เกราะป้องกันการโกง

0
415

มโหฬีปี่กลองทางการเมืองที่กำลังรัวกลองรับฤดูกาลหาเสียงดูจะสร้างความคึกคักให้กับบรรดาพรรคการเมืองและนักเลือกตั้งทั้งหลาย หลังจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) “ปลดล็อค” ให้พรรคการเมืองและนักการเมืองกลับมาดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้แล้วบางส่วน

แต่การหาเสียงเต็มรูปแบบนั้นยังคงต้องรอไฟเขียวจาก “คณะกรรมการการเลือกตั้ง”หรือ “กกต.”ที่จนป่านนี่ยังไม่ “ตกผลึก” ว่ากิจกรรมทางการเมืองใดบ้างที่พรรคการเมืองและนักการเมืองทำได้ ทำไม่ได้อย่างไร มันจึงเป็นความอิหลั่กอิเหลื่อ “ที่พรรคการเมืองหนึ่งอยากทำอะไรก็ทำได้ทุกอย่าง ขณะอีกพรรคแค่หายใจแรงๆ ยังถูกจ้องจับผิดจะแจกใบเหลืองใบแดงกันซะให้ได้! 

ขณะที่ความคาดหวังของประชาชนคนไทยที่มีต่อการเลือกตั้งหนนี้ ที่แม้รัฐบาลคสช.จะยืนยัน นั่งยันว่า ไม่ได้เข้าไปแทรกแซงการทำงานขององค์กรอิสระที่ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง แต่ด้วยพฤติกรรมที่แสดงออกมาของ กกต.เองนั้น กลับทำให้ประชาชนคนไทยเริ่มไม่ไว้วางใจการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระแห่งนี้ว่ายังคงจะดำรงสถานะความเป็น “องค์กรอิสระ” ที่ประชาชนคนไทยจะฝากความหวังไว้ได้มากน้อยแค่ไหน

เพราะพฤติกรรมการแสดงออกของผู้บริหารองค์กรนี้ ไล่ดะมาตั้งแต่การรับลูกนายกฯจะให้ตัดชื่อพรรคและโลโก้พรรคการเมืองออกจากบัตรเลือกตั้งให้มีแต่เลขหมายผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่ามี “วาระซ่อนเร้น”ที่ยากจะอรรถาธิบายต่อสังคม

ลำพังแค่การกำหนดเขตเลือกตั้งสุดพิสดารประเภท 1 อำเภอ 4 เขตเลือกตั้ง กำหนดเบอร์ผู้สมัครต่างเขตต่างพรรคเอาชนิดต่อให้เป็นอำเภอเดียวกันแต่ละคนละเขตเลือกตั้งก็จำกันไม่หวาดไม่ไหวหาไม่ได้อีกแล้วใน 3 โลกนั้นก็ทำเอาผู้คนเอือมระอากันพออยู่แล้ว

เมื่อมาเจอกับ “ไทม์ไลน์เลือกตั้ง” ที่กกต.กำหนดเอาไว้ยิ่งทำให้หลายฝ่ายใจระทึก กำหนดวันเลือก 24 กุมภาพันธ์ แต่กว่าจะรับรองผลอย่างเป็นทางการวันสุดท้ายก็ 24 เมษายนหรือ 60 วันหลังการเลือกตั้ง ไปแล้ว “สุญญากาศ” ร่วม  2 เดือนที่ว่านั้นมันมี”วาระซ่อนเร้น”อะไรรออยู่หรือไม่?

เกจิทางการเมืองบางคนฟันธงเอาไว้ นั่นแหล่ะบันได 7 ขั้นที่นักการเมืองที่หมายมั่นปั้นมือจะเดินเข้าสู่สภาต้องเผชิญ เพราะกระบวนการรับรองผลเลือกตั้งในครั้งนี้ถูกจัดฉากเอาไว้ชนิดที่เรียกได้ว่า หากนักการเมืองที่ชนะเลือกตั้ง “ส.ส.เขต”ไม่ใช่พรรคการเมืองหรือนักการเมืองที่ถูกวางไทม์ไลน์เอาไว้แล้ว ก็อาจเกิดเหตุไม่คาดฝันที่ทำให้โดน “ใบเหลือง-ใบแดง”จนมึนไปแปดตลบ จนกว่าจะได้ว่าที่ ส.ส.ที่ล็อกคอกันเอาไว้เดินเข้าสู่สภาหินอ่อนกันนั่นแหล่ะ

ด้วยเหตุนี้ หนทางในอันที่จะแก้เกม “สุดอัปยศ”ที่จะเกิดขึ้นนั้น จึงไม่เพียงจะอยู่ที่ประชาชนคนไทยต้องลุกขึ้นมาปกปักษ์รักษาสิทธิ์ไม่ให้ถูกใครปล้นเอาไปแล้ว ยังต้องหวังพึ่งพา “เยาวชนคนรุ่นใหม่” ที่เป็นนิสิต นักศึกษานี่แหล่ะที่ต้องกระโดดออกมาเป็นหูเป็นตาแทนประชาชนหรือองค์กรในภาคประชาชน

ไม่ต้องไปหวังพึ่งต่างชงต่างชาติอะไรหรอก เขาจะหอบกันมาได้สักกี่คน เจอเขตเลือกตั้งในเขตบนเขา หรือเอาไปไว้ในป่าหิมพานต์ตามที่ กกต.ประเทศกูมีกำหนดเอาไว้นั้นก็ไม่มีปัญญาไปสังเกตสังกาได้แน่ สู้เอาเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นอนาคตของประเทศนั่นแหล่ะเข้ามาเป็นหูเป็นตาแทนประชาชนในการจับตาการเลือกตั้งหนนี้ในรูปแบบ “จิตรอาสา” แต่รัฐหรือ กกต.ก็ต้องจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้สมน้ำสมเนื้อด้วย 

จะ 350 เขตเลือกตั้งจะมีจุดเลือกตั้งกันกี่หมื่น กี่แสนจุด หากรัฐบาลและ “กกต.ประเทศกูมี” มีความโปร่งใส จริงจังจริงใจที่จะให้การเลือกตั้งครั้งนี้บริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างแท้จริงก็ควรต้องหารือกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อรับเอาเยาวชนนิสิต นักศึกษาที่เป็นจิตรอาสาเข้ามาดูแลและสังเกตการการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นนี้

พลังนักศึกษา คนรุ่นใหม่จากรั้วมหาวิทยาลัยนั้นยังไงเสียเป็นพลังบริสุทธิ์ที่ยังคงไม่แปดเปื้อนการเมือง ยังคงเป็นความหวัง เป็นที่พึ่งของประชาชนคนไทยได้บ้าง หากมีการกระตุ้นให้ออกมาทำหน้าที่ตรวจสอบและร่วมกันสอดส่องกระบวนการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์หนนี้ก็น่าจะเป็นหนทางออกที่ดีของประเทศไม่น้อย หากกำลังนิติ นักศึกษาเหล่านี้ยังไม่เพียงพอจะดึงอาชีวศึกษาเข้ามาร่วมด้วยก็ไม่เสียหาย เป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้ระบอบประชาธิปไตยไปในตัว

ทุกคนคงจำได้ กับกรณีเปิดโปงและทะลายเครือข่ายขบวนการโกงเงินสงเคราะห์คนจนนั้นก็มาจากพลังอันบริสุทธิ์ของนักศึกษาอย่าง “น้องแบม”ที่ออกมาเปิดโปงการคดโกงของเจ้าหน้าที่ /ข้าราชการในสังกัดกระทรวงพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์(พม.) นำไปสู่การทะลายเครือข่ายโกงกินเงินคนจนทั่วประเทศที่ทำลายลงราวภูเขาถล่ม

หากครั้งนี้นักศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัยทั่วประเทศจะออกจากรั้วมหาวิทยาลัยมาทำหน้าที่สอดส่องพฤติกรรมและกระบวนการเลือกตั้ง เราเชื่อแน่ว่าจะสกัดขบวนการโกงการเลือกตั้งที่กำลังตั้งแท่นกันอยู่ได้อย่างแน่นอน!!!