พพ.จับมือสหพันธ์ฯผุดโครงการพัฒนา“สิงห์รถบรรทุกไทย”ยกระดับทักษะขับขี่ประหยัดพลังงานภาคขนส่ง

0
707

เป็นที่ทราบกันดีว่า“ค่าเชื้อเพลิงคือต้นทุนหลัก”ของภาคขนส่งที่ผู้ประกอบการขนส่งยากจะเลี่ยงเลี่ยงได้ เมื่อไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ก็ต้องหาสรรหาแนวทางแก้หวังช่วยลดตุ้นทุนการขนส่งให้น้อยลงเท่าที่จะทำได้ ทั้งการเลือกซื้อรถบรรทุกรุ่นที่ได้ชื่อว่าประหยัดเชื้อเพลิงมากสุด หรือไม่ก็ติดตั้งระบบ GPS Tracking พร้อมอุปกรณ์บ่งชี้ตัวตนคนขับรถ เพื่อการบริหารจัดการเดินรถเชิงป้องกัน ควบคุม กำกับ ดูแล บังคับใช้ ติดตามการเดินรถลักษณะ Online แบบ Real time ทั้งพิกัด ความเร็ว ชั่วโมงการขับรถ และพฤติกรรมของพนักงานขับรถ ซึ่งมีผลบังคับเป็นกฎหมายไปตั้งแต่ 25 มกราคม 2559

เพราต่างรู้ดีว่ายิ่งลดต้นทุนการขนส่งมากเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้บริษัทได้กำไรมากขึ้นเท่านั้น!

ถึงกระนั้น แม้จะได้มาซึ่งรถบรรทุกที่การันตีประสิทธิภาพด้านประหยัดเชื้อเพลิง หรือไม่จะเลือกติดตั้งนานาอุปกรณ์เสริมสุดล้ำเพียงใดก็ตาม เพราะตราบใดที่ตัวรถและเทคโนโลยีสุดล้ำที่ถูกควบคุมจากต้นทางถึงปลายทางการขนส่งด้วย “ผู้ขับขี่”หากคนขับไร้ “ทักษะการขับขี่-จิตสำนึก” ที่ดี ความคาดหวังขนส่งสินค้าให้ประหยัดต้นทุนด้านเชื้อเพลิงก็ยากที่จะ“ประสบความสำเร็จ”

ล่าสุด กรมพัฒนาพลังงานทดแทนแลอนุรักษ์พลังงาน(พพ.)ได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาพนักงานขับรถบรรทุกขนส่งสินค้าให้ได้มาตรฐานวิชาชีพ จึงได้ผนึกความมือกับสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เดินหน้าจัด“โครงการพัฒนาผู้ขับขี่รถบรรทุกเพื่อการประหยัดพลังงานในธุรกิจขนส่งสินค้า”เพื่อส่งเสริม-เติมเต็มให้พนักงานขับรถบรรทุกมีทักษะการขับขี่ประหยัดพลังงาน ช่วยลดต้นทุนการใช้พลังงานภาคขนส่ง หนุนให้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจขนส่งสินค้าลดต้นทุนค่าขนส่งได้อย่างตรงจุดและยั่งยืน ย้ำขับเคลื่อนผ่าน 4 ขั้นตอนหลักของโครงการฯ ยันเป็นโครงการฯต่อเนื่อง 4 ปี

ตั้งเป้าปี 2561 ฝึกอบรมเข้ม 50 วิทยากรผู้เชี่ยวชาญการขับรถบรรทุกประหยัดพลังงาน พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ต่อให้ผู้ขับขี่รถบรรทุกกว่า 5,000 คน ผ่านภาคปฏิบัติขับรถบรรทุกจริง คาดส่งผลดีเกิดการประหยัดพลังงาน 8 Ktoe/ปี คิดเป็นปริมาณน้ำมันดีเซล 9.2 ล้านลิตร/ปี ประหยัดเงินกว่า 248 ล้าน/ปี และลดการปล่อย CO2 ได้ 50 ล้านกิโลกรัม/ปี

ยกระดับศักยภาพ “สิงห์ขับรถบรรทุก”ให้มีทักษะการขับขี่ประหยัดพลังงาน

นายยงยุทธ์ สวัสดิสวนีย์ รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.)เปิดเผยถึงที่มาและจุดประสงค์ของโครงการฯนี้ว่า การขนส่งสินค้าทางถนนเป็นภาคการขนส่งที่มีความนิยมมากที่สุด และเมื่อกล่าวถึงผู้มีบทบาทสำคัญในการขนส่งทางถนนก็คงหนีไม่พ้นพนักงานขับรถบรรทุก ที่ต้องมีทักษะการขับขี่ที่ดีนอกจากก่อให้เกิดความปลอดภัยแล้ว ยังถือเป็นตัวแปรสำคัญให้เกิดการลดใช้เชื้อเพลิงในรถบรรทุกขนส่งสินค้าลงได้

“ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2558-2579 ของประเทศไทย ต้องเป็นเพื่อลดค่าเข้มข้นการใช้พลังงานของประเทศลงร้อยละ 30 ในปี 2579 เมื่อเทียบปี 2553 ภาคขนส่งมีสัดส่วนการใช้พลังงานมากที่สุดถึงร้อยละ 37.8 ของรูปแบบการขนส่งทั้งหมด ดังนั้น ตามแผนฯดังกล่าว จึงให้ความสำคัญการพัฒนาและยกระดับศักยภาพหนักงานขับรถบรรทุกให้มีทักษะการขับขี่ประหยัดพลังงาน อีกทั้งยังเป็นการยกระดับวิชาชีพให้ได้มาตรฐานและให้เป็นที่ยอมรับของสังคม”

นอกจากนี้ นายยงยุทธ์ ระบุอีกว่าด้วยบทบาทและความรับผิดของกรมฯที่กำกับดูแลเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน ขณะที่สหพันธ์ฯเป็นองค์กรเอกชนที่เกิดจากการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการขนส่งทางถนนทุกภูมิภาคของประเทศ และยังมีนโยบายมุ่งเน้นพัฒนาและยกระดับความปลอดภัย การประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมของธุรกิจขนส่งสินค้า โดยเฉพาะการพัฒนาพนักงานขับรถบรรทุกให้ได้มาตรฐาน ความร่วมมือภายใต้โครงการฯนี้ จึงเป็นการผนวกความร่วมมือทั้งสองหน่วยงานที่ต่างมุ่งหวังให้สอดรับในเรื่องเดียวกัน
อบรมเข้ม 50 เทรนเนอร์/สิงห์สิบล้อ 5,000 คน/ครอบคลุม  5 ประเภทรถใหญ่

ส่วนประเด็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการฯนี้ นายยงยุทธ์ เปิดเผยว่าโครงการนี้ฯสะท้อนให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพพนักงานขับรถขนส่งเป็นหลัก ก่อให้เกิดผลลัพธ์เชิงการประหยัดต้นทุนการขนส่งที่เกิดจากปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของผู้ขับขี่เพื่อการประหยัดพลังงาน โดยจะครอบคลุมถึงกลุ่มผู่ประกอบการที่ต้องการยกระดับคุณภาพบุคลากรด้านขนส่ง กลุ่มผู้ขับขี่รถบรรทุก กลุ่มอาชีพอื่นที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพ กลุ่มผู้กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงานด้านการขับขี่รถยนต์เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้งาน หรือเข้าสู่อาชีพพนักงานขับรถ

“รูปแบบการฝึกอบรมสามารถจัดขึ้นได้ในหลายสถานที่ภาคเอกชนที่กระจายอยู่ในแต่ละภูมิภาค ซึ่งจะช่วยยกระดับการพัฒนาผู้ขับขี่รถบรรทุกไม่น้อยกว่า 5,000 คน ให้มีทักษะที่ดีในการขับรถให้เกิดการประหยัดพลังงานในรถบรรทุก 5 ประเภท ได้แก่ รถบรรทุก 10 ล้อ รถบรรทุกพ่วง รถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ รถบรรทุกควบคุมอุณหภูมิ และรถบรรทุกวัตถุอันตราย นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาบุคลากรที่จะเป็นวิทยากรสอนขับรถแบบประหยัดพลังงานอีกด้วย”

ประหยัดพลังงาน 8 Ktoe/ปี คิดเป็นปริมาณน้ำมันดีเซล 9.2 ล้านลิตร/ปี

อย่างไรก็ดี นายยงยุทธ์ ยังกล่าวถึงความคาดหวังจากโครงการฯนี้ว่ากรมฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญการพัฒนาศักยภาพพนักงานขับรถบรรทุกขนส่งสินค้า และส่งเสริมให้เกิดการขับขี่อย่างประหยัดเชื้อเพลิงที่เป็นต้นทุนการขนส่งของภาคเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม หนุนให้ผู้ประกอบการขนส่งสามารถลดต้นทุนการขนส่งสินค้าได้อย่างตรงจุดและเกิดความยั่งยืน

“ตลอดโครงการฯในปี 2561 กรมฯตั้งเป้าหมายที่จะฝีกอบรมวิทยากรให้มีความเชี่ยวชาญการขับรถบรรทุกประหยัดพลังงานไม่น้อยกว่า 50 คน เพื่อนำไปถ่ายทอดต่อให้กับผู้เข้ารับการอบรมในโครงการนี้ไม่น้อยกว่า 5,000 คน  คาดส่งผลดีเกิดการประหยัดพลังงาน 8 Ktoe/ปี คิดเป็นปริมาณน้ำมันดีเซล 9.2 ล้านลิตร/ปี ประหยัดเงินกว่า 248 ล้าน/ปี และลดการปล่อย CO2 ได้ 50 ล้านกิโลกรัม/ปี ในปีงบประมาณต่อไปกรมฯมีแผนฝึกอบรมผู้ขับขี่รถบรรทุกให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง และในอนาคตจะขยายการฝึกอบรมในสถานประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่มีรถบรรทุกเป็นของตนเองอีกด้วย”

ขับเคลื่อนโครงการฯพุ่งชนความสำเร็จผ่าน 4 ขั้นตอนหลัก

ขณะที่ดร.ชุมพล สายเชื้อ เลขาธิการสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่าต้องยอมรับว่าปัญหาการขาดแคลนคนขับรถบรรทุก ตลอดถึงปัญหาคนขับรถบรรทุกมีศักยภาพและคุณสมบัติต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น เป็นปัญหาที่หมักหมมมานานและหลายหน่วยรวมถึงสหพันธ์ฯก็ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้ เมื่อกรมฯในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลด้านการประหยัดพลังงาน ได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และให้การสนับสนุนด้านงบประมาณจัดโครงการนี้ขึ้น ตลอดถึงให้ความเชื่อมั่นกับสหพันธ์ฯได้มีส่วนร่วมต่อการขับเคลื่อนโครงการนี้

“โครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนต.ค.ตามปีงบประมาณ 2561 โดยจะมี 4 ขั้นตอนหลักของการขับเคลื่อน ประกอบด้วยขั้นตอนแรก คือการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม โดยจะมีการจัดทำร่างหลักสูตรที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพผู้ปฏิบัติการควบคุมรถบรรทุก ที่เกิดจากการระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพขับรถบรรทุก ทั้งนี้เพื่อมีความสมบูรณ์มากที่สุด ขั้นตอนที่ 2 เป็นขั้นตอนการพัฒนาชุดฝึกอบรมและเครื่องมือในการถ่ายทอดความรู้ ส่วนขั้นตอนที่ 3 เป็นขั้นตอนการฝึกอบรมวิทยาการและผู้ขับขี่รถบรรทุก และขั้นตอนสุดท้ายเป็นการประเมินผลหลังการฝึกอบรม”

อย่างไรก็ตาม ดร.ชุมพล กล่าวในตอนท้ายว่าโครงการนี้เป็นการผนวกความร่วมมือของสองหน่วยงานที่ต่างเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของคนขับรถบรรทุก ช่วยส่งเสริมและเติมเต็มทักษะการขับขี่รถบรรทุกให้เกิดการประหยัดเชื้อเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ กรุยทางสู่การลดต้นทุนการขนส่งสินค้าได้อย่างตรงจุดและเกิดความยั่งยืนต่อไป