เศรษฐกิจดี ต้องมีSEG

0
613

เหลือบไปเห็นการโยนลูก-รับลูกกันเป็นปีเป็นขลุ่ยระหว่างรัฐบาล สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หลังนายกฯ “บิ๊กตู่”และ รองนายกฯ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ออกมาตีปี๊บเศรษฐกิจไทยขยายตัวดีเกินคาด

แต่พอถูก“คนไม่มีผม”อดีต รมต.พรรคเพื่อไทยคู่กัดออกมาสัพยอกเศรษฐกิจดีซะที่ไหน ทำไมคนส่วนใหญ่ยังรู้สึกไม่มันคงไม่มีอันจะกินต้องอยู่อย่างอดมื้อกินมื้อ ก็ทำเอานายกฯเกิดอาการ “ปรี้ดแตก”ลุกขึ้นมาด่ากราดถึงขั้นจะให้เอาตัวไปปรับทัศนคติเสียให้รู้แล้วรู้แร่ด!

สัปดาห์ก่อน คุณบรรยง พงษ์พานิช อดีตกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.)ไปขุดข้อมูลที่อ้างว่าเป็นข้อมูลจาก Credit Suisse Global Weath Report2018 ตีแผ่เรื่องความเหลื่อมล้ำที่ว่าประเทศไทยขึ้นทำเนียบประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงสุดของโลก แซงหน้ารัสเซียและอินเดียวไม่เห็นฝุ่น ทำเอาใครต่อใครนั่งไม่ติด ดาหน้าออกมาตอบโต้พัลวัลถึงขั้นไปขุดข้อมูลออกมาแฉกลับว่าข้อมูลที่นำไปเปรียบเทียบน้ันเป็นข้อมูลสมัยพระเจ้าเหาปี 2549 โน้น

พร้อมยืนยันรัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้มาอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ การฝึกอาชีพเพิ่มทักษะ กองทุนการออมแห่งชาติ โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การจัดสรรที่ดินทำกินแก่ผู้ยากไร้ เป็นต้น

แต่…คล้อยหลังมาแค่เพียงสัปดาห์เดียว คณะรัฐมนตรีที่มีนายกฯบิ๊กตู่นั่งหัวโต๊ะกลับส่ังตั้งคณะกรรมการ นโยบายการลดความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาความยากจน (กนล.) ที่มีตัวนายกฯเป็นประธาน ผุดคณะกรรมการบริหารการลดความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาความยากจน (กบล.) และจัดตั้งสำนักงานบูรณาการลดความเหลื่อมล้ำขึ้นมาเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ซะงั้น

ทำเอาใครต่อใคร “อึ้งกิมกี่” ตกลง 4-5 ปีที่ผ่านมานั้นรัฐบาลได้บูรณาการแก้ไขปัญหาเหลื่อมล้ำและยากจนจนเบ็ดเสร็จไปแล้วจริงหรือ และในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ตีปี๊บกันใหญ่โตนั้นได้บรรจุแผนและแนวทางแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ว่านี้ครบถ้วนกระบวนความแล้วหรือ…

เหตุใดถึงมาพล่านจัดตั้งกันแบบไม่มีปีไม่มีขลุ่ยเอาหลังจากถูก “ถลกหนังหัว” กัันซะได้!!! 

ท่ามกลางข้อกังขาของประชาชนโดยส่วนใหญ่หากเศรษฐกิจไทยดีจริงทำไมผู้คนยังคงไม่จับจ่ายใช้สอย ยังต้องแบมือขอให้รัฐเข้าไปช่วย พ่อค้าแม่ค้ายังนั่งตาละห้อยทำมาค้าขายที่ดูยัง “ไม่กระเตื้อง” ล่าสุดรัฐบาลยังต้องงัด “บัตรสวัสดิการ”เฟส 2 ให้ผู้มีรายได้น้อยเพิ่มข้ึนอีก 3.5 ล้านคนรวมกับของเดิม 11.4 ล้านคนจนทะลักไป 14.5 ล้านคนแถมยังถลุงเม็ดเงินภาษีไปอีกไม่รู้กี่แสนล้านบาทลงไปกับมหกรรมลด แลก แจกแหลกปาดหน้าก่อนประชาชนคนไทยจะเดินเข้าคูหาเบือกตั้งเสียด้วยอีก

เรื่องของการขยายตัวทางเศรษฐกิจน้ัน ที่ผ่านมารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างติดยึดอยู่กับอัตราการขายตัวทางเศรษฐกิจหรือ GDP Growth เป็นหลัก หากรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศชุดใดไม่สามารถผลักดันให้จีดีพีขยายตัวเป็นบวกได้ ก็มักถูกโจมตีว่าไร้ผลงานหรือไร้ฝีมือ และมักถูกกดดันให้ต้องปรับเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบ แม้แต่รัฐบาลคสช.ชุดนี้ก็เคยเปลี่ยน “ม้ากลางศึก” เปลี่ยนทีมเศรษฐกิจกันยกกระบิกันมาหนแล้ว

ในตำราเศรษฐศาสตร์ที่ รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์หรือ “นิด้า”พร่ำสอนลูกศิษย์ลูกหามาโดยตลอดนั้นได้ให้คำนิยามความหมายของเศรษฐกิจดีนั้น ไม่ได้หมายความแต่เฉพาะมีการขยายตัวแต่ด้านจีดีพี หรือมี Growth อย่างเดียว

อาจารย์มนตรีบอกเลยว่าเศรษฐกิจดีต้องมี SEG (Not SEX) คือมีท้ัง G-Growth, E-Equality และ S-Sustainability คือมีทั้งการเติบโต กระจายรายได้ และมีความยั่งยืน ขาดอย่างหน่ึงอย่างใดไปก็เกิดปัญหา เหมือนอย่างที่บ้านเรากำลังเผชิญคือมุ่งแต่จะ Growth อัดฉีดการลงทุนภาครัฐหวังปั๊มเศรษฐกิจให้เติบโตจนละเลยปัญหาการกระจายรายได้ ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ จนเกิดปัญหา “รวยกระจุก จนกระจาย” ตามมา

สอดคล้องกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาแสดงความกังวลต่อปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยในปีนี้ที่ดูจะสวนทิศกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

: เนตรทิพย์