รฟท.พาสื่อลงพื้นที่อัพเดทรถไฟชานเมืองสายสีแดง ยันเสร็จทันปี 62 เปิดให้บริการ ต.ค.63

0
182

รฟท. นำสื่อมวลชนตรวจความก้าวหน้ารถไฟชานเมืองสายสีแดง พลิกโฉมระบบรางของประเทศไทย สู่ศูนย์กลางการเดินทางที่ทันสมัยที่สุดในอาเซียน คาดเสร็จทันปี 2562 พร้อมเปิดให้บริการ ต.ค.63 

วันนี้ (25 พ.ค. 61) เวลา 09.30 น. ณ บริเวณโครงการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิต นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน พร้อมด้วยผู้บริหารการรถไฟฯ นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมความก้าวหน้าการก่อสร้าง โดยมี นายกำพล บุญชม
รองวิศวกรใหญ่ด้านโครงการพิเศษ ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง ผู้อำนวยการโครงการระบบรถไฟชานเมือง
สายสีแดง บรรยายความก้าวหน้าการดำเนินงานของโครงการฯ

นายวรวุฒิฯ กล่าวว่า ภาพรวมโครงการ สถานะการดำเนินงานในปัจจุบัน ตามสัญญาต่างๆ ได้แก่
สัญญาที่ 1 เป็นงานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง ประกอบด้วย สถานีกลางบางซื่อ และสถานีจตุจักร ทางรถไฟยกระดับ จาก กม.6+000 ถึง กม.12+201.700 ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าชานเมือง ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟทางไกล ย่านจอดรถไฟ และอาคารอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการควบคุมการเดินรถ ตลอดจนถนน สะพานยกระดับเข้า-ออกสถานี และระบบระบายน้ำ ซึ่งมีความคืบหน้าคิดเป็น 69.31 % สัญญาที่ 2 เป็นงานโยธาสำหรับทางรถไฟ ช่วงบางซื่อ-รังสิต ประกอบด้วย สถานี 8 สถานี ทางรถไฟยกระดับและทางรถไฟระดับดิน ถนนเลียบทางรถไฟ สะพานกลับรถ สะพานข้ามทางรถไฟ และระบบระบายน้ำมีความคืบหน้าคิดเป็น 97.94 % สัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมจัดหาตู้รถไฟ สำหรับช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน มีความก้าวหน้าของงานที่ดำเนินการแล้วเสร็จคิดเป็น 26.71%

จากนั้นนำคณะสื่อมวลชนไปชมการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อที่ปัจจุบันมีความคืบหน้าในการก่อสร้าง 49.31 % โดยมีรูปแบบการก่อสร้างแบ่งเป็นอาคาร 3 ชั้น ประกอบด้วย

  1. ชั้นใต้ดิ เป็นพื้นที่สำหรับจอดรถประมาณ 1,700 คัน โดยมีโถงเชื่อมต่อจากพื้นที่จอดรถขึ้นไปยังชั้นที่ 1
  2. ชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋ว มีโถงพักคอยและรับผู้โดยสาร รวมถึงพื้นที่พาณิชยกรรม และร้านค้า สามารถเชื่อมต่อกับ MRT
  3. ชั้นที่ 2 เป็นชานชาลาสำหรับรองรับรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) มี 4 ชานชาลา และรถไฟทางไกล
    มี 8 ชานชาลา
  4. ชั้นที่ 3 เป็นชานชาลาสำหรับรองรับรถไฟขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร เชื่อมภูมิภาค มีทั้งหมด 10 ชานชาลา แบ่งเป็น รถไฟสายใต้ 4 ชานชาลา รถไฟสายเหนือ และสายอีสานรวม 6 ชานชาลา

นอกจากนี้ยังสามารถรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคตและรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยาน ได้อีก 2
ชานชาลา และมีทางเดินเชื่อมต่อกับสถานีบางซื่อของสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หลังจากนั้นได้พาคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมงานก่อสร้างสถานีทุ่งสองห้อง ซึ่งปัจจุบันแล้วเสร็จเกือบ 100 % ตัวสถานีตั้งอยู่บริเวณถนนกำแพงเพชร 6

และถนนวิภาวดี-รังสิต ใกล้แฟลตการเคหะฯ โครงสร้างสถานีแบ่งเป็น 3 ชั้น ได้แก่ ชั้นพื้นดิน (Ground Floor Level) เป็นพื้นที่สำหรับจอดรถรับ-ส่งผู้โดยสาร ชั้นที่ 2 (Concourse Level) เป็นชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสาร และเป็นพื้นที่รองรับผู้โดยสารที่จะผ่านขึ้นไปยังชานชาลา และชั้นที่ 3 (CT Platform Level) เป็นชั้นชานชาลา มีทางวิ่ง 4 ทาง โดย 2 ทางวิ่งด้านข้าง รองรับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ส่วน 2 ทางตรงกลาง รองรับรถไฟทางไกล โดยมีชานชาลาด้านข้างสองฝั่ง (Side Platform) รองรับผู้ใช้บริการรถไฟสายสีแดง โดยตลอดแนวเส้นทางโครงการจะมีสถานียกระดับทั้งสิ้น 8 สถานี ได้แก่ สถานีจตุจักร สถานีวัดเสมียนนารี สถานีบางเขน สถานีทุ่งสองห้อง สถานีหลักสี่ สถานีการเคหะ สถานีดอนเมือง และสถานีรังสิต

สำหรับโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปี พ.ศ. 2562 สามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารจากรังสิตสู่บางซื่อไม่น้อยกว่า 306,608 คน/วัน รวมทั้งรองรับการเดินทางทุกประเภท ทั้งรถไฟทางไกล รถไฟความเร็วสูงที่จะเชื่อม 3 ท่าอากาศยาน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-
อู่ตะเภา) รถไฟฟ้า 3 สาย (สายสีน้ำเงิน สายสีชมพู สายสีเขียว) รถไฟใต้ดิน และรถไฟความเร็วสูงในอนาคต
ซึ่งเป็นการพลิกโฉมการเดินทางด้วยระบบรางของประเทศไทย และกลายเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย