แฉลูกเล่นแบงก์! เลี่ยง กม. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ผุดตั้งบริษัทลูกดำเนินธุรกรรมเอาเปรียบประชาชนโจ๋งครึ่ม

0
238

แฉลูกเล่นแบงก์พาณิชย์ตบเท้าเลี่ยงกฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ผุดบริษัทลูกสวมรอยขอใบอนุญาตปล่อยกู้ทั้งสินเชื่อส่วนบุคคล ปล่อยกู้ซื้อรถ-มอเตอร์ไซค์ โขกดอกเบี้ย-ค่าธรรมเนียมให้ยุบยับ เย้ยกฎหมาย ด้านคลัง-ธปท. ใบ้กิน ทั้งที่แก้ไข กม.ผุดนาโน-พิโก้ไฟแนนซ์ หวังดึงนายทุนเงินกู้นอกระบบเข้าระบบ แต่แบงก์แสบกลับสวมรอยด้วยเฉย

หลังราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2561 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาที่ห้ามบุคคลใดให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินหรือกระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการอำพรางการให้กู้ยืมโดยมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท

(1) เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด  (2) กำหนดข้อความอันเป็นเท็จในเรื่องจำนวนเงินกู้หรือเรื่องอื่น ๆ ไว้ในหลักฐานการกูยืม หรือตราสารที่เปลี่ยนมือได้เพื่อปิดบังการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และ (3) กำหนดจะเอาหรือรับเอาซึ่งผลประโยชน์อย่างอื่น นอกเหนือจากดอกเบี้ยไม่ว่าจะเป็นเงิน หรือสิ่งของหรือโดยวีการใดๆ จนเห็นได้ชัดว่าประโยชน์ที่ได้รับนั้นมากเกินส่วนอันควรตามเงื่อนไขแห่งการกู้ยืมเงิน

แหล่งข่าวในวงการธนาคาร เปิดเผยว่า กฎหมายดังกล่าวมุ่งคุ้มครองประชาชนผู้กู้ ไม่ให้ถูกเจ้าหนี้เอาเปรียบ โดยเฉพาะในส่วนของเจ้าหนี้นอกระบบ ซึ่งแม้ที่ผ่านมา ภาครัฐโดยกระทรวงการคลังจะดึงบรรดานายทุนเงินกู้นอกระบบเหล่านี้เข้ามาอยู่ในระบบ ผ่านการออกใบอนุญาต “นาโนไฟแนนซ์”  หรือสินเชื่อรายย่อยผู้ประกอบอาชีพอิสระ หาบเร่แผงลอย และ “พิโก้ไฟแนนซ์” ที่เน้นปล่อยให้กู้รายย่อยไม่เกิน 50,000 บาท และเน้นให้กู้เฉพาะภายในจังหวัด โดยกระทรวงการคลังมีการแก้ไขกฎหมายรองรับให้สามารถเรียกดอกเบี้ยได้สูงถึง 36%

อย่างไรก็ตาม กลับปรากฏว่า สถาบันการเงินโดยเฉพาะแบงก์พาณิชย์ ได้มีการสวมรอยงัดเอาความเชี่ยวชาญและช่องว่างของกฎหมายที่มีปล่อยกู้เพื่อเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยมีการจัดตั้งบริษัทลูกซึ่งอยู่นอกเหนือการกำกับของ พ.ร.บ.สถาบันการเงิน ขึ้นมาดำเนินการ และทำการปล่อยกู้โดยมีการเรียกเก็บดอกเบี้ยเงินกู้และค่าธรรมเนียมอื่นๆ สูงกว่า 15% ทั้งที่ค่าธรรมเนียมต่างๆเหล่านี้กฎหมายกำหนดให้คิดเหมารวมเป็นอัตราดอกเบี้ยโดยสถาบันการเงินเหล่านี้อ้างว่าเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย

โดยในส่วนของสินเชื่อส่วนบุคคลนั้น ทุกธนาคารจะมีการจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ ที่เปิดช่องให้เรียกเก็บดอกเบี้ยได้สูงถึง 36% แต่มีการปล่อยกู้สินเชื่อส่วนบุคคลในวงกว้างเมื่อลูกค้าผิดนัดชำระหนี้ก็ตั้งบริษัทลูกหรือมอบหมายให้บริษัทในเครือตามไปยึดทรัพย์สินมาทำการประมูลขายอย่างเอิกเกริกทุกสัปดาห์  ขณะที่การปล่อยกู้โดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ไม่ว่าจะเป็นรับจำนำทะเบียนรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ หรือสินทรัพย์อื่น ๆ นั้น จะอาศัยความเชี่ยวชาญด้านการเงินแอบแฝงคิดอัตราดอกเบี้ย 15% แบบอัตราคงที่ (Flat Rate) ตามแบบสัญญาเช่าซื้อที่อ้างว่าถูกกฎหมาย แต่แท้จริงแล้วดอกเบี้ยจริงที่คิดนั้นสูงกว่า 24% ต่อปี ที่ถือได้ว่าผิดกฎหมาย ชัดเจน

แหล่งข่าวกล่าวว่า การดำเนินการของแบงก์ต่าง ๆ ข้างต้นนั้น ถือเป็นเรื่องที่หมิ่นเหม่ส่อขัดกฎหมาย เนื่องจากธุรกิจกรรมแบงก์นั้นแม้จะมี พ.ร.บ.สถาบันการเงิน รองรับที่ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดอัตราดอกเบี้ยได้สูงกว่าที่กฎหมายกำหนดอยู่แล้ว แต่ในส่วนของธุรกรรมแบงก์ที่มีการตั้งบริษัทลูกบังหน้าขึ้นทำหน้าที่ปล่อยกู้และให้สินเชื่อนั้น ไม่ได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินการ และแม้จะไปอาศัยใบอนุญาตนาโนไฟแนนซ์ และพิโก้ไฟแนนซ์รองรับการดำเนินการแต่ก็เป็นการแฝงธุรกิจกรรมที่เห็นได้ชัดเจนว่า  มุ่งปล่อยกู้เพื่อเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ถือเป็นการอาศัยช่องว่างทางกฎหมายที่หมิ่นเหม่จะขัดแย้งกับ  พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราปี 2561 อย่างชัดเจน

“รัฐบาลและกระทรวงการคลังผลักดันการแก้ไขกฎหมายเหล่านี้เพื่อดึงเจ้าพ่อเจ้าแม่เงินกู้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ คุ้มครองประชาชน แต่กลับกลายเป็นการเปิดช่องโหว่ให้แบงก์ ตั้งบริษัทลูกสวมรอยเข้ามาขอใบอนุญาตปล่อยกู้เพื่อเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยที่คลัง และ ธปท. กลับไม่มีการดำเนินการใดๆ “

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กระทรวงยุติธรรมมีการจัดตั้งศูนย์ปราบปรามการกระทำผิด และได้มีการทลายขุมข่ายนายทุนเงินกู้นอกระบบรายใหญ่อย่างเสี่ยวิชัย มาแล้ว ล่าสุด ศูนย์ดังกล่าวกำลังจับตาและรวบรวมพฤติกรรมการปล่อยกู้ของแบงก์ต่าง ๆ ในระบบที่มีการตั้งบริษัทลูกเข้ามาสวมรอยปล่อยกู้โดยมีการเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดโดยอาศัยกฎหมายอื่นรองรับ ทั้งที่ธุรกรรมที่ดำเนินการนั้นมีความแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งที่ทำให้แบงก์ต่างๆ ยังคงดำเนินการกันอย่างเอิกเกริก ก็เพราะบทลงโทษตาม พ.ร.บ.ใหม่นั้นกำหนดไวต่ำไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน สองแสนบาทที่ถือว่าน้อยมาก ขณะที่รายได้จากค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่แบงก์เรียกเก็บนั้นสูงกว่าหลายเท่าตัว จึงไม่มีความกริ่งเกรงแต่อย่างใด