ในที่สุดแล้วไม่อาจต้านทานเอาไว้ได้  ส่งออกเดือนกันยายน 2561 ลดวูบในรอบ 9 เดือน  เหตุจากสงครามการค้าสหรัฐ- จีน ที่ยังมองไม่เห็นทางว่า ทั้งสองประเทศยักษ์ใหญ่ใครจะยอมยก “ธงขาว ” ยอมแพ้ยุติสงครามการค้า   หากแต่ผลเริ่มเห็นชัดเจนมากขึ้น   จากก่อนหน้านี้มูลค่าส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นดีวันดีคืนต่อเนื่องตลอด นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 61  จนกระทั่งถึงผ่านพ้นกลางปีแล้ว

เป็นไปตามคาดการณ์ของหลายฝ่าย   ล่าสุด  กระทรวงพาณิชย์รายงานภาพรวมส่งออกเดือนกันยายนว่า  ส่งออกลดต่ำลงจากเดือนกันยายน 2560 กว่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 5.2 %  หรือลดต่ำลงครั้งแรกในรอบ 19 เดือน

ส่วนแนวทางรับมือผลกระทบของผู้ประกอบการภาคธุรกิจการส่งออกของไทย  ซึ่งเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทย  อย่าง เช่น  สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.)  ซึ่งเป็นกลุ่มเอกชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจะแนวทางรับมือสงครามการค้าต่อไปอย่างไรบ้าง

ไพบูลย์  พลสุวรรณา ที่ปรึกษาสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยกับ LOGISTICS TIME “ถึงผลพ่วงของสงครามการค้าระหว่าง 2 ประเทศยักษ์ใหญ่ ว่า ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เหนือความคาดหมายเท่าไหร่   มูลค่าส่งออกเดือนกันยายนลดต่ำลง   เนื่องจากธุรกรรมต่างๆได้เกิดขึ้นไปแล้วในช่วงฤดูกาลร้อนและช่วงฤดูการท่องเที่ยวของต่างชาติ   หลังจากนี้อยู่ระหว่างการรอเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่    ฉะนั้น นับต่อจากนี้สัญญาณส่งออกจะเริ่มต่ำลง นับจากเดือนกันยายน  ตุลาคม และพฤศจิกายน จะมีตัวเลขไม่น่าดูเท่าไหร่  เพียงแต่เปรียบเทียบกับปี 60 ปี ฐานส่งออกของไทยเติบโตเพิ่มขึ้นมาก  ดังนั้น จึงทำให้ปีนี้ส่งออกติดลบมาก  แต่ความจริงส่งออก 9 เดือนอัตราเติบโตอยู่ 8.13%  ดังนั้นจึงเป็นไปตามคาดการณ์ปี 61 อัตราเติบโตไม่เกิน 9%

ส่วนอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ  แม้ธนาคารโลกปรับลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของการค้าระหว่างประเทศลงแล้วก็ตาม   แต่เนื่องจากประเทศไทยได้ผ่านการแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆทั้งหลายทั้งปวงภายในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งส่งผลทำให้เรามีตลาดหลักที่เป็นตลาดรอบๆบ้านเรารองรับการส่งออกมากขึ้น  ขณะที่ตลาดส่งออกอย่างสหรัฐก็มีการเติบโตบ้างาเล็กน้อย รวมทั้ง ตลาดส่งออกในญี่ปุ่นเริ่มเติบโตมากขึ้นจากที่ถดถอยหลายปีเช่นกัน   แต่ตลาดส่งออกในจีนน่าเป็นห่วงเพราะติดลบเยอะมาก  ซึ่งก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าจะทำอย่างไร

 ไม่เพียงแต่ส่งออกวูบ ยังลามถึงท่องเที่ยวไทย    

ไพบูลย์กล่าวว่า  กลุ่มสินค้าส่งออกที่ได้รับผลกระทบส่งออกลดต่ำลงในเดือนกันยายนประกอบด้วยกลุ่มสินค้าทองคำ  สินค้าน้ำมัน  สินค้าเกษตร  ยางพารา  กลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป แต่อย่างไรก็ตาม  ข้าว ผลไม้ กระป๋อง ยังมีสัดส่วนมูลค่าส่งออกได้ดี   แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าโอกาสมูลค่าส่งออกยังคงรักษาระดับอยู่ที่ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐไปถึงสิ้นปีนี้  หรือเติบโต 8%   และคาดการณ์ส่งออกเดือนตุลา คาดว่าน่าจะลดต่ำกว่าเดือนกันยา และเดือนพฤศจิกายน จะลดตกลงไปอีก  แต่ยังคงรักษาระดับ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

 “พิษสงครามการค้าสหรัฐ จีน นอกเหนือจากกระทบส่งออกไทยแล้ว คิดว่ายังกระทบไปถึงภาคการท่องเที่ยวของไทย  โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนที่เดินทางมาเที่ยวไทยลดต่ำลง    เพราะอัตราการส่งออกของการค้าระหว่างสหรัฐ จีน มีส่วนทำให้กำลังการผลิตลดลง จึงส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของประชาชนในจีน ซึ่งกระทบต่อการใช้จ่ายซื้อสินค้าในเทศทางฉลองในช่วงเทศกาลสิ้นปี 2561 นี้  กลายเป็นกระทบต่ออุตสาหกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับการให้การบริการ”

แนวทางรับมือแก้ปัญหาท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวชาวจีนที่หดหายให้กลับมา   อยากให้มองในทำนองคนไทยเมื่อเดินทางไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นบ้าง   ถามว่ามีความสุขหรือไม่ ทุกคนไม่ห่วงเรื่องความปลอดภัยไม่ห่วงใครจะมาหลอกลวง  ไม่ถูกโกงราคาสินค้า  นั่นเป็นหลักคิดเราต้องแก้ไขในระยะยาวให้ได้  ความจริงคนไทยมีอุปนิสัยที่ดี ยิ้มแย้ม แจ่มใสอยู่แล้ว  อาจจะมีคนบ้างกลุ่มที่เห็นแก่ตัวเพื่อตัวเอง  ทำให้ภาพใหญ่เสียหาย  ส่วนในเชิงทฤษฎีก็ว่ากันไป เช่น ค่าธรรมเนียมซีซ่าเป็นเรื่องเล็กน้อย  การประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวก็ดำเนินการไปเยอะแล้ว  ส่วนอาหารไทยก็เป็นอาหารที่อร่อยที่สุด ทั้งหมดเราต้องช่วยกันการแก้ไข รวมทั้ง การเดินทางเส้นทางการขนส่ง ก็เป็นสิ่งสำคัญ

 ชูธงตั้งสหกรณ์เกษตร ต้านพิษสงคราม  

ไพบูลย์กล่าวอีกว่า ส่วนการส่งเสริมให้มีการใช้สินค้าไทยแบรนด์ไทย  เพื่อรับมือสงครามการค้าสหรัฐ จีน ซึ่งยิ่งจะรุนแรงเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ      เราต้องยอมรับว่า มูลค่าสินค้าที่เราจ่ายเงินไปแล้วต้องให้ได้สินค้ากลับมาเป็นสินค้าที่มีคุณภาพมากที่สุด เพื่อให้คุมค่ากับเงินที่ใช้จ่ายออกไป   ดังนั้น อุตสาหกรรมสินค้าไทยก็ต้องยกระดับคุณภาพตัวเองก็ฝืนความรู้ผู้ซื้อพอสมควรเช่นกัน  การกระตุ้นให้ใช้สินค้าไทยดำเนินการมาก่อนหน้าเมื่อ 20 – 30 ปีแล้ว

“ สรท. เป็นกลุ่มผู้ประกอบการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก   แต่การผลิตสินค้านั้นก็ควรผลิตให้ตอบโจทย์กับผู้ใช้สินค้าภายในประเทศด้วย จึงไม่ควรผลิตสินค้าให้มี 2 มาตรฐาน หมายถึง การผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกและจำหน่ายภายในประเทศจะต้องไม่มีราคาแตกต่างกันมากนัก  จุดเด่นสินค้าไทย อาหารไทยเราโดดเด่นอยู่แล้ว ความเป็นเอกลักษณ์ก็ต้องพูดถึงราคาด้วย  ตนต่างชาติเมื่อผลิตสินค้าก็คิดถึงคนทั้งโลก”

นอกจากนี้ แนวทางการรับมือสงครามการค้าสหรัฐ จีน  ประการสำคัญอยากแนะนำให้หันมาสนับสนุนกลุ่มสินค้าเกษตรให้มากขึ้นกว่าเดิม ด้วยการร่วมตัวกันเป็นสหกรณ์นั้นได้พูดเคยเรื่องนี้หลายปีแล้ว   แต่ที่ผ่านมา ยังไม่เคยเห็นสหกรณ์เข้มแข็ง   แม้ว่าความจริงสหกรณ์ทั้งหมด ไม่ว่าจะระดับตำบล อำเภอ จังหวัดก็ตาม   แต่ผลดีของการร่วมตัวกันเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตกลายเป็นประโยชน์ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง    ขณะเดียวกัน สหกรณ์มีหน้าที่ดูแลมาตรฐานคุณภาพของแต่ละสหกรณ์  เพื่อก้าวสู่มาตรฐานสหกรณ์ของประเทศและมาตรฐานของอาเซียน

อีกทั้ง การทำให้สหกรณ์มีการแข่งขันกันระหว่างสหกรณ์สามารถยกระดับเรื่องคุณภาพสินค้า และก้าวไปสู่มาตรฐานการกำหนดราคา ที่เป็นธรรมต่อเกษตรกรโดยสหกรณ์รวมตัวกันหาค่าเฉลี่ยให้ได้ 2 หลักของคุณภาพ ให้ได้ราคาการผลิตที่เหมาะสม ต้นทุนก็ต่ำลดต่ำลง และดูแลการตลาดไม่ได้โยนทิ้ง 30% อย่างทุกวันนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย