ศึกเลือกตั้ง 62 เดิมพันสูง!ประชันนโยบาย “เกลือจิ้มเกลือ”

0
275

หลังเปิดม่านฟ้าปีหมูทอง 2562 แล้วองคาพยพประเทศไทยที่ถูกโฟกัสมากที่สุดคงหนีไม่พ้นศึกเลือกตั้ง 62 ที่ห้วงเวลานี้ทุกพรรคการเมืองน้อยใหญ่ต่างลงพื้นที่แนะนำว่าที่ผู้สมัครส.ส.พร้อมโชว์นโยบายหาเสียงกันสุดลิ่ม ทำให้อุณหภูมิการเมืองไทย ณ เวลานี้ร้อนระอุอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ตามไทม์ไลน์การเลือกตั้ง 62 ล่าสุดฉบับเนติกรบริกรมือฉมังอย่าง “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯได้วางโรดแมปไว้ การศึกเลือก 62 จะมีขึ้นในวันที่ 24 ก.พ.62 หรือไม่ก็ต่อเมื่อร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) การเลือกตั้งจะมีผลบังคับใช้ (คาดว่า) ไม่เกินวันที่ 4 ม.ค. 62 จากนั้นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะกำหนดวันรับสมัคร ส.ส.เขต-บัญชีรายชื่อ ในวันที่ 14-18 ม.ค. 62 และกำหนดให้พรรคการเมืองส่ง “บัญชีนายกฯ” 3 รายชื่อ ก่อนวันปิดรับสมัคร ส.ส. หรือไม่เกินวันที่ 18 ม.ค. 62

ทำให้อุณหภูมิทางการเมืองไทยจากนี้ไปดุเดือดเลือดพล่านและจับจ้องชนิดไม่กระพริบตา!

นับตั้งแต่หลังคสช.ปลดล็อคให้พรรคการเมืองต่างๆเริ่มลงพื้นที่และเปิดนโยบายหาเสียงได้ เสมือนปีกลองมโหระทึกทางการเมืองเริ่มประโคมโหรโรงกันแล้วหลังอัดอั้นมานาน เปิดทางให้พรรคการเมืองใหญ่ๆก็เริ่มเปิดนโยบายหาเสียงเลือกตั้งกันโครมคราม

ห้วงเวลานี้จะเห็นพรรคการเมืองทั้งพรรคใหญ่ พรรคกลาง พรรคเล็ก พรรคใหม่ พรรคเก่า ขยับเปิดตัวทำกิจกรรมการเมืองกันอย่างคึกคัก แม้จะยังไม่เต็มรูปแบบ 100% โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปแบบการตั้งเวที เดินสายปราศรัยหาเสียง จะเปิดทางให้กระหน่ำได้เต็มรูปแบบ เหมือนการเลือกตั้งคราวที่แล้วๆ มาหรือไม่ ต้องรอดูระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อีกครั้ง ที่จะคลอดออกมาในช่วงหลังมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง

การศึกเลือกตั้งครั้งนี้ถือว่ามีค่าการเดิมพันสูง และมีบรรดาพรรคการเมืองลงประชันกันบานตะไท แต่มีพรรคการเมืองใหญ่ที่น่าจับตาเป็นพิเศษคงหนีไม่พ้น 3 พรรคใหญ่ ได้แก่ “พลังประชารัฐ” “ประชาธิปัตย์” และ “เพื่อไทย” ที่ต่างงัดนโยบายประชานิยมมาประชันกันระเบิดเถิดเทิง

แม้ทั้งหมดจะเป็นการโหมโรงก่อนเข้าสู่โหมดจัดหนัก-จัดเต็มหลังร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) การเลือกตั้งจะมีผลบังคับใช้ นำไปสู่การรับสมัคร ส.ส.เขต-บัญชีรายชื่อ และการส่ง “บัญชีนายกฯ” 3 รายชื่อ กรุยทางสู่การหาเสียงสุดลิ่มทิ่มประตูก่อนวันเข้าคูหาเลือกตั้งใหญ่

พปชร.ลั่นนำพาประเทศก้าวข้ามความขัดแย้ง

ประเดิมด้วยพรรคพลังประชารัฐ ที่มี“ดร.อุตตม สาวนายน” หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ต่างรู้กันดีในฐานะสายตรงรัฐบาลคสช. และฟันธงได้ว่าจะมีการทาบทาม-เสนอชื่อ “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.เป็นนายกรัฐมนตรีในนามพรรคฯ พร้อมประกาศก้องพร้อมจะต่อยอดนโยบายรัฐบาล คสช. ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พร้อมทุ่มงบอัดฉีดแปดแสนล้านบาทต่อปี แจกฟรีสวัสดิการประชาชนตั้งแต่เกิดยันตาย

โดยดร.อุตตม สาวนายน เปิดเผยกลยุทธ์โกยคะแนนนิยมในการเลือกตั้งว่าจะเร่งแก้ปัญหาความยากจน มุ่งปรับโครงสร้างสู่เศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่ม ป้อนนวัตกรรม-เงินทุนให้เกษตรกรและเอสเอ็มอี ใช้พัฒนาสินค้ามูลค่าสูง ขยายตลาดในประเทศ ลดพึ่งพาการส่งออก พร้อมสานต่อโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

“พรรคพลังประชารัฐจะมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจากฐานรากเพื่อลดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยใช้ “การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่” ไปสู่เศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และการบริการ ส่งเสริมให้เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยซึ่งเป็นกลไกหลักของเศรษฐกิจฐานรากสามารถเข้าถึงนวัตกรรมและแหล่งทุนเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาต่อยอดแตกไลน์เกิดเป็นสินค้าตัวใหม่ที่มีมูลค่าสูง แทนการขายสินค้าเกษตรต้นทางหรือสินค้าและบริการรูปแบบเดิมๆ ใช้คุณภาพสินค้าเป็นตัวนำตลาด ซึ่งจะนำไปสู่การขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ ช่วยลดปัญหาการพึ่งพาการส่งออก”:

นอกจากนี้ อีกทั้งจะยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศให้เป็น regional connectivity และเป็นศูนย์กลางของอาเซียน สานต่อเรื่องอีอีซี เพราะเป็น magnet สำคัญ ยกระดับประเทศในสิ่งที่เป็นจุดแข็งให้มีความสามารถทางการแข่งขันให้มากที่สุด ตลอดถึงการลดความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจด้วยดิจิตอล เช่น เปลี่ยนร้านโชวห่วยให้กลายเป็นที่รองรับของชุมชน เป็นศูนย์รวบรวมสินค้าในชุมชนโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการซื้อสินค้าออนไลน์ ส่วนภาคการเกษตรยั่งยืนจะใช้การตลาดนำการผลิตใช้ข้อมูลวิเคราะห์เพื่อกำหนดพื้นที่และปริมาณการปลูกให้สอดรับกับความต้องการของตลาด มี “กองทุนเกษตรกรรม” เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร พัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร

 “วันนี้พรรคพลังประชารัฐมีความพร้อมทุกด้าน จะนำพาประเทศไทยก้าวข้ามความขัดแย้ง ต่อไปจะไม่มีขั้วอำนาจใดๆ พรรคเราไม่มีใครคนใดเป็นเจ้าของ แต่เจ้าของพรรคคือคนไทยทุกคน วันนี้ขอประกาศเสนอตัว ว่าพรรคพลังประชารัฐขอเป็นผู้นำพี่น้องประชาชนคนไทยก้าวสู่สังคมที่มั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน

 “ปชป.” ชูนโยบายเศรษฐกิจยุคใหม่-ลดเหลื่อมล้ำ

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ที่มี “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เป็นหัวหน้าพรรค ชูนโยบายประชานิยมสุดติ่ง เกทับนโยบาย “แจกฟรี”ซึ่งเป็นจุดขายของพรรคพลังประชารัฐ ทั้งนโยบายเกิดปั๊บ “รับเงินแสน” แจกเบี้ยเด็กเข้มแข็ง 1,000 บาทต่อเดือนรับประกันค่าแรงงานขั้นต่ำ 1.2 แสนบาทต่อปี รับประกันราคายางไม่ต่ำกว่า 60 บาทต่อกิโลฯรับประกันราคาข้าวไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาทต่อเกวียนแจกเบี้ยยังชีพคนชราไม่ต่ำกว่า 1,000 บาทต่อเดือนแจกฟรีบัตรเครดิตคนจน 14.5 ล้านคน คนละ 800 บาทต่อเดือน

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดนโยบายหาเสียงว่าพรรคประชาธิปัตยุ์มุ่งเน้นกา ยกระดับความเป็นอยู่ประกันรายได้คนไทย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งการยกระดับชีวิตคนไทยและเน้นตอบโจทย์ประชาชน ทั้งปัญหาเศรษฐกิจช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม คือ นโยบาย 1.โครงการโฉนดสีฟ้า ที่ผู้ถือครองจะต้องมีความมั่นคงมั่นใจในการสร้างโอกาสให้กับตนเอง 2. จัดตั้งกองทุนน้ำชุมชนให้เกษตรกรมีน้ำใช้ตลอดปี 3. ประกันรายได้เกษตรกรให้ครอบคลุมพืชทุกชนิด สร้างความมั่นคงรายได้ให้เกษตรกรไทยทุกคน

“ประกันรายได้ขั้นต่ำการทำอาชีพเกษตรกรรม ข้าวไม่ต่ำกว่าเกวียนละ 10,000 บาท ยางพาราไม่ต่ำกว่า 60 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ปาล์ม 10 บาทต่อ กก. รวมถึงทำประกันภัยพืชผลคุ้มครองต้นทุนการผลิต 4. ประกันรายได้แรงงานไม่ต่ำกว่า 120,000 ต่อปี แต่ถ้ามีรายได้ต่อเดือนเมื่อคำนวณแล้วไม่ถึงที่กำหนด รัฐบาลก็จะจ่ายเงินส่วนต่างให้ 5. เบี้ยให้ผู้สูงอายุ 1,000 ต่อเดือน และจะไปปรับโครงการเกี่ยวกับการออมเพื่อการชราภาพ 6. เบี้ยสวัสดิการผู้ยากไร้ 800 บาทต่อเดือน ซึ่งโอนตรงสมุดบัญชีผู้มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 ต่อปี ซึ่งทุกคนจะต้องเข้าระบบรายงานสถานะทางการเงินของตนเองทุกปี” 

“นโยบาย 6 ข้อนี้ จะทำได้ทันทีเมื่อพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็น ยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยสร้างภาระให้ประเทศ และไม่เคยทำให้ประเทศเกิดความเสียหาย การระดมเงินเข้ามาทำนโยบายนี้จะใช้เป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำได้ด้วย หลังจากนี้พรรคฯ จะใช้นโยบายเศรษฐกิจยุคใหม่ ยกระดับประเทศไทย ก้าวไกลทันโลก เพื่อรับมือกับความท้าทายการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งภาคการผลิตและการบริการและรองรับการเปลี่ยนแปลงสังคมผู้สูงอายุ รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำ เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน สร้างความเข้มแข็งให้ประเทศไทย” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

เลือกพท.ประเทศไม่“ล้าหลัง ล้มเหลว ถดถอย สิ้นหวัง”

ปิดท้ายกันที่พรรคเพื่อไทย ต้นตำรับนโยบายประชานิยม ที่ทำให้พรรคการเมืองอื่นๆต้องงัดนโยบายประชานิยมออกมาสู้กันเป็นพรวน นอกเหนือจากการชูคุณหญิงหน่อย-สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ติด 1 ใน 3 บัญชีนายกฯของพรรคแล้ว ยังมี “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” อดีต รมว.คมนาคม ขวัญใจวัยรุ่นจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และว่าที่ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น 1 ใน 3 รายชื่อเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเปิดตัวเป็นครั้งแรกว่า จากการที่เราได้ไปลงพื้นที่สำรวจและทำโพล พบว่าพี่น้องประชาชนประสบปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง และเชื่อว่าภาคธุรกิจก็เห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจไม่ได้ดีขึ้น โดยเฉพาะในระดับกลางและล่าง หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างมาก มีปัญหายาเสพติด การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ

“โลกในวันข้างหน้าจะเป็นยุคตัวใครตัวมันมากขึ้น ดังนั้นรัฐบาลต้องเก่ง ต้องทัน เพราะการเจรจาการค้าจะเป็นเรื่องสำคัญ โดยตั้งแต่ปีหน้าเศรษฐกิจจะชะลอตัวและหนักมากกว่านี้ เราจึงต้องการคนที่เป็นมืออาชีพเข้ามาบริหารประเทศ รัฐบาลหน้าจะต้องเป็นคนที่ทำเป็น เราต้องสร้างเกษตรกร สร้างเอสเอ็มอี และเศรษฐกิจประเทศให้เข้มแข็ง วันนี้สำคัญที่สุดคือประชาชน เราจะทำอะไรต้องคิดถึงคนที่สำคัญ การแจกเงินเป็นการช่วยเหลือเพียงระยะสั้น แต่การสร้างโอกาสจะทำให้คงอยู่ตลอดไป”

พร้อมกันนี้พรรคเพื่อไทยได้ประกาศ 4 สโลแกนหลักการหาเสียงคือ จะอยู่กับความสิ้นหวังหรือโอกาส จะเลือกคนทำงานไม่เป็น หรือคน ทำงานเป็น จะเลือกหนี้สินหรือ รายได้ และจะเลือกอยู่ กับความล้มเหลว หรือความสำเร็จ”

นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยยังสั่งการให้ว่าที่ผู้สมัครขึ้นป้ายคัตเอาต์ขนาดใหญ่ “พรรคเพื่อไทย จะไม่ปล่อยให้ประเทศไทยล้าหลัง ล้มเหลว ถดถอย สิ้นหวัง” กดปุ่มเดินหน้าประกาศพร้อมแล้วเต็มตัวในการเลือกตั้ง ชูธงปากท้องเป็นตัวนำ กระตุ้นเสียงรากหญ้าผ่านนโยบายที่เตรียมคลอดออกมา เช่นเดียวกับเรื่องการเมืองก็ปักธงชัดเจน รัฐธรรมนูญต้องถูกแก้ไข แบ่งบท แบ่งหน้าที่กันเล่น พร้อมต่อกรกับขั้วตรงข้ามอย่างพรรคพลังประชารัฐ ที่ประกาศตัวพร้อมรบในสนามเลือกตั้ง

ท้ายที่สุดแล้วบริบทการเมืองไทยที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ก็คือการจมปรักอยู่กับ “นโยบายประชานิยมแจกฟรี”ที่พรรคการเมืองยัดเยียดให้กับประชาชานจนถึงขั้นเสพติดไปแล้ว ถือเป็นการสร้างภาระรายจ่ายประเทศให้บานทะโร่หนักขึ้นทุกปี และอาจถึงจุด “ไส้ติ่งแตก” ไม่ช้าก็เร็ว?

และหลังการเลือกตั้งก็คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเช่นกัน คือการกลับคืนสู่วงจรอุบาทว์เดิมๆ เพราะการเมืองมันคือเรื่องของผลประโยชน์… จึงไม่มีมิตร-ศัตรูที่ถาวร!