ฝันไปหรือเปล่าเพ่? อีก 3 ปี MAN ผงาดเบอร์ 1 หรือ 2 ในไทย

0
1262

เหลือบเห็นคำให้การข่าวกับสื่อของมร.ธีโล่ ฮัลเตอร์ President/MD Head of MAN Truck & Bus Area Asia Pacific ในไทย ที่ออกโรงฉายหนังตัวอย่างถึงกลยุทธ์และทิศทางการโม่แป้งการตลาดด้วยตัวเองกับมือหลังค่ายพญาราชสีห์ MAN จะหมดสัญญาลงกับกลุ่มตันจงในสิ้นเดือนต.ค.62 ที่จะถึงนี้

โดย MAN Truck & Bus Asia Pacific ในฐานะเจ้าของแบรนด์ภูมิใจนำเสนอเส้นทางการเดินของรถใหญ่ MAN ด้วยการประกาศเซ็ตอัพ Area APAC ใหม่ในไทยกุมบังเหียนการตลาดเองในหลายประเทศ Asia Pacific รวมทั้งไทยแลนด์แดนศิวิไลซ์อีกด้วย  

เคลียร์ชัดไม่อาศัยจมูก  Importer หายใจอีกต่อไป พร้อมเดินหน้าลุยไฟทำตลาด ‘ชงเองกินเอง’ ชูสโลแกน MAN – Simply #1 ด้วยกลยุทธ์‘ลูกค้าเข้าถึงง่าย’ ยันยังผูกปิ่นโตธุรกิจกับดีลเลอร์พร้อมขยายเน็ตเวิร์คเพิ่ม ผุดแผนสร้างแวร์เฮ้าส์สต๊อกอะไหล่ ลั่นอีก 3 ปีผงาดเบอร์ 1 หรือ 2 รถใหญ่ยูโรปในไทย

แหมะ!!เรียนตามตรงนะครับพลันที่ได้ชมตัวอย่างก็เกิดอาการหงุดหงิดตามง่ามมือยังไงชอบกล และโทษฐานที่ไอ้กระผมได้หลงระเริงในวังวนป่าดงดิบข่าวสิบล้อเมืองไทยมาเกือบ 1 ทศวรรษ กระทืบซ้ำเหตุผลเพียงพอขออนุญาตเปิดฟลอร์เริงระบำพลางชำแหละ  4 ประเด็นเด็ด ดังนี้ ;

1.บทบาทสีจางๆและหมอกควัน MAN Truck & Bus Area APAC ในไทย

การเซ็ต Area APAC ใหม่ในไทยอีกคำรบ โดยยึดไทยเป็นฐานบัญชาการกุมตลาดในหลายประเทศ Asia Pacific รวมทั้งไทย สะท้อนว่า Area APAC กลับมาใช้มุขหากินแบบเดิม คือขายเองโดยตรง โบกมือบ๊ายบายไม่เอาแล้ว “ดิสทริบิวเตอร์ หรือ Importer” มีเพียงแค่ยอมผูกปิ่นโตธุรกิจกับดีลเลอร์เท่านั้น

มร.ธีโล่ ให้เหตุผลการเซ็ตอัพครั้งนี้ เป็นการดีซะอีกที่ Area APAC สามารถตัดสินใจได้ทันทีในการเข้ารวบรวมตลาดใน Area APAC ถือเป็นการเข้ามาใกล้ชิดกับตลาดที่เราดูแลเองมากกว่าการที่สำนักงานใหญ่จะลงมาตัดสินลงใจมาแก้ปัญหาแต่ละเรื่องเอง

แม้จะเข้าใจในหลักการและบทบาท Area APAC ไอ้กระผมก็ยังงในงง Area APAC นอกจากจะมีคนเยอรมันฝังกายอยู่ด้วยแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางทีมงาน&มือการตลาดระดับพระกาฬในแต่ละประเทศ Asia Pacific มัดรวมกันอยู่ที่นี่

งงในงง!!แล้วจะเคลื่อนกำลังพลอย่างไร?ให้เข้าถึงลูกค้าได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อดัน MAN เติบโตอย่างรวดเร็ว ไอ้ที่ว่าขายตรงน่ะ มันคือการสั่งการหรือชี้นิ้วชี้ไม้พลางบีบยอดขายจากดีลเลอร์อย่างงั้นรึ? ถ้าเส้นทางนี้มันเวิร์คไอ้กระผมก็ขออนุโมทนาสาธุการปังๆด้วย

แต่หากสวนทางกันอาจจะถูกชยันโตจนบาตรน้ำมนต์กระเด็นเซ่นพิษข้อครหามันก็ไม่ต่างอะไรกับศูนย์พักพิงนานาชาติ  Area APAC อะไรพันธุ์นั้น?!

2.สโลแกน MAN – Simply #1  เลี่ยงบาลี-สีข้างถลอก หรือแค่วาทกรรมสร้างภาพ?

การดึงรถใหญ่ MAN มาทำเองครั้งนี้โดยชูสโลแกน MAN –Simply #1 ทาง Area APAC ย้ำเป้าหมายขอเป็นที่ 1 ในใจแฟนนานุแฟน MAN ด้วยมิติสำลัก“ความพึงพอใจ”จนล้นทะลัก ไม่ใช่ที่ 1 ในแง่มุมยอดขาย(ซะงั้น)

งงในงง!(อีกครั้ง)เมื่อพนักงานและลูกค้าของ MAN สำลักความสุขจนล้นแล้วยอดขายเราก็ดีขึ้นส่วนแบ่งทางตลาดก็จะมากขึ้นตามมา (ว่างั้น) ถามตรงๆไม่ต้องโต๊ด “ไม่อับอายขายขี้หน้าหรอครับหากทะลึ่งไปพูดเวทีไหนแล้วบอก MAN คือเบอร์หนึ่งในตลาดที่ลูกค้าพึงพอใจมากที่สุด? ใครล่ะจะเชื่อ-เข้าใจ-สัมผัสได้จริง?”

นี่บางประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พากันเรียกนี่มันคือการเลี่ยงบาลี-สีข้างถลอกปอกเปิก หรือการตลาดแบบศรีธนญชัย หรือไม่ก็อิแค่การสร้าง “วาทกรรมสร้างภาพ”?

3.ตั้งโรงงานผลิตในไทยค่อนข้างควบคุมมาตรฐานการผลิตได้ยาก งานนี้ค่ายสแกนเนีย-วอลโว่ ทรัคส์ มีเคือง?

เวลานี้ไม่มีแพลนสร้างโรงงานผลิต-ประกอบในไทย ยังนอนกอดหลักการนำเข้าทั้งคัน “เพราะมองว่าการตั้งโรงงานผลิตในไทยค่อนข้างควบคุมมาตรฐานการผลิตได้ยาก” แต่ในอนาคตอันใกล้มีแผนสร้างแวร์เฮ้าส์สต๊อกอะไหล่ในไทย เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทันท่วงที

อ้าว!!คุณเพ่เล่นหล่นตรรกะวิบัติให้เรี่ยราดเยี่ยงนี้แล้วหากเกิด 2 มหาอำนาจรถใหญ่ในไทย “วอลโว่ ทรัคส์ -สแกนเนีย” ที่อุตส่าห์ทุ่มทุนมหาศาลสร้างโรงงานผลิต-ประกอบในไทยหวังเป็นฐานผลิตขายในไทยและส่งออกได้ยินเข้าให้ เขาจะไม่ปลื้มคุณเพ่ฮัลเตอร์เอาน่า!

4.ลั่นอีก 3 ปี ผงาดเบอร์ 1 หรือ 2 ยูโรเปี้ยนทรัคในไทย ประทานโทษ! …ฝันไปหรือเปล่าเพ่?

ประเด็นที่ 4 นี่เด็ดสะระตี่ยี่ห้อเยอรมันตะวันแดง เพราะคุณเพ่ฮัลเตอร์ของกระผมแกเล่นกล้าบ้วนประโยคเด็ด “…มองไปข้างหน้าอีก 3 ปี  MAN น่าจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดก้าวขึ้นสู่อับดับที่ 1 หรือไม่ก็ 2 ตลาดรถใหญ่ยุโรปในไทย”

พอได้ยินนี่ไอ้กระผมอยากจะหัวเราะออกมาเป็นภาษามอนเตรเนโกรวันละ 3 ครั้งหลังอาหาร ไอ้เป้าหมายหรือความคาดหวังมันตั้งและคาดหวังกันได้ แต่ก็ควรยืนอยู่บนพื้นฐานเหตุผลและความน่าจะเป็นที่ใกล้เคียง…มิใช่หรือ?

เทียบบัญญัติไตรยางค์&พิกัดยอดขาย MAN ปีหนึ่งๆยังไม่ถึงใกล้เคียง 100 คันเลย ขณะที่เจ้าตลาดทั้งสแกนเนีย-วอลโว่ ทรัคส์ มียอดขายเฉลี่ยแต่ละปีค่ายละ 400-500 คัน นั่นแสดงว่าอีก 3 ข้างหน้า MAN ต้องขายให้ได้มากกว่า 700-800 คันต่อปีถึงจะก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 หรือ 2 ตลาดรถใหญ่ยุโรปในไทยได้

แล้วลองย้อนกลับมาสำรวจความพร้อมตัวเองหน่อยว่ามีมากน้อยแค่ไหน?ไม่ว่าจะเป็น ทีมงานขาย-บุคลากร ศูนย์บริการ-ดีลเลอร์ ทีมช่าง โรงงานผลิต ความหลากหลายของโปรดักส์ โอเคว่าแบรนด์ MAN ไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่ายอดเยี่ยมกระเทียมดองขนาดไหน แถมมีชาติตระกูลไม่แพ้วอลโว่ ทรัคส์ สแกนเนีย หรือแม้แต่เบนซ์

แต่ที่นี่คือไทยแลนด์ดินแดนพิศวงที่ทำเอามือฉมังทางการตลาดทั้งค่ายจีน ญี่ปุ่น ยุโรป ต่างก็พากัน “จอดไม่ต้องแจว”แล้วม้วนเสื่อกลับบ้านก็มีให้เห็นเป็นอุทาหรณ์สยองใจมานักต่อนัก

อย่าลืมนะครับว่าค่ายวอลโว่ ทรัคส์ ครองบัลลังก์เจ้ายุโรปในไทยนานเกือบ 3 ทศวรรษ ขณะที่ค่ายสแกนเนียก็ใช้เวลาเกือบ 30 ปีเช่นเดียวกันกว่าที่จะโค่นคู่รักคู่แค้นบ้านเดียวกันแล้วผงาดเป็นเจ้ายุโรป 2 ปีติด(60-61)ได้ในยามนี้

แล้วค่ายพญาราชสีห์ MAN ที่เพิ่งฝังหนอกในไทยได้ 12 ปี เมื่อถึงคราหวนกลับสู่อ้อมอก Area APAC แล้วกล้าประกาศศักดาก้องพงไพรสิบล้อไทยพลางสำแดงเขี้ยวเล็บหราจะแซงหน้า “สแกนเนีย-วอลโว่ ทรัคส์”ในอีก 3 ปีข้างหน้า ดูเหมือนจะเพ้อฝัน?หรือมันดูจะเร็วเกินไปหรือไม่ที่จะหล่นคำนี้ออกมา?

ก็มิอาจทราบได้ว่าคุณเพ่ฮัลเตอร์มั่นใจเต็มประดามาจากไหน? ถึงได้กล้าลั่นวาจาห้าวหาญถึงเพียงนี้!

:ปีศาจขนส่ง