หัวทู่เป็นตู้เลี้ยงปลา!

0
971

เรื่องที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวหาฝ่ายบริหารการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ “รฟม.” กรณีอนุญาตให้บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเมนต์ ผ่านทางบริเวณสถานีสุขุมวิทเพื่อเข้าสู่โครงการพัฒนาที่ดินของอนันดา คือ “แอชตัน อโศก” คอนโดมิเนียมหรู 50 ชั้น จนทำเอาเจ้าของโครงการระส่ำไม่สามารถจดทะเบียนโอนห้องให้ลูกค้าได้ โดย สตง. ระบุว่า ผิดวัตถุประสงค์การเวนคืน ที่ให้ทำเพื่อประโยชน์ของระบบขนส่งมวลชนเท่านั้น และไม่ดำเนินการขอมติ ครม. ตาม พ.ร.บ. รฟม. มาตรา75(6) ให้เช่า/ให้สิทธิในอสังหาฯ เกิน 10 ล้าน ทำให้ รฟม. และประชาชนเสียหายสูญเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์ 

แต่พอสืบสาวราวเรื่องขึ้นไปกลับเป็น “หนังคนละม้วน” กันเลย

รฟม. นั้นอนุญาตให้อนันดาผ่านทางและเชื่อมต่อ ตาม พ.ร.บ. รฟม. มาตรา 36 (คนละมาตรากับที่สตง.อ้าง) ซึ่งมีทั้งแบบที่คิดเงินค่าใช้จ่ายและไม่คิดเงิน และเป็นคนละกรณีกับการใช้ที่ดินเพื่อพัฒนาอสังหาฯ ตามมาตรา 75(6) ที่เป็นกรณีการพัฒนาอสังหาฯ เพื่อการพาณิชย์

น่าแปลก! แม้ สตง. จากฟันธงเป็นวรรคเป็นเวรว่า รฟม. กระทำผิดข้อบังคับผิดกฎหมาย ทำให้รัฐสูญเสียประโยชน์ ประชาชนสูญเสียประโยชน์ บลาๆๆๆ แต่ก็กลับไม่สามารถระบุได้ว่า แล้วใครกระทำผิดหรือใครต้องรับผิดชอบ หรือความเสียหายที่ว่านั้นมีมากน้อยเพียงใด หรือต้องให้ต้นสังกัดสอบสวนเอาผิดหรือลงโทษกันยังไงต่อดี

แค่บอกให้ รฟม. รีบนำเสนอ ครม. เสียนะเป็นอันจบ.

มีด้วยหรือบทสรุปเลอะเทอะแบบนี้!

เมื่อย้อนรอยตรวจสอบ พบว่า บอร์ด รฟม.ได้ออกข้อบังคับเมื่อปี 2547 (และประกาศเพิ่มเติมปี 2556) ตามมาตรา 36 โดยกำหนดเกณฑ์การให้ผ่านทางและเชื่อมต่อที่ต้องขอความเห็นชอบจากบอร์ดในกรณีที่มีข้อตกลงด้านค่าใช้จ่ายเกิน 10 ล้านบาท  ซึ่งในระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมา มีกรณีที่ รฟม.อนุญาตให้ผ่านทางและเชื่อมต่อในลักษณะเดียวกันนี้เป็นสิบกรณี หากไปตีความว่าทุกกรณีต้องเข้า ครม. ตามมาตรา 75(6) ก็คงต้องดำเนินการย้อนหลังกันเป็นสิบๆ แห่งแหล่ะ

ในบันทึกข้อตกลงร่วม รฟม. กับบริษัท อนันดา ที่มีโครงการพัฒนาที่ดินหลังสถานีสุขุมวิท คือ “แอชตัน อโศก” นั้น การอนุญาตให้บริษัท อนันดา ตั้งสำนักงานชั่วคราวบนอาคารที่จอดรถ จนทำให้ถูกกล่าวหาว่า เหมือนเป็นการให้เช่าที่ตาม พ.ร.บ. รฟม. มาตรา 75(6) และดำเนินการเกินกว่ามติบอร์ดนั้น

ข้อเท็จจริง ก็คือ รฟม. นั้น เรียกเก็บค่าผ่านทางจากเอกชนรายดังกล่าว 97 ล้านบาท ซึ่งได้รวมค่าชดเชยค่าเสียโอกาสเพราะปิดที่จอดรถไปถึง 30 เดือน แต่ที่ต้องอนุมัติไปก็เพราะมีประเด็นด้านความปลอดภัยในระหว่างการก่อสร้างอาคารด้านหลังสถานี รวมถึงการกั้นรั้วก่อสร้าง วางวัสดุ เครื่องจักร สำนักงานชั่วคราวฯลฯ ไม่ใช่เป็นการพัฒนาในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

ซึ่งตามข้อบังคับ รฟม. ปี 2547 ต้องขออนุญาตจากบอร์ด รฟม. เพราะข้อตกลงดังกล่าวมีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาท ไม่ได้มีประเด็นที่ต้องขอเห็นชอบจาก ครม. เพราะไม่ได้เป็นการอนุมัติให้พัฒนาที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ และหากจะตรวจสอบที่มาที่ไปของที่ดินผืนดังกล่าว ก่อนการเวนคืนนั้นเป็นผืนเดียวกัน แต่เมื่อ รฟม. เวนคืนที่ดินมาทำเป็นสถานีรถไฟฟ้า จึงทำให้ที่ดินด้านหลังกลายเป็นที่ตาบอด จนเกิดการฟ้องร้องและภายหลังเอกชนฟ้องชนะ มีคำสั่งศาลให้ต้องเปิดทางผ่านเข้า-ออกให้แก่ที่ดินด้านหลังเสียด้วย

และเมื่อ รฟม. สร้างอาคารจอดรถ ก็ปรากฏว่าสามารถจอดรถได้เพียง 30 คันเท่านั้น ซึ่งเล็กมากสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างจำกัด ขณะที่ค่าจ้างในการบริหารจัดการที่มีสูงกว่ารายได้ที่ได้รับ กลายเป็นภาระของ รฟม. มาโดยตลอด เมื่อ รฟม. อนุญาตให้เอกชนรายนี้ผ่านทางเข้า-ออก และใช้อาคารที่จอดรถเป็นสำนักงานชั่วคราว ก็ได้กำหนดค่าเช่า ค่าเสียโอกาส  และสร้างอาคารที่จอดรถครอบคลุม และได้ประโยชน์ในพื้นที่มากกว่าเดิมหลายสิบเท่าตัว

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบเอกสาร รายงานการประชุมบอร์ด รฟม. เองที่มีการหยิบยกเรื่องการอนุญาตใช้ที่จอดรถเป็นสำนักงานชั่วคราว 30 เดือนว่า เข้าข่ายจะต้องดำเนินการตามมาตรา 75(6) หรือไม่นั้นก็เป็นไปเพื่อความรอบคอบเท่านั้น ไม่ได้เป็นการคัดค้านหรือฝ่าฝืนข้อบังคับ ซึ่งเมื่อฝ่ายบริหารไดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริงก็ไม่ติดใจอะไร จึงเป็นอันยุติไป

แต่ไม่รู้วันดีคืนดี เกิดมี “มือที่มองไม่เห็น” จากไหนไม่รู้เกิดไปหยิบยกเรื่องที่มันจบไปแล้วตั้งแต่ปีมะโว้ขึ้นมาฟื้นฝอยหาตะเข็บ  ยื่นเรื่องร้อง สตง. ไป  สืบไปสืบมาจึงถึงบางอ้อว่า เป็นความพยายามของฝ่ายบริการใน รฟม. บางคนเองนั่นแหล่ะที่หาทางสกัดกั้นแมวเก้าชีวิต “นายรณชิต แย้มสอาด” ที่ปรึกษา รฟม. ที่สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นผู้ว่าการ รฟม. รอบใหม่ (ตั้งแต่ครั้งกระโน้น) ที่ไม่รู้จะหาเรื่องอะไรกระตุกเบรก ก็เลยหยิบยกเอาเรื่องนี้ขึ้นมาเล่นงาน

แถมมาเจอพวก “หัวทู่เป็นตู้เลี้ยงปลา” ใน สตง. ผสมโรงเข้าให้ มันก็เลยกลายเป็นเรื่องใหญ่ ตีปี๊บกันใหญ่โตทั้งที่ข้อเท็จจริงไม่ได้มีอะไรเลย… เล่นไปโยงเอาเรื่องของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มาเล่นงานเขาซะงั้นโดยไม่ได้ดูข้อเท็จจริงให้ดีเลยว่า เขาไม่ได้อนุญาตให้พัฒนาอสังหาฯ แต่เป็นเรื่องของค่าผ่านทางเข้า-ออกเช่นกรณีอื่นๆ ที่ รฟม. เปิดให้เชื่อมต่อไปไม่รู้กี่สิบโครงการ แถม รฟม. นั้นยังได้เม็ดเงินมาก่อสร้างอาคารที่จอดรถอีกก้อนใหญ่ร่วม 100 ล้านบาท

และหากเพียงแค่ผ่านทางเข้า-ออกแค่นี้้ ยังต้องเสนอ ครม.ให้แฟ้มแล้ว ก็ไม่รู้แปลงอื่นๆ ที่ รฟม. อนุญาตผ่านทางเข้า-ออกกันเป็นสิบแปลงไปก่อนหน้านั้น มีแปลงไหนบ้างที่ รฟม.ได้ผลประโยชน์นับ 100 ล้านบาทแบบนี้!!!

แต่ก็ให้น่าแปลกเรื่องผลประโยชน์องค์กรและระเบียบปฏิบัติขององค์กร รฟม. เองแบบนี้ ทั้งสิ่งที่ปฏิบัติมาก็ไม่ได้มีอะไรทำผิดขึ้นตอน แต่แทนที่คน รฟม. จะลุกขึ้นมาโต้แย้งชี้แจง สตง. ให้หายมึน ก็กลับตีลูกเฉยไม่ใช่เรื่องของ (กรู) ไปซะงั้น!!!