่พลังงาน 4.0, 2.การประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุสัมปทานปี 2565-2566 (แหล่งก๊าซธรรมชาติ เอราวัณ-บงกช) เพราะ เป็นปัจจัยสำคัญต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศอย่างมาก จึงต้องมีความชัดเจนในเรื่องนี้  
“การประมูลปิโตรเลียมเอราวัณและบงกชเป็นที่รับทราบในวงกว้างทั้งในและต่างประเทศ หากเรายังไม่สามารถสร้างความมั่นใจได้ว่าประเทศไทยมีเส้นทางที่ชัดเจนในเรื่องของความมั่นคงพลังงาน หรือความไม่คงด้านพลังงานเพราะความไม่ชัดเจนของสัมปทานที่จะหมดอายุ หากไม่ทำให้ได้ข้อยุติโดยเร็วที่สุด ก็เท่ากับว่าจะเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดว่าเรา ไม่สามารถบริหารจัดการอนาคตของเรากันเองได้เลย ซึ่งเรามีกรอบเวลาอยู่แล้ว”
3.ความมั่นคงด้านไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินจะได้หารือกับทุกฝ่ายโดยจะขอเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อที่จะสรุปแนวทางดำเนินการ โดยต้องคำนึงถึงผลกระทบกับและความปลอดภัยของคนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า แต่ขณะเดียวกันความมั่นคงด้านไฟฟ้า มีความสำคัญโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นรายได้หลักของประเทศที่จำเป็นต้องคำนึงถึงด้วย  และ 4.กระทรวงพลังงาน จะทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกๆ กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพลังงาน   
เกษตรปลูกพืชต้องขายได้ 
 นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขอเวลาประมาณ 3 เดือน เพื่อศึกษานโยบายเดิมที่ดีอยู่แล้วเพื่อนำขับเคลื่อนต่อไปภายใต้เป้าหมายในการทำงาน  คือ จะดูแลเกษตรกรให้เดือดร้อนน้อยสุด ในเรื่องการทำการเกษตรแล้วขายไม่ได้ ราคาตกต่ำ โดยราคาผลผลิตด้านการเกษตรจะต้องสูงกว่าต้นทุน และในปี 2561 ชีวิตเกษตรกรจะต้องดีขึ้น 
ส่วนการรับตำแหน่งครั้งนี้โชคดีที่มีรัฐมนตรีช่วย 2 คน คือ นายลักษณ์  วจนานวัช ซึี่งมีประสบการณ์เกี่ยวกับการผลิต จะดูแลด้านการผลิต การตลาด และเรื่องสหกรณ์ ส่วน นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร มีประสบการณ์ในสาขาเกษตรเศรษฐกิจพอเพียงจะดูกรมเกี่ยวกับการส่งเสริม ดูแลเรื่องการน้อมนำเกษตรทฤษฎีใหม่ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 มาสู่เกษตรกรเพื่อเป็นหลักในการปฎิบัติงานและการดำเนินชีวิต 
อย่างไรก็ตามการดำเนินงานช่วง 3 เดือน สิ่งที่จะทำอันดับแรกคือ ดูมาตราการของกระทรวงเกษตรฯ ที่ออกไปว่าได้ผลหรือไม่ เพื่อนำมาขยายผลให้มากขึ้น ส่วนนโยบายไหนที่ยังมีช่องโหว่ก็จะเร่งปรับปรุง รวมทั้งเรื่องปัญหายางพาราที่ค้างอยู่ในสต็อก 100,000 กว่าตัน โดยจากการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่จังหวัดสงขลา ได้มีมติสั่งให้เร่งแก้ไขปัญหาภายใน 3 เดือน โดยให้นำยางพาราที่อยู่ในสต็อก ไปใช้ในหน่วยงานราชการ โดยจะไม่นำยางที่ค้างสต็อกมาขายแข่งในตลาดอย่างแน่นอน
หารือคมนาคมเพิ่มใช้ยางภายในประเทศ
นายลักษณ์ วจนานวัช  รมช.เกษตรฯ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 4 ธ.ค.60  นี้จะรายงานถึงสถานการณ์ยางพาราโดยรวมทั้งหมดตามคำสั่งด่วนของนายกรัฐมนตรี ซึ่งในส่วนของยางพาราไม่อยากให้สังคมมองว่าเป็นพืชทางการเมือง เพราะจะไม่เกิดผลดีใดๆกับเกษตรกรและรัฐบาล แต่การแก้ไขปัญหายางหลังจากนี้ต่อไป จะใช้วิธีการดูแลเกษตรกรเป็นหลัก เพื่อไม่อยากให้กลไกการตลาดมีปัญหา  การดูแลเกษตรกรจะใช้วิธีส่งเสริมให้รวมตัวเป็นสถาบัน หรือองค์กร แปรรูปยางขั้นต้นชะลอการจำหน่ายรูปรูปของน้ำยางที่ได้ราคา ซึ่งปัจจุบันมีวงเงินที่รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุน
“ส่วนยางที่มีอยู่ในต็อก 100,000 ตันนั้นจะนำมาให้หน่วยงานรัฐบาลใช้ โดยวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมาก่อนเข้าพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณ ได้หารือเบื้องต้นกับ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ใช้ยางผสมในแอทฟัล หรือยางมะตอยในการปรับปรุงซ่อมบำรุง สร้างถนน อย่างน้อย 5 %  และหารือกับ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อให้ใช้ยางในการสร้างสนามฟุตซอล และอื่นๆที่สามารถทำได้ ทั้ง สองท่านก็รับปากที่จะดำเนินการ”
ท่องเที่ยวต้อง20%ของGDP
 นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ได้แถลงข่าวในโอกาสเข้าทำงานที่กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เป็นวันแรก ว่าสิ่งที่ตั้งใจไว้คือ การนำรายได้จากการท่องเที่ยวของประเทศซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนถึง 20%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)นับเป็นระดับต้นๆ ของโลก มีส่วนในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประเทศ ซึ่งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีโอกาสทำแบบนี้ได้น้อยมาก ขณะที่รัฐบาลนี้ไม่มีพรรคการเมือง เพราะฉะนั้นการร่วมมือระหว่างหน่วยงานน่าจะดีกว่า จึงมีโจทย์ตั้งต้นว่าโครงสร้างของการท่องเที่ยวจะต้องไม่ใช่การเติบโตเพียงอย่างเดียว แต่ต้องลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ด้วย พร้อมกันนี้ จะต้องมีการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวทั้งระบบด้วยการทำ “คลินิกท่องเที่ยว”  โดยขอให้หน่วยงานต่างๆ ช่วยกันไปเป็นพี่เลี้ยงให้กับแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อให้การการฟื้นฟูอย่างจริงจัง
“การทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรี 1 ปีจากนี้ไป ผมจะทำงานแบบหัวเข่า มือ เปื้อนดิน  จะทำงานในสนามมากกว่ายืนที่โพรเดี้ยม จะไม่ออกงานตัดริบบิ้น เปิดผ้าแพรคลุมป้าย แต่จะฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวอย่างจริงจัง ซึ่ง 1 ปีไม่เสร็จแน่แต่ต้องทำไปเรื่อยๆ  ซึ่งจะต้องชักชวนคนมาร่วมเป็นพลัง ตั้งแต่การบำรุงรักษา การจัดระเบียบ แก้ปัญหาน้ำเสีย จราจร ฉะนั้นการท่องเที่ยวของไทยต้องสะดวก สะอาด ปลอดภัย และยั่งยืน ตามเกณฑ์มาตรฐานการพัฒนาท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนทั้ง 51 ข้อ ซึ่งผมขอให้หน่วยงานและประชาคมต่างๆ ได้ทำตามเกณฑ์นี้”
 “ไพรินทร์”เน้นปลุกลงทุนอีอีซี 
ส่วน นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่เดินทางเข้ากระทรวงคมนาคมเป็นวันแรกวานนี้(1 ธันวาคม) กล่าวว่า หลังไม่ได้หารือถึงการแบ่งมอบงาน กับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ติดเดินทางไปราชการในต่างประเทศ คาดว่าในสัปดาห์หน้าคงจะหารือกัน 
อย่างไรก็ตามจากประสบการณ์ที่เคยบริหารงานรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่อย่าง บริษัท ปตท จำกัด(มหาชน)นั้น เชื่อว่า จะใช้ความรู้ความสามารถในการขับเคลื่อนโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟสใหม่ ,โครงการก่อสร้างทางรถไฟ, ท่าเรือ สำคัญ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 เช่นการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC  
“ การพัฒนาระบบคมนาคมเชื่อมต่อระหว่างเมืองหลวงและเมืองที่มีการลงทุนทางด้านอุตสาหกรรมสูง ถือเป็นปัจจัยสำคัญเช่นการพัฒนาเมืองโตเกียวกลับเมืองโยโกฮามาซึ่งมีการพัฒนาระบบขนส่งคมนาคมทางถนน ด้วยโครงการมอเตอร์เวย์ถึง 3 เส้นทาง ดังนั้นการพัฒนาพื้นที่ EEC ก็เช่นเดียวกันหากมีการพัฒนาระบบขนส่งเชื่อมโยงกับกรุงเทพมหานครและพื้นที่รอบนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเห็นผล โดยปัจจุบันการเดินทางไปพื้นที่ภาคตะวันออกของไทย มีเส้นทางมอเตอร์เวย์เพียงสายเดียว ดังนั้นเชื่อว่าในอนาคตจะต้องมีการพัฒนาโครงการมอเตอร์เวย์ขึ้นมาเพิ่มเติมเพื่อเชื่อมระหว่าง 2 ภูมิภาคแน่นอน”