พญาราชสีห์ MAN หัวลากกึ่งพ่วง “รถไฟเจียรราง รฟท.”

0
1004

การขนส่งทางรางเป็นอีกหนึ่งโหมดขนส่งสำคัญที่ภาครัฐโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)เร่งรัดปรับปรุง-ก่อสร้างสุดลิ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่หลากหลายเส้นทางทั่วประเทศที่รฟท.กำลังปูพรมก่อสร้างหวังเชื่อมโยงการขนส่งทางรางให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

ระยะทางรถไฟทั่วประเทศกว่า 4 พันกิโลเมตร งานซ่อมบำรุงระบบรางเป็นอีกภาคส่วนสำคัญยิ่งยวดที่รฟท.ไม่หยุดนิ่งการพัฒนาพร้อมนำเทคโนโลยีใหม่ๆเสริมทัพศักยภาพด้านการซ่อมบำรุง-ปรับปรุงงานระบบรางให้เกิดประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีสมัยใหม่

อย่างเช่น “รถไฟกึ่งรถบรรทุกเจียรราง” แบบ Milling (Rail Road Truck Milling) รุ่นใหม่ที่องค์กรม้าเหล็กไทย “การรถไฟแห่งประเทศไทย” ได้สั่งซื้อมาจาก บริษัท LINSINGER Austria ประเทศออสเตรีย เข้าประจำการงานซ่อมบำรุงระบบรางเป็นที่เรียบร้อย

รถไฟกึ่งรถบรรทุกเจียรราง เป็นเทคโนโลยีใหม่ด้านการเจียรราง เพื่อให้รางอยู่รูปทรงโปรไฟล์ที่ถูกต้องและลบรอยคลื่นจากการสึกของรางรถไฟที่เกิดจากการเสียดสีกับล้อ กรณีที่เกิดอาการล้อดิ้น(ล้อหมุนฟรีอยู่กับที่) ทำให้ผิวรางสึกชำรุดเป็นรอยขุรขระ ทำให้ขบวนรถวิ่งผ่านได้ไม่ราบเรียบ อีกทั้งยังสามารถลบรอยที่เกิดจากการเชื่อมต่อราง เพื่อยืดอายุของรางและลดการสั่นสะเทือนของขบวนรถไฟ  และเป็นการประหยัดต่อการเปลี่ยนรางและรวดเร็วในการซ่อมบำรุงทาง เพื่อให้ขบวนรถไฟผ่านได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ฟากรถหัวลากที่ทำหน้า “ลากจูง-กึ่งพ่วง”รถไฟเจียรรางคันนี้ เป็นรถบรรทุกพันธุ์แกร่งจากเยอรมันอย่าง MAN ที่สิงห์บรรทุกทั่วโลกซูฮกด้านประสิทธิภาพและคุ้มค่าในการใช้งาน อีกทั้งยังเปี่ยมล้นด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงตอบสนองผู้ขับขี่ด้วยความสะดวกสบายและปลอดภัย และโดดเด่นด้วยสมรรถนะสุดแกร่ง ดุดัน สง่า และทรงพลังดุจ “พญาราชสีห์” ยืนตระหง่านเหนือโลโก้ MAN ที่พร้อมจะโจนทะยานลาก-กึ่งพ่วงพร้อมฝ่าฟันทุกอุปสรรคบนท้องถนน

สำหรับหัวลากที่ทำงานร่วมกับรถเจียรรางนี้ เป็นหัวลาก MAN TGS 28.480 6×2 ระบบเกียร์ ZF แบบ Tipmatic Automate 12-speed

ห้องโดยสารขนาดใหญ่ สร้างสุนทรีย์การขับขี่

รถบรรทุก MAN รุ่นนี้ มีคุณลักษณ์พิเศษ คือห้องโดยสารขนาดใหญ่ตามแบบฉบับการดีไซน์รถใหญ่สายพันธุ์ยุโรป ที่ตอบสนองผู้ขับขี่ให้เกิดความสะดวกสบาย ไม่รู้สึกอึดอัด คล่องตัวในการขับขี่ ขณะที่พวงมาลัยเป็นแบบมัลติฟังค์ชั่น เบาะนั่งด้านคนขับเป็นแบบสปริงตัวขึ้น-ลงสร้างความนุ่มนวล และช่วยให้ผู้ขับขี่ไม่เกิดความรู้สึกเมื่อยล้า

ดุดัน สง่า ทรงพลังดุจ “พญาราชสีห์”

ส่วนรูปร่างหน้าหัวเก๋งดูแข็งแกร่งดุดันแต่แฝงด้วยความสง่างาม และทรงพลังดุจ “พญาราชสีห์”ยืนตระหง่านเหนือโลโก้ MAN มาพร้อมกับขุมพลัง 480 แรงม้าเป็นขุมกำลังเหลือเฟือกับลากจูงรถเจียรรางคันนี้ได้อย่างง่ายดาย ควบคุมด้วยกล่องอิเล็คทรอนิกส์ EDC เป็นเครื่องยนต์ดีเซล 6 สูบแถวเรียง ระบบหัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์ (คอมมอนเรล) เทอร์โบชาร์จและอินเตอร์คูลเลอร์

ระบบเบรกลิขสิทธิ์เฉพาะ MAN

ขณะที่ระบบเบรก ถือว่าเป็นลิขสิทธิ์ MAN เพราะเป็นระบบเบรกดิกส์เบรก หน้า/หลัง ระบบป้องกันล้อล็อคระบบเบรกอิเล็กทรอนิกส์แบบเบรกเมติกพร้อมควบคุมแรงดันเบรกแต่ละล้อ เบรกเครื่องยนต์ พร้อมเบรกวาล์วไอเสีย EVB (Exhaust Valve Brakes) ปรับตั้งระยะผ้าเบรกอัตโนมัติ และผ้าเบรกแบบไม่ใช้วัสดุแอสเบสทอส ส่วนเกียร์เป็นเกียร์ ZF 12AS 2330 OD แบบซิงโครเมช MAN Tipmatic 12 ความเร็ว พร้อม 2 เกียร์ถอยหลัง และโอเวอร์ไดรฟ์

แม้องค์กรม้าเหล็กไทยมักจะถูกสังคมพรั่งพรูวาทกรรมล้อเลียนอยู่เสมอว่า “ถึงก็ช่าง…ไม่ถึงก็ช่าง” ก็ตาม แต่การสั่งซื้อและได้มาซึ่งรถไฟกึ่งรถบรรทุกเจียรรางแบบ Milling รุ่นใหม่คันนี้ ถือเป็นการยกระดับการพัฒนางานซ่อมบำรุงระบบรางได้ไปอีกขั้นหนึ่ง  

ว่ากันว่าราคาค่างวดเจ้า รถไฟกึ่งรถบรรทุกเจียรราง คันนี้ ขาดอีกเพียง 7 ล้านบาทเท่านั้นก็แตะ 500 ล้านบาท
….อั๊ยยะ…ธรรมดาซะที่ไหนล่ะ
!