“ฮัทชิสัน พอร์ท ” ทุ่ม 2 หมื่นล้าน เปิดท่าเทียบเรือชุด D ทันสมัยที่สุดในไทย

0
349

ที่ลงทุนไปกับท่าเรือชุดนี้ คงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า บริษัทฯ พร้อมที่จะลงทุนระยะยาวกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยอย่างจริงจัง      

 โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 จัด เป็นอีกหนึ่งเมกะโปรเจ็กต์ ที่มุ่งตอบโจทย์เพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือไทย   

เพื่อรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต   โดยจะดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือต่างๆ ภายในท่าเรือแหลมฉบัง  สำหรับจอดเรือน้ำลึก และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ร  อีกทั้งการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ ท่าเรือแหลมฉบัง (Single Rail Transfer Operator, SRTO)

  ขณะที่โครงการท่าเทียบเรือ ชุด D   จัดเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3  ที่มีเป้าหมายต้องการจะเชื่อมต่อโครงข่ายระบบคมนาคมที่จะเข้ามารองรับการขนส่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)  เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ   ท่าเทียบเรือชุดใหม่นี้นับเป็นพื้นฐานคมนาคมขนส่ง ให้เชื่อมโยงฐานการผลิต แหล่งเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ทั้งยังเป็นประตูการค้า เพื่อเชื่อมต่อระหว่างรูปแบบการขนส่งขึ้นพื้นฐานของต่างๆ อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โครงการรถไฟทางคู่จากแหล่งอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ที่เชื่อมสู่ท่าเรือแหลมฉบัง มาบตาพุดและสัตหีบ และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา

ล่าสุด โครงการท่าเทียบเรือ ชุด D ระยะที่ 1  ได้ทำการก่อสร้างแล้วเสร็จ  พร้อมกับได้ฤกษ์เปิดบริการท่าเรือชุด D ระยะที่ 1 อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา  โดยมี นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดท่าเทียบเรือชุด D ภายในท่าเรือแหลมฉบัง โดยมี นายสมศักดิ์ ห่มม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า และประธานกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ร้อยตำรวจตรี มนตรี ฤกษ์ จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง รักษาการแทนผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและการค้าสถานทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ตลอดจนผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน  ร่วมในพิธี ณ ท่าเทียบเรือชุด D ท่าเรือแหลมฉบัง

  สตีเฟ่น   แอชเวิร์ธ  กรรมการผู้จัดการบริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประจำประเทศไทย กล่าวถึงการเปิดท่าเทียบเรือชุด D ณ ท่าเรือแหลมฉบังว่า ท่าเทียบเรือชุด D ว่า  เป็นท่าเรือขนาดใหญ่ที่สุดของท่าเรือแหลมฉบังในขณะนี้ และได้รับเรือขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างเรือ “ONE COLUMBA” เข้ามาเทียบท่าแล้ว ที่นี่มีความพร้อมด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัยในระดับโลก ทั้งในด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผล จำนวนเม็ดเงินกว่า 2 หมื่นล้าน ที่ลงทุนไปกับท่าเรือชุดนี้ คงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า บริษัทฯ พร้อมที่จะลงทุนระยะยาวกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยอย่างจริงจัง

   “นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่การขนถ่ายตู้สินค้าขึ้นและลงเรือทั้งหมด ถูกปฏิบัติการด้วยปั้นจั่นที่ติดตั้งเทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกลหรือรีโมทคอนโทรลทั้งหมด และยังจะช่วยเพิ่มศักยภาพของห่วงโซ่อุปทานหรือซัพพลายเชนในประเทศไทย ผ่านการสร้างโอกาสในการต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC”

ทั้งนี้ ท่าเทียบเรือชุด D เป็นหนึ่งในท่าเทียบเรือขนส่งสินค้าแห่งแรกของโลกที่มีการติดตั้งเทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกลอย่างเต็มรูปแบบ สำหรับปั้นจั่นหน้าท่าและปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางทั้งหมด โดยจะเป็นท่าเทียบเรือน้ำลึกที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในประเทศไทย พร้อมความสามารถในการรองรับบรรดาเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เฟสแรกของท่าเทียบเรือชุด D เปิดให้บริการแล้ว โดยมีความยาวหน้าท่า 400 เมตร ประกอบด้วยปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก (Super Post Panamax Quay Cranes) จำนวน 3 คัน และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยาง (Rubber Tyred Gantry Cranes) จำนวน 10 คัน ซึ่งในการก่อสร้างขั้นต่อมา ปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าจำนวน 3 คัน และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางจำนวน 10 คัน ได้ถูกขนส่งมายังท่าเทียบเรือในวันที่ 29 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา และจะพร้อมใช้งานภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า

“เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์ ท่าเทียบเรือชุด D จะมีความยาวหน้าท่ารวมทั้งสิ้น 1,700 เมตร ประกอบไปด้วยปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าจำนวน 17 คัน และมีปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางจำนวน 43 คัน ทั้งหมดใช้เทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกล เพิ่มความสามารถในการรองรับตู้สินค้าได้ราว 3.5 ล้านทีอียูต่อปี (หน่วยนับตู้สินค้าขนาด 20 ฟุต) โดยเพิ่มความสามารถในการรองรับตู้สินค้าของท่าเทียบเรือแหลมฉบังได้อีกราว 40 เปอร์เซ็นต์ หรือให้สามารถรองรับตู้สินค้าได้ทั้งสิ้น 13 ล้านทีอียู ทั้งนี้ การเลือกใช้เทคโนโลยีการควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกลจะเพิ่มความปลอดภัย ประสิทธิภาพและประสิทธิผล ให้กับสายการเดินเรือ รวมถึงผู้ใช้งานท่าเทียบเรือรายอื่นๆ”

   อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ได้ต้อนรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยเข้าเทียบท่าในประเทศไทย ซึ่งท่าเทียบเรือชุด D เป็นท่าเทียบเรือแห่งแรกในประเทศไทยที่มีศักยภาพรองรับเรือขนส่งสินค้าที่มีความยาวรวมเกิน 350 เมตร โดยได้ต้อนรับเรือขนส่งสินค้า “ONE COLUMBA” ของสายการเดินเรือ โอเชี่ยน เน็ตเวิร์ค เอ็กซ์เพรส (Ocean Network Express – ONE)

ล้อมกรอบ

                                ท่าเทียบเรือ ชุด D  กับ “ ฮัทซิสัน พอร์ท” 

ย้อนดูภูมิหลังเกี่ยวกับความสำคัญของโครงการท่าเทียบเรือ ชุด D ท่าเรือแหลมฉบัง  ได้กล่าวว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ ที่จะเชื่อมต่อโครงข่ายระบบคมนาคมที่จะเข้ามารองรับการขนส่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ท่าเทียบเรือชุดใหม่นี้นับเป็นพื้นฐานคมนาคมขนส่ง ให้เชื่อมโยงฐานการผลิต แหล่งเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ทั้งยังเป็นประตูการค้า เพื่อเชื่อมต่อระหว่างรูปแบบการขนส่งขึ้นพื้นฐานของต่างๆ อาทิโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โครงการรถไฟทางคู่จากแหล่งอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ที่เชื่อมสู่ท่าเรือแหลมฉบัง มาบตาพุดและสัตหีบ และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา

เทคโนโลยีสมัยใหม่ในท่าเทียบเรือชุด D จะช่วยยกระดับการให้บริการขนส่งและบริหารจัดการระบบคมนาคมขนส่งให้มีประสิทธิภาพสูงสุด สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 โมเดลใหม่ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยที่มุ่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ ‘เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม’ นับเป็นโครงการที่สอดรับกับร่างยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคม มุ่งพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2560 – 2579 สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาลที่ต้องการสร้างชาติที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

 ขณะที่ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย เป็นสมาชิกของกลุ่มฮัทชิสัน พอร์ท ซึ่งเป็นส่วนงานหนึ่งของบริษัท ซีเค ฮัทชิสัน โฮลดิ้งส์ จำกัด (CK Hutchison Holdings Limited) ที่ดำเนินธุรกิจให้บริการด้านท่าเทียบเรือและบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ ฮัทชิสัน พอร์ท เป็นผู้ลงทุน พัฒนาและดำเนินกิจการด้านท่าเทียบเรือชั้นนำของโลก มีเครือข่ายท่าเทียบเรือถึง 51 แห่ง กระจายอยู่ใน 26 ประเทศทั่วโลก ทั้งใน เอเซีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ฮัทชิสัน พอร์ท ได้ขยายกิจการครอบคลุมไปถึงธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ในด้านอื่นๆ ด้วย อาทิ ท่าเทียบเรือโดยสาร บริการท่าอากาศยาน ศูนย์กระจายสินค้า บริการขนส่งด้วยระบบรางและอู่ซ่อมเรือ ในส่วนของที่ท่าเรือแหลมฉบังโดยมีจุดให้บริการในแหลมฉบังอยู่ที่ ท่าเทียบเรือ A2 A3 C1 C2 D1 D2 และ D3

ท่าเรือแหลมฉบัง และฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย นับว่า มีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน  โดยได้เริ่มเปิดให้บริการในพื้นที่ของท่าเรือแหลมฉบัง มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ฮัทชิสัน พอร์ท เป็นผู้มีประสบการณ์ในการทำงานด้านท่าเทียบเรือในระดับโลก เฉพาะที่ท่าเรือแหลมฉบัง ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ให้บริการอยู่ในท่าเทียบเรือ A2 A3 C1 และ C2  โดยในปี 2560 บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท (ประเทศไทย) ได้ทำการขนถ่ายตู้สินค้าครบ 20 ล้านทีอียู นับว่าเป็นผู้ประกอบการท่าเทียบเรือที่ขนส่งสินค้าจำนวนมากที่สุดในท่าเรือแหลมฉบัง โครงการท่าเทียบเรือ ชุด D นี้ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบัง ให้สามารถรองรับตู้สินค้าได้เพิ่มขึ้นเป็น 11.1 ล้านทีอียู/ปี ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ การท่าเรือแห่งประเทศไทย ที่ “มุ่งสู่มาตรฐานท่าเรือชั้นนำระดับโลก  ด้วยการให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในปี 2573” อย่างรอบด้าน

 โดยท่าเรือแหลมฉบังมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาท่าเรือแหลมบัง ให้เป็น World Class Port โดยเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นท่าเรือที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย