คจร. รับทราบคืบหน้ารถไฟฟ้า 5 จังหวัด เคาะ “เมืองหมอแคน” นำร่องสายสีแดง

0
84

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ณ ทำเนียบรัฐบาลว่าที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้าการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองภูมิภาค 5 จังหวัด คือ ภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น และพิษณุโลก วงเงินรวมทั้งหมด 363,311.14 ล้านบาท เริ่มจากโครงการรถไฟฟ้ารางเบา จ.ภูเก็ต ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบ เบื้องต้นระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบา TRAM การจัดทำแผนจัดการจราจร และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยโครงการรถไฟฟ้ารางเบา จ.ภูเก็ต เป็นโครงการของกระทรวงคมนาคม ตามมาตรการ PPP Fast Track ปี 2560 แนวเส้นทางจากบ้านท่านุ่น จ.พังงา ถึงบริเวณห้าแยกฉลอง จ.ภูเก็ต ระยะทางรวม 58.525 กิโลเมตร มูลค่า39,406.06 ล้านบาท ระยะแรกจากสนามบินภูเก็ตถึงห้าแยกฉลองระยะทาง 41.70  กิโลเมตร มูลค่า 30,154.51 ล้านบาท ซึ่งเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2561 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาให้ รฟม. สามารถดำเนินกิจการรถไฟฟ้าใน จ.พังงา และภูเก็ตได้

ส่วนโครงการระบบขนส่งมวลชน จ.เชียงใหม่ ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินโครงการ โดย สนข. ได้จัดทำแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองเชียงใหม่ และจัดทำแผนจัดการจราจร พร้อมแผนพัฒนาพื้นที่ TOD เสร็จเรียบร้อยแล้ว และเป็นโครงการของกระทรวงคมนาคม ตามมาตรการ PPP Fast TraCK ปี 2560 มี 3 เส้นทางหลัก ประกอบด้วย สายสีแดง มีจำนวนสถานีทั้งหมด 12 สถานี ระยะทาง 12.54 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุน 28,726.80 ล้านบาท สายสีน้ำเงิน มีจำนวนสถานีทั้งหมด 13 สถานี ระยะทาง 10.47 กิโลเมตร มีมูลค่าการลงทุน 30,399.82 ล้านบาท และสายสีเขียว มีจำนวนสถานีทั้งหมด 10 สถานี ระยะทาง 11.92 กิโลเมตร มีมูลค่าการลงทุน 36,195.04 ล้านบาท รวมระยะทางทั้งหมด 34.93 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุนทั้งโครงการทั้งสิ้น 95,321.66 ล้านบาท โดยระบบหลักจะเป็นรถไฟฟ้ารางเบา TRAM มีระบบรองเป็นรถประจำทาง 7 สายทาง รวมระยะทาง 90 กิโลเมตร และระบบเสริมรถประจำทางอีก 7 สายทาง รวมระยะทาง 85 กิโลเมตร ซึ่งมอบหมายให้ รฟม. รับผิดชอบดําเนินโครงการ โดยสายสีแดงจะเป็นโครงการนำร่อง มีทางวิ่งระดับดิน (เขตชานเมืองวิ่งร่วมกับบางส่วน) ผสมกับใต้ดิน (เขตเมือง) ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2561 ครม. ได้เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาให้ รฟม. สามารถดำเนินกิจการรถไฟฟ้าใน จ.เชียงใหม่ ได้

โครงการระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินโครงการ โดย สนข. ได้ดำเนินการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา และจัดทำแผนจัดการจราจร พร้อมแผนพัฒนาพื้นที่ TOD เสร็จเรียบร้อยแล้ว เป็นระบบรถไฟฟ้า LRT ระบบหลัก มี 3 เส้นทางหลัก ประกอบด้วย สายสีเขียว มีจำนวนสถานีทั้งหมด 18 สถานี ระยะทาง 11.17 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุน 8,400 ล้านบาท สายสีส้ม มีจำนวนสถานีทั้งหมด 17 สถานี ระยะทาง 9.81 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุน 5,200 ล้านบาท สายสีม่วง มีจำนวนสถานีทั้งหมด 9 สถานี ระยะทาง 7.14 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุน 4,800 ล้านบาท รวมระยะทาง 28.12 กิโลเมตร ส่วนต่อขยายมี 3 เส้นทาง ประกอบด้วย สีเขียว สีส้ม และสีม่วง รวมสถานีทั้งหมด 20 สถานี ระยะทางรวม 21.97 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุนส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง จำนวน 14,200 ล้านบาท รวมมูลค่าการลงทุนทั้งโครงการทั้งสิ้น 32,600 ล้านบาท ซึ่ง รฟม. เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการ โดยมีสายสีเชียวเป็นโครงการนำร่อง ขณะนี้ รฟม. อยู่ระหว่างกระบวนการออกพระราชกฤษฎีกาให้อํานาจ รฟม. ในการดำเนินโครงการใน จ.นครราชสีมา

โครงการศึกษาออกแบบรายละเอียดระบบขนส่งสาธารณะในเขต จ.ขอนแก่น และผลกระทบแวดล้อม โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบผลการศึกษาออกแบบรายละเอียดระบบขนส่งสาธารณะในเขต จ.ขอนแก่น และผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่ สนข. ได้ศึกษาไว้ และอนุญาตให้ จ.ขอนแก่น เป็นผู้พัฒนาและบริหารจัดการโครงการตามแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองขอนแก่นดังกล่าว เฉพาะในเส้นทางนำร่องสายสีแดง (สำราญ-ท่าพระ) ที่ สนข. ออกแบบรายละเอียดไว้แล้ว ภายใต้กฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง หรือ มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) มีจำนวนสถานีทั้งหมด 16 สถานี เป็นโครงสร้างยกระดับ 6 สถานี และระดับดิน  10 สถานี ระยะทาง 22.8 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและงานโยธา 26,963 ล้านบาท

“ในส่วนโครงการจ.ขอนแก่น ไม่ต้องกลับมาเสนอให้ ครม. พิจารณาอีก ก็ให้จังหวัดดำเนินการ เพราะจังหวัดมีอำนาจของเขาอยู่แล้ว ในการทำระบบขนส่งสาธารณะอยู่แล้ว ซึ่ง จ.ขอนแก่น เขายืนยันมาว่า มีความพร้อม เขาอยากทำ ความเห็นผม ผมว่าดีนะที่ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการลงทุน และเป็นโครงการของจังหวัด คนในจังหวัดได้ประโยชน์เต็ม ๆ”

ขณะที่โครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบระบบขนส่งสาธารณะเมืองพิษณุโลก โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบผลการศึกษาโครงการดังกล่าว ตามที่ สนข. ได้ศึกษาแล้วเสร็จ เมื่อเดือน มี.ค. 2561 และมอบ รฟม. รับไปดำเนินการตามขั้นตอนและสอดคล้องกับระยะเวลาที่เหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ เทคโนโลยีระบบขนส่งสาธารณะที่มีความเหมาะสมกับแนวเส้นทาง ประกอบด้วย 3 รูปแบบ ได้แก่ รถโดยสารขนาดปกติ (Regular Bus) รถโดยสารขนาดเล็ก (Micro Bus) และรถรางล้อยาง (Auto Tram) มีแผนการดำเนินงาน ดังนี้

แผนระยะที่ 1 จำนวน 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 80.5 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 3,206.57 ล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างได้ในปี 2563-2564 และเปิดให้บริการในปี 2565 แผนระยะที่ 2 จํานวน 2 เส้นทาง รวมทั้งส่วนต่อขยายเส้นทางระยะที่ 1 รวม 8 เส้นทาง ระยะทางรวม 30.1 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 911.42 ล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างได้ในปี 2572–2573 และเปิดให้บริการในปี 2574

ทั้งนี้ ผลการศึกษาเสนอให้ดำเนินการตามแผนระยะที่ 1 เส้นทางสายสีแดง เป็นลำดับแรก ซึ่งเป็นระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบรถรางล้อยาง (Auto Tram) มีจำนวนสถานีทั้งหมด 15 สถานี ระยะทาง 12.6 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 762.29 ล้านบาท แนวเส้นทางจากมหาวิทยาลัยพิษณุโลก-สถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 2–สถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 1–วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ–ศาลากลางจังหวัด–มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม (ส่วนทะเลแก้ว)–หมู่บ้านพิษณุโลกเมืองใหม่