ไขปม!เทอร์มินัล 2 สุวรรณภูมิ “ลูกนอกไส้”จริงหรือ?

0
760

ยังร้อนเป็นไฟสุมทรวงบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.กรณีมีมติเห็นชอบให้กลุ่มนิติบุคคลที่มีนายดวงฤทธิ์ บุนนาค เป็นผู้ชนะการประกวดออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ทั้งที่ไม่ใช่ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในการประกวดการออกแบบ กลายเป็นปมร้อนถึงขึ้นต้องพึ่งศาลปกครองกลางที่แม้ในที่สุดศาลฯได้มีคำสั่งไม่คุ้มครองชั่วคราวตามที่ “กลุ่มบริษัทเอสเอ กรุ๊ป” ยื่นฟ้องต่อศาลฯ

ผนวกกับอุณหภูมิความร้อนกรณีทำเลที่ตั้งอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ที่ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางพร้อมตั้งข้อสงสัยและท้วงติงถึงประเด็นร้อน “ทำเลที่ตั้งอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2” ไม่ได้เป็นไปตามแผนแม่บท (Master Plan)การขยายสนามบินสุวรรณภูมิที่จัดทำไว้ตั้งแต่แรก ซึ่งอาจจะนำไปสู่หายนะด้านการบริหารจัดการสนามบินในภาพรวมได้ในอนาคต

จนกลายเป็นประเด็นดราม่าถูกสังคมครหาว่าหากเป็นลูกก็คงไม่เป็น“ลูกในไส้”หากแต่เป็น“ลูกนอกไส้”!ทำให้สังคมเคลือบแคลงสงสัยถึงแผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนาหูและถกเถียงกันเป็นวงกว้างในเวลานี้สรุปแล้วมันเป็นอย่างไรกันแน่!

“แผนแม่บทเดิม” ไม่สอดรับบริบทการเปลี่ยนแปลง

ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ไขข้อสงสัยของสังคมทำไมไม่เดินตามแผนแม่บทเดิมว่ากับข้อสงสัยที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กรณีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ซึ่งอยู่ในส่วนการขยายสนามบินเฟส 3 ไม่เดินตามแผนแม่บทที่ได้วางเอาไว้นั้น ประเด็นแผนแม่บทที่ถูกหยิบยกขึ้นพูดถึงอย่างมากในเวลานี้ เป็นแผนแม่บทเก่าที่ทำเอาไว้ตั้งแต่ปี 35 แต่วันนี้เราเดินตามแผนแม่บทฉบับใหม่(ปี 54) ถามว่าแล้วทำไมต้องมีทั้งฉบับเก่า-ใหม่ในเวลาเดียวกัน แผนแม่บทเดิมเกือบ 3 ทศวรรษเข้าไปแล้ว ขณะที่เวลานี้ขนาดเครื่องบินและลักษณะทางการบินก็เปลี่ยนไปค่อนข้างมาก การออกแบบต่างๆก็ต้องออกแบบให้มีการบริหารจัดการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

“แผนแม่บทฉบับใหม่ (ปี 54) จะมีทั้งหมด 5 เฟส ได้แก่ เฟส 1 ก็คือที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน เฟส 2 ก็คือ Satellite Terminal 1 ที่กำลังก่อสร้างอยู่และจะแล้วเสร็จปี 63 และเฟส 4 ก็คือ Satellite Terminal 2 (64-69)และเฟส 5 ก็คือ South Terminal (68-73) ฝั่งถนนบางนา-ตราด หากทำตามแผนแม่บทเดิมของเฟสต่างๆดังกล่าว ซึ่งจำนวนผู้โดยสารได้แซงหน้าศักยภาพสนามบินไปนานแล้ว จึงจำเป็นต้องมีเฟสที่ 3 ก็คือเทอมินัล 2 มาคั่นกลาง”

นอกจากนี้ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ระบุอีกว่าขณะที่ข้อสมมติฐานสำคัญที่บ่งชี้การเปลี่ยนแปลงจากแผนแม่บทเดิมที่เกิดขึ้น ก็คือจำนวนผู้โดยสารที่เปลี่ยนไป ถ้าดูตามแผนขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 ตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติตั้งแต่ปี 53 ซึ่งตามไทม์ไลน์เฟส 2 ตั้งแต่ปี54-60 กะจะเริ่มสร้างปี 54 และเสร็จปี 60 แต่เอาเข้าจริงๆก็กลายเป็นว่าเริ่มตอกเสาเข็มได้ก็เป็นวันที่ 14 ก.ย.59 เข้าไปแล้ว ทำให้การคาดการณ์แต่เดิมที่เราวางไว้เปลี่ยนไป

ผู้โดยสารล้น-แซงหน้าศักยภาพสนามบิน

ดร.นิตินัย ระบุถึงศักยภาพสนามบินสุวรรณภูมิว่าปัจจุบันศักยภาพสนามบินสุวรรณภูมิสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 45 ล้านคนต่อปี เรากะว่าเสร็จเฟส 2 เราจะบวกอีก 15 ล้านคนรวมเป็น 60 ล้านคน ครั้นพอถึงปี 61 นี้เรามีผู้โดยสารมากถึง 60 ล้านเข้าไปแล้ว นั่นหมายความว่าหากเราขยายเฟส 2 เสร็จตามกรอบเวลา ก็จะทำให้ศักยภาพของสนามบินสอดรับกับปริมาณผู้โดยสารได้อย่างสมดุลกันในปี 60 ซึ่งนั่นเป็นความคาดหวังในอดีตที่เราหวังว่ามันจะสัมพันธ์กัน แต่แล้วเหตุการณ์ไม่เป็นอย่างนั้น กลับกลายเป็นว่า ณ วันที่เราเริ่มตอกเสาเข็มในเฟส 2 คือปลายปี 59ผู้โดยสารปาเข้าไป 60 ล้านคนต่อปีเรียบร้อย

“การขยายเทอร์มินัล 2 สามารถรองรับได้เพิ่มอีก 30 ล้านคนต่อปี ประเด็นที่สนใจก็คืออาคาร Satellite Terminal 1 ซึ่งเป็นเฟส 2 และกำลังสร้างอยู่ในเวลานี้ เป็นพื้นที่อยู่ภายใน Air Size คือหลังพื้นตม.เข้าไป แต่พื้นที่ที่เป็นคอขวดสนามบินสุวรรณภูมิในปัจจุบันจะอยู่บริเวณที่เป็น Land Size คือพื้นที่ชานชาลา เคาท์เตอร์เช็คอินของสายการบินต่างๆ ก่อนที่จะเข้าจุดตรวจข้น กับความคาดหวังการขยายเฟส 2 ในพื้นที่ที่เป็น Satellite Terminal 1 ที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปี แต่ทว่า ด้วยความที่คอขอดอยู่ที่ Land Size ทำให้การขยายปีกด้าน East wing ตามแผนเดิมรองรับได้อีก 15 ล้านคน”

คำถามก็คือว่าเมื่อพื้นที่ข้างหลังที่เป็น Satellite Terminal 1รองรับได้ 30 ล้านคน ขณะที่ข้างหน้าได้ 25 ทำให้ทั้งโครงการเฟส 2 รองรับเพิ่มขึ้นแค่ 15 ล้านคน ก็เป็นไปตามที่ถกเถียงกันที่ว่าตามแผนเดิมที่ต้องมีทั้ง East Wing และWest Wing เพื่อจะบวกได้ปีกละ 15 ล้านคน ซึ่งจะสมดุลกับอาคาร Satellite Terminal1 ที่ 30 ล้านคนพอดี

“แต่ประเด็นมันไม่ได้เป็นอย่างที่คาดหวัง เพราะการก่อสร้างที่ต้องเปิดพื้นที่ทั้งฝั่ง East Wing และWest Wing จะทำให้เสียพื้นที่บริเวณเคาท์เตอร์เช็คอินไปประมาณ 20 % ดังนั้น สนามบินที่เปิดบริการไปด้วยและก่อสร้างไปด้วย ก็ไม่อาจดำเนินการได้ตามอุดมคติมากนัก”

ทำเลที่ตั้ง “เทอมินัล2” เอื้อสถานการณ์ปัจจุบัน

กับข้อสงสัยว่าเมื่อสร้างเทอมินัล 2 ณ ทำเลที่ตั้งในปัจจุบันนี้จะมีปัญหาด้าน Land Size มากมายมหาศาล หรืออาจส่งผลกระทบต่อปัญหาการจราจรจะสวิงออกไปในทิศทางไหน รวมไปถึงปัญหาหลุมจอดหรือไม่นั้น กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ทอท. ไขข้อสงสัยว่า ในประเด็นข้อสงสัยเหล่านี้ไม่มีปัญหาเลย เพราะทางวิศวกรได้มีการออกแบบไว้เป็นที่เรียบร้อย เครื่องบินขนาดใหญ่ที่ต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ มีหลุมจอดหลักอยู่ที่อาคาร Satellite มีหลายหลุมจอดอยู่ที่นั่นสามารถจอด A380 ได้เป็น 10 ลำ ขณะที่ปัญหาการจราจรที่เป็นห่วงกันนั้น ถนนที่วิ่งเข้าสู่เทอมินัล 1 ก็จะถูกแยกออกเข้าสู่เทอร์มินัล 2 เพื่อกระจายการจราจรโดยเฉพาะ

“ถามว่าทำไมไม่สร้างตามแผนแม่บทเดิมที่ฝั่งทางเข้าถนนบางนา-ตราด นั้น ตามที่ผมได้เกริ่นไว้ก่อนนี้ ต้องบอกว่าเวลานี้ผู้โดยสารที่สนามบินสุวรรณภูมิแซงหน้าศักยภาพสนามบินไปไกลถึง 60 ล้านคนต่อปีแล้ว ถ้าเราสร้าง Satellite Terminal 1 แล้วต้องมีการเปิดหน้างานก่อสร้างทั้ง 2 ปีกของอาคารในคราวเดียวกัน ซึ่งไม่สามารถทำได้ เพราะหากเปิดหน้างานทั้ง 2 ปีกก็จะกินพื้นที่ตรงเคาเตอร์ประมาณ 20-25 % และจะเกิดความโกลาหลอย่างมาก เพราะพื้นที่ตรงเช็คอินก็จะหายไปครึ่งหนึ่ง”

อย่างไรก็ดี ดร.นิตินัย สรุปปิดท้ายว่าทอท.จึงมีความจำเป็นต้องสร้างเทอมินัล 2 ตามแผนขยายสุวรรณภูมิเฟส 3 ณ ทำเลที่ตั้งดังกล่าวมาคั่นกลาง อย่างไรก็ดี อาคารผู้โดยสารตามแผนแม่บทเดิมฝั่งถนนบางนา-ตราด ก็จะสร้างตามมาเหมือนกัน แต่จะอยู่ในเฟส 5 ก็คือ South Terminal ตามแผนก่อสร้างปี68 แล้วเสร็จปี 73