ลับ ลวง พราง “B20 เพื่อรถใหญ่” ใครได้-เสีย?

0
11378

ผลพวงจากปัญหาค่ามฤตยูฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน ที่เล่นงานมนุษย์เมืองกรุงและปริมณฑลจนงอมพระรามนานร่วมเดือน ส่งแรงกระเพื่อมให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาครัฐตื่นตัวพร้อมคลอดสารพัดมาตรฐานปฏิบัติการล้อมคอกกะเปิดฉากสงครามบู๊ล้างผลาญพิฆาตฝุ่นพิษกะให้สิ้นซากเผ่าพันธุ์กันไปข้าง

แม้ต้นตอปัญหาค่าฝุ่นพิษ PM2.5 เกินมาตรฐานจะมาจากหลายปัจจัย แต่ทว่า การปล่อยควันพิษจากท่อไอเสียจากเครื่องยนต์ดีเซลที่นัยยะว่ากว่า 60 % คือต้นตอปัญหาฝุ่นพิษPM2.5

เมื่อทิศทางลมพัดมาขนาดนี้ “หวย 3 ตัวตรง”ไม่มีล็อคออกที่กระทรวงคมนาคมตรงเป๊ะโดยไม่ตรงโต๊ดให้เปลือนต้นทุนบานตะไท

เจ้ากระทรวงหูกวาง “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ไม่เสียเวลาไปเปล่าๆปลี้ๆเร่งคลอดสารพัดมาตรการแก้ไขปัญหาพร้อมไล่บี้หน่วยงานในสังกัดให้รับลูกนำนโยบาย-มาตรการลงพื้นที่ปฏิบัติการด่วนเร็วเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม ไล่ดะตั้งแต่การรวบรัดตัดตอนให้กรมขนส่งฯสั่งการรถเมล์ขสมก.กว่า 2 พันคันหันมาใช้น้ำมันไบโอดีเซลB20เพื่อช่วยลดควันพิษจากท่อไอเสีย พร้อมสั่งทีมตรวจควันดำจับมือกับเจ้าหน้าที่ตร.-กทม.ลงพื้นปูพรมตรวจเข้มจับ-ปรับรถควันดำทั่วกรุง-ปริมณฑล

ขณะที่กระทรวงพลังงานโดยเจ้ากระทรวงอย่าง “ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์”ก็พลอยได้อานิสงส์จากผลพวงฝุ่นพิษPM2.5 เข้าไปเต็มเปากับโครงการส่งเสริมภาคขนส่งให้หันกลับมาใช้ B20 เพื่อลดต้นทุนค่าน้ำมัน-ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรสวนปาล์ม ชูราคาถูกกว่าดีเซลปกติ 3 บาท และจุดพุลโครงการไปตั้งแต่ต้นเดือนก.ค.61 กับเป้าหมายมีไว้พุ่งชนปริมาณ B20 ว้ถึง 15 ล้านลิตร/วัน แต่ทุกวันนี้ทั้งดันทั้งปั้มได้แค่  5 ล้านลิตรเดือนเท่านั้น

เมื่อผลพวงปัญหาฝุ่นพิษPM2.5 อาละวาดคนกรุงและปริมณฑลจึง “เข้าทางปืน”โครงการฯเต็มเหนี่ยว พร้อมเดินหน้าบูรณาการความร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างยักษ์ใหญ่ธุรกิจพลังงาน “ปตท.-บางจาก” นำร่องเปิดขาย B20 ในปั้มน้ำมัน 10 แห่งทั่วกรุงและปริมณฑล พร้อมไล่บี้ค่ายรถบรรทุกในเมืองไทยทำคลอดรุ่นรถที่สามารถใช้กับ B20 ได้

ขณะที่บรรดาค่ายรถใหญ่หลากหลายสายพันธุ์ก็ออกโรงพร้อมหนุนนโยบายรัฐเต็มพิกัด ยันรถบรรทุกเฉพาะรุ่นสามารถใช้ได้กับ B20 แต่ต้องมีการปรับจูนเครื่องยนต์และปรับตารางการบำรุงรักษาใหม่ให้เหมาะสมการใช้งานจึงจะเกิดประสิทธิภาพได้

แม้จะเห็นการตื่นตัวของทุกภาคส่วนในการเร่งแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ทำไปทำไปทำมามิวายถูกสังคมตั้งข้อสงสัยพร้อมวิพากษ์วิจารณ์ร้อนระอุโลกโซเชียลว่าสรุปแล้วภาครัฐแก้ปัญหาไม่ถูกจุด “เกาไม่ถูกที่คัน” เป็นการแก้ปัญหาแบบจับแพะชนแกะ หรือไม่? ทิศทางการแก้ปัญหาไปคนละทิศละทาง?

ฟากประเด็นน้ำมันไบโอดีเซล B20 เพื่อรถใหญ่ที่ภาครัฐผูกปิ่นโตความมือกับภาคเอกชนช่วยกันโหมโรงพลางชูจั๊กกะแร้กันสุดลิ่มในเวลานี้ ก็มิวายถูกสังคมตั้งข้อกังขากันให้แซด

สรุปแล้วจะมีผู้ประกอบการขนส่งสักกี่หยิบมือเห็นด้วยและเข้าร่วมโครงการ? เพราะอาจมองไม่เห็นจุดคุ้มทุนกับสิ่งที่ต้องจ่ายเพิ่มทั้งการค่าปรับจูนเครื่องยนต์ใหม่ต่อคันอีกบาน? ไหนจะค่าบำรุงรักษาที่ต้องจ่ายเพิ่มมากขึ้น? ไหนจะต้องกังวลสถานีบริการน้ำมันที่ขาย B20 ทีมีเพียงน้อยนิด? ไหนจะต้องใส่ใจกับการดูแล/บำรุงรักษารถอย่างระมัดระวัง? ไหนจะซุ่มเสี่ยงต่อการพังเสียหายของเครื่องยนต์เร็วกว่าปกติ?

“อีซูซุ” เผยรถบรรทุกมากกว่า 400 รุ่นปรับใช้ B20 ได้

นางปนัดดา เจณณวาสิน กรรมการรองผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด เปิดเผยว่า อีซูซุพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างเต็มที่กับโครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B20 ในภาคคมนาคมขนส่ง เพื่อเพิ่มโอกาสในการนำน้ำมันปาล์มที่มีราคาตกต่ำ มาใช้เป็นส่วนผสมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนปาล์ม พร้อมสนับสนุนการลดค่าใช้จ่ายภาคขนส่งจากส่วนต่างราคาน้ำมัน

“รถบรรทุกขนาดกลางและขนาดใหญ่อีซูซุสามารถรองรับการใช้น้ำมัน B20 ได้มากกว่า 400 รุ่น แต่ต้องเตรียมความพร้อมรถแต่ละรุ่น ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงชิ้นส่วนและเพิ่มความถี่ในการบำรุงรักษา โดยลูกค้าอีซูซุสามารถติดต่อและนำรถเข้าศูนย์บริการมาตรฐานอีซูซุทั่วประเทศเพื่อไม่ให้กระทบกับการใช้งานในภายหลัง         

“วอลโว่ ทรัคส์-ยูดี ทรัคส์” เผยรหัส(ลับ)เครื่องยนต์ใช้ B20

แหล่งข่าวระดับสูงจากวอลโว่ กรุ๊ป (ประเทศไทย) ผู้ผลิตและจำหน่ายรถเพื่อการพาณิชย์ขนาดใหญ่ยี่ห้อ วอลโว่ ทรัคส์และยูดี ทรัคส์ เปิดเผยว่าวอลโว่ ทรัคส์-ยูดี ทรัคส์ ขานรับนโยบายรัฐใช้ B20 ประกาศรถบรรทุกรุ่นเครื่องยนต์สามารถใช้น้ำมันไบโอดีเซล B20 ย้ำต้องเปลี่ยนตารางบำรุงรักษาใหม่อย่างเหมาะสม โดยรถบรรทุกวอลโว่ ทรัคส์ เครื่องยนต์ที่สามารถใช้น้ำมันไบโอดีเซล B20 ได้ แก่ เครื่องยนต์ D9A, D9B, D11A, D11B, D13A, D16A, D16C, D16E และ FH/FM VERSION2 ซึ่งถูกผลิตตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นไป โดยต้องมีการเปลี่ยนตารางการบำรุงรักษาใหม่อย่างเหมาะสม และใช้สารหล่อลื่นเป็นไปตามที่กำหนด

“วอลโว่ ทรัคส์ยังย้ำอีกว่ารถวอลโว่ทรัคส์ที่จำหน่ายในประเทศไทยที่มีเครื่องยนต์และผลิตตั้งปีที่กล่าวมาสามารถใช้ไบโอดีเซลB20 ได้แต่ต้องเปลี่ยนตารางการบำรุงรักษาใหม่อย่างเหมาะสมและต้องใช้สารหล่อลื่นเป็นไปตามที่กำหนดเช่นน้ำมันเครื่องต้องใช้VDS 3 หรือ 4, เกรดน้ำมัน 15W/40 เป็นต้น ส่วนยูดีทรัคส์สามารถใช้น้ำมันB20 ได้ในรุ่นรถที่มีเครื่องยนต์ 11 ลิตรและเงื่อนไขการเข้ารับการบริการต้องมีการปรับเปลี่ยนใหม่ให้เหมาะสมเช่นกัน”

“สแกนเนีย” ไม่ตกขบวนขานรับนโยบายรัฐ

ขณะค่ายสแกนเนีย โดยมร.สเตฟาน ดอร์สกี กรรมการผู้จัดการบริษัท สแกนเนีย สยาม จำกัด กล่าวว่าสแกนเนีย พร้อมสนับสนุนให้ประเทศไทยดำเนินการเปลี่ยนใช้เชื้อเพลิงทางเลือกและช่วยลดการปล่อยมลพิษตามนโยบายรัฐ เราได้ลงทุนพัฒนาโซลูชั่นที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงทางเลือกและเชื้อเพลิงทดแทน เช่น ไบโอดีเซลและก๊าซชีวภาพ

“เรามีความยินดีที่ได้เห็นว่าความต้องการใช้น้ำมันดีเซล B20 ในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น เครื่องยนต์ทั้งหมดของเราสามารถปรับใช้ไบโอดีเซลได้ 100% สแกนเนีย มีประสบการณ์ที่ยาวนานและครอบคลุมในการใช้พลังงานไบโอดีเซลในประเทศแถบยุโรป ทำให้เรามั่นใจว่าเราสามารถช่วยลดการปล่อยมลพิษ และขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มศักยภาพการทำกำไรของลูกค้าได้อีกด้วย

คุ้มไหม?ค่าปรับจูนเครื่องยนต์/บำรุงรักษาจ่ายเพิ่มบาน

แม้บรรดาค่ายรถใหญ่หลากหลายสายพันธุ์จะตบเท้าเห็นดีเห็นงามและเด้งรับนโยบายรัฐเต็มสูบก็ตาม แต่ตอนท้ายก็มิวายเน้นย้ำถึงข้อปฏิบัติและการเตรียมการเพื่อประโยชน์ของลูกค้าที่จะนำรถแต่ละรุ่นมาปรับใช้น้ำมันไบโอดีเซล B20 ต้องศึกษาดูในรายละเอียดให้ดีข้อดีข้อเสีย เพราะการปรับจูนเครื่องยนต์ใหม่อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังอาจมีการเปลี่ยนแปลงชิ้นส่วนและต้องเพิ่มความถี่ในการบำรุงรักษามากกว่าปกติ โดยเฉพาะน้ำมันเครื่อง/ไส้กรอง/หัวฉีดที่ต้องดูแลและเปลี่ยนบ่อยและเร็วกว่าปกติ

แหล่งข่าวระดับสูงในแวดวงรถบรรทุก เปิดเผยว่าหากผู้ประกอบการขนส่งจะนำรถบรรทุกมาปรับจูนเครื่องใหม่เพื่อให้รองรับกับน้ำมันไบโอดีเซลB20 ต้องเตรียมใจและเตรียมค่าใช้จ่ายเพิ่มอีกบาน ลำพังรถเมล์ขสมก.ค่าใช้จ่ายการปรับจูนเครื่องยนต์ยังตกอยู่ที่คันละ 3 หมื่นบาท ฟากรถบรรทุกยิ่งแพงกว่านั้นอีกเป็นหนึ่งเท่าตัว ว่ากันว่าค่ายรถบรรทุกสายพันธุ์ยุโรปตกคนละ 6 หมื่นบาท

“คุ้มไหมที่ต้องจ่ายเพิ่ม คุ้มไหมที่ต้องเตรียมเงินจ่ายค่าบำรุงเพิ่ม และต้องปรับเปลี่ยนตารางบำรุงรักษาใหม่ และต้องหมั่นดูแลรถมากกว่าปกติ และที่สำคัญคุ้มไหมกับการซุ่มเสี่ยงการพังเสียหายของเครื่องยนต์ในระยะยาว”

ปัญหาจุกจิก!ข้อควรปฏิบัติก่อนใช้-ข้อระวังระหว่างใช้ B20

นอกจากนิ้ ค่ายรถต่างๆยังเน้นย้ำและให้คำแนะลูกค้าถึงข้อควรปฏิบัติก่อนใช้และข้อควรระวังระหว่างใช้ B20 เนื่องจากรถบรรทุกในแต่ละรุ่นถูกออกแบบมาเพื่อรองรับคุณสมบัติน้ำมันไบโอดีเซลในแต่ละยุค ผู้ประกอบการและผู้ใช้รถจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องนำรถเข้ารับบริการที่ศูนย์บริการมาตรฐาน เพื่อเช็กชิ้นส่วนรถบรรทุกที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันให้สามารถรองรับ B20 ได้อย่างเหมาะสม

ข้อควรปฏิบัติต้องเช็กสภาพรถที่ใช้ในปัจจุบันเพื่อให้มั่นว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ต้องตรวจเช็ก/เปลี่ยนท่อทางเดินน้ำมันเครื่องเชื้อเพลิง เปลี่ยนไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิงครั้งแรกก่อนใช้ B20 ครั้งแรก ครั้งที่สองต้องเปลี่ยนองในระยะ 2,000 กม.และอีกครั้งที่ 3 ที่ระยะ 4,000 กม.หลังจากนั้นต้องเปลี่ยนไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิงทุกๆ 10,000 กม.

“ข้อควรระวังต้องระหว่างใช้ B20 ต้องเติมน้ำมันที่ได้คุณภาพจากสถานีบริการน้ำมันที่ได้มาตรฐาน ต้องไม่ใช้น้ำมันที่เก็บไว้นานเกิน 2 เดือน หมั่นตรวจการรั่วซึมของระบบท่อทางเดินน้ำมันเชื้อเพลิง และตรวจระดับน้ำมันเครื่องทุกวัน”

ช่างสวนทางกับสรรพคุณที่กระทรวงพลังงงานออกโรงฟ้อนเงี้ยวรายวัน B20 การันตีได้ไม่มีปัญหาต่อเครื่องยนต์ใดๆ!

อ.มนูญ สะกิดรัฐ “ระวังจะงานงอกซ้ำรอย E85”

ขณะที่นักวิชาการด้านพลังงานคนดัง “มนูญ ศิริวรรณ” ก็ออกโรงสะกิดเตือนกระทรวงพลังงานที่ผลักดันนโยบายเสริมใช้น้ำมันไบโอดีเซล B20 กันสุดลิ่มในเวลานี้ ระวังจะงานงอกซ้ำรอยการส่งเสริมน้ำมัน E85  “…ผมจึงอยากให้กระทรวงพลังงานใคร่ครวญให้ดีๆเกี่ยวกับนโยบายการเปิดจำหน่าย B20 ตามปั้มน้ำมัน ถึงแม้จะเป็นการทดลองเพียงไม่กี่แห่ง และต้องการขายเฉพาะรถบรรทุกเท่านั้นก็ตาม

“เพราะนอกจาก B20 ยังไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานและรับประกันจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์โดยทั่วไปแล้ว การส่งเสริมยังจะเป็นการสร้างภาระให้กับกองทุนน้ำมันฯและผู้ใช้น้ำมันมากขึ้นในอนาคต เป็นภาระที่มีแต่จะเพิ่มพูนขึ้นตามยอดการจำหน่าย จนไม่สามารถเลิกได้ในที่สุด เหมือน E85 ที่เราไม่ควรส่งเสริมตั้งแต่แรกสู้ใช้ความพยายามมาผลักดันน้ำมันดีเซล B7 ให้เป็น B10 น่าจะเป็นประโยชน์กว่า”

ข้อสรุปจากกูรูด้านพลังงาน สะท้อนภาพชัดยิ่งกว่า Super HD ว่าB20 ที่ภาครัฐโหมโรงกันสุดลิ่มทิ่มประตูอยู่ในเวลานี้ มันยังไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานและรับประกันจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์โดยทั่วไป อีกทั้งการดันทุรันส่งเสริมก็รังแต่จะเป็นการสร้างภาระให้กับกองทุนน้ำมันฯ สุดท้ายแล้วจะซ้ำรอย E85

เป็นโครงการส่งเสริมที่ “ลับ ลวง พราง” ซึ่งภาครัฐไม่ได้สร้างความกระจ่างให้กับประชาชนได้หูตาสว่าง? เป็นเยี่ยงนี้!จากเป้าหมายมีไว้พุ่งชน “การแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5- แก้ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ-ลดต้นทุนค่าขนส่ง”

…ระวัง!สุดท้ายจะกลายเป็นมหกรรม “แก้ผ้าเอาหน้ารอด”ไปวันๆ

:ปิศาจขนส่ง