คค.หนุนตั้งโรงงานผลิต-ประกอบรถไฟในไทย รองรับเมกะโปรเจคต์ “ทางคู่-รถไฟฟ้า-ไฮสปีดเทรน”  

0
212
“ไพรินทร์”ขานรับนโยบายรัฐหนุนตั้งโรงงานผลิต-ประกอบรถไฟในไทย มั่นใจเกิดได้ในก่อน 1โรงงาน  ในปี64 สูงสุด3โรงงาน รองรับเมกะโปรเจคต์ “ทางคู่-รถไฟฟ้า-ไฮสปีดเทรน”  
 
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งโรงงานผลิต และ ประกอบรถไฟในประเทศไทย ว่า จากที่รัฐบาลมีนโยบายดำเนินการตามแผนแม่บทการคมนาคมขนส่งทางราง ทั้งโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า 10 สายทางทั่วกรุงเทพและปริมณฑล, โครงการรถไฟทางคู่ ,โครงการรถไฟความเร็วสูง พร้อมๆกันนั้นจะเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่กำกับดูแลการให้บริการ จะต้องใช้ขบวนรถ, ตู้รถไฟ ,อะไหล่ชิ้นส่วนอุปกรณ์ ที่เกี่ยวเนื่องในปริมาณที่มาก ดังนั้นรัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคม  จึงมีแนวนโยบายที่จะให้มีการจัดตั้งโรงงานผลิต ประกอบรถไฟในประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะมีการผลิต ,ประกอบรถไฟในประเทศแล้ว ในอนาคตโรงงานผลิตในไทยก็สามารถส่งออกรถไฟฟ้าไปสู่ประเทศในกลุ่ม CLMVได้ด้วย
ทั้งนี้จากผลการศึกษาพบว่าพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการจัดตั้งโรงงานผลิต ประกอบรถไฟ รถไฟฟ้า ควรอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสามารถจัดตั้งโรงงานผลิตได้ไม่เกิน2-3ปีนี้ หรือจัดตั้งได้ในปี 64 ซึ่งเป็นช่วงที่มีความเหมาะสม รองรับการเติบโตของการลงทุนรถไฟ รถไฟฟ้า ของภาครัฐ เบื้องต้นพบว่าสามารถจัดตั้งโรงงานได้ก่อน 1 โรงงาน รองรับกำลังการสั่งผลิตไม่น้อยกว่า 300 ตู้/ปี และจากการศึกษาสามารถตั้งโรงงานในไทยได้สูงสุด 3 โรงงาน  มียอดการผลิตรวมสูงกว่า 900ตู้/ปีในปี 70 ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นมีโรงงานผลิต ประกอบ รถไฟ  5 โรงงาน
สำหรับสาเหตุที่มีนโยบายจัดตั้งโรงงานผลิต ประกอบรถไฟในไทย เนื่องจาก จากผลการศึกษาและจากปัญหาของการให้บริการรถไฟ รถไฟฟ้าที่ผ่านๆมา จะพบว่าหากมีปัญหาเกี่ยวกับระบบราง รถไฟ รถไฟฟ้า หรือ ระบบอาณัติสัญญาณ จะต้องใช้ระยะเวลานานในการเข้ามาแก้ไขปัญหา บุคลากรคนไทยไม่สามารถซ่อมแซมได้ทันทีภายใน2-3ชั่วโมง หลังจากเกิดเหตุการณ์ จนบางครั้งต้องรออะไหล่จากต่างประเทศ หรือ โรงงานผู้ผลิต กว่าจะเดินทางมายังประเทศไทย ต้องใช้เวลากว่า 2-3วัน  
นายไพรินทร์ กล่าวต่อว่า  หากมีการจัดตั้งโรงงานผลิต ประกอบรถไฟในไทยได้สำเร็จ จะช่วยลดต้นทุนการนำเข้ารถไฟ รถฟ้า อุปกรณ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์จากต่างประเทศได้ลง10 เท่า จากเดิมที่มีการนำเข้ากว่า 70,000 ล้านบาท เมื่อมีโรงงานผลิต ประกอบในไทยจะลดการนำเข้าเหลือเพียง 6,000-7,000 ล้านบาทเท่านั้น นอกจากนั้นยังลดค่าใช้จ่ายการซ่อม-บำรุงรักษา ได้อีกกว่า ปีละ 1,000 ล้านบาท   
ขณะเดียวกันยังสามารถส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้คนไทยได้มีความรู้ในการผลิต รวมทั้งจะช่วยเพิ่มการจ้างงานในระบบอุตสาหกรรมประกอบผลิตตัวรถได้อีกไม่น้อยกว่า 500 คน นอกจากนี้ยังช่วยลดการนำเข้าอะไหล่ ชิ้นส่วนอุปกรณ์รถไฟ รถไฟฟ้าได้อีกกว่า 3,000 รายการ จากเดิมต้องนำเข้ากว่า 7,000-10,000 รายการ รวมถึงจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถไฟในอาเซียนด้วย เหมือนเช่นครั้งหนึ่งไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ หรือ ดีทรอย์ของเอเชีย
นายไพรินทร์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้มีนักลงทุนจากต่างชาติ ไม่ว่า ญี่ปุ่น เกาหลีและเยอรมัน ได้แสดงความสนใจที่จะเข้ามาขอจัดตั้งโรงงานผลิต ประกอบรถไฟในประเทศไทย  ส่วนขั้นตอนความคืบหน้าในการดำเนินการจัดตั้งโรงงานผลิต ประกอบรถไฟ ขณะนี้นั้น ในส่วนของกระทรวงคมนาคมคือ 1. เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการจัดตั้งกรมราง เพื่อให้เป็นมาตรฐานในการควบคุมระบบราง , 2.กระทรวงคมนาคมร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน( กกร.)ช่วยกันพิจารณาออก พ.ร.ฎ.จัดตั้งสถาบันวิจัยเทคโนโลยีระบบราง เพื่อเป็นคนกลางของการถ่ายทอดเทคโนโลยี  ซึ่งหากดำเนินการสำเร็จประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีระบบรางรถไฟใน ภูมิภาคอาเซียน