ยูดี เควสเตอร์ใหม่! ขับขี่ง่าย ประหยัด ปลอดภัย

0
373

หลังค่ายยูดี ทรัคส์ ค่ายรถใหญ่เบอร์สามตลาดรถใหญ่เวทีญี่ปุ่นในไทย ได้เปิดสนามแข่งแก่งกระจานเซอร์กิตเมืองเพชรอวดโฉม Ud Quester ตัวใหม่! พร้อมเปิดโอกาสให้พี่น้องสื่อมวลชนและลูกค้าได้ยกบั้นท้ายลองบรรจงนั่งขับขี่ขยี้ลึกถึงสมรรถนะเครื่องยนต์และประสิทธิภาพการใช้งาน“เกียร์กึ่งอัตโนมัติ ESCOT”และฟังก์ชั่นอื่นๆเมื่อกลางเดือนก.พ.ที่ผ่านมา  

เทคโนโลยีใหม่ที่มากับเจ้ายูดีเควสเตอร์ใหม่เรียกเสียงฮือฮาอย่างมาก ต้องยกนิ้วโป้งให้กับฟีเจอร์สุดล้ำ “เกียร์กึ่งอัตโนมัติ ESCOT” ว่ากันว่าฟีเจอร์ลักษณะนี้มีเฉพาะในรถใหญ่สายพันธุ์ยุโรปในชื่อที่เรียกขานแตกต่างกันไป

ฟากเวทีรถใหญ่สายพันธุ์ปลาดิบ ค่ายยูดี ทรัคศ์ จัดเป็นค่ายแรกที่กล้า “แหกโค้ง” นำระบบนี้มาใช้กับรถบรรทุกขนาดใหญ่

นอกจากฟีเจอร์ตัวเอ้ดังกล่าวแล้วยังพ่วงมาด้วย “ระบบยูดี เทเลเมติกส์” ที่เพิ่มฟังก์ชั่นให้สะดวกยิ่งขึ้น ตัวช่วยขับเคลื่อนธุรกิจโลจิสติกส์รับมือความท้าทายกับงานขนส่งยุคใหม่ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยเพิ่มผลกำไรให้กับธุรกิจขนส่งอันชาญฉลาด

ไปส่องดูในไส้ในกันหน่อยสิว่าฟีเจอร์ใหม่เด่นเด้ง “เกียร์กึ่งอัตโนมัติ ESCOT” มันเจ๋งและแหลมคมในแง่มุมการใช้งานอย่างไรบ้าง รวมไปถึงความโดดเด่นในฟังก์ชั่นอื่นๆด้วย

มั่นใจการบริหารต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

ข้อแตกต่างด้านการประหยัดเชื้อเพลิงเป็นประเด็นเด่นแรกๆที่ทุกค่ายหยิบยกมาโพนทนาถึงทุกครั้งที่มีการเปิดตัวใหม่ ครั้งนี้ก็เช่นกัน ค่ายยูดี ทรัคส์ บอกโดยทั่วไปค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงคิดเป็นต้นทุนราวร้อยละ 40 ของค่าดำเนินงานของฟลีทรถบรรทุก

เควสเตอร์ใหม่นี้ สามารถช่วยเพิ่มผลงานและผลกำไรให้กับเจ้าของธุรกิจและบริษัทโลจิสติกส์ได้จากการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงที่ดีขึ้นถึง 10 เปอร์เซ็นต์จากรุ่นปัจจุบัน อันเป็นผลจากการติดตั้งระบบเกียร์กึ่งอัตโนมัติ ESCOT ร่วมกับน้ำหนักรถเปล่าที่เบาขึ้น และระบบขับเคลื่อนทรงประสิทธิภาพ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพเส้นทาง พฤติกรรมการขับขี่และการบำรุงรักษารถด้วย

ESCOT เบิกเนตร “การขับขี่-บำรุงรักษาง่าย”

มาถึงระบบเกียร์กึ่งอัตโนมัติ ESCOT ที่พูดถึงกันสนั่นหูเหลือเกิน ค่ายยูดี ทรัคส์ แจงในรายละเอียดความสุดยอดของระบบเกียร์นี้ว่าเทคโนโลยีระบบเกียร์กึ่งอัตโนมัตินี้ได้ถูกแนะนำสู่ตลาดเป็นครั้งแรกในปี 1995 ซึ่งเป็นการนำข้อดีระบบเกียร์อัตโนมัติและธรรมดาเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อทำให้การใช้งานได้สะดวกและบำรุงรักษาง่าย

เป็นการ ใช้ซอฟต์แวร์ที่ปรับการเปลี่ยนเกียร์ให้เหมาะสมที่สุดตามรอบเครื่องยนต์ ความเร็ว น้ำหนักบรรทุก และความลาดชันของเส้นทาง ระบบอัจฉริยะนี้มีเซ็นเซอร์ที่ช่วยเลือกเกียร์ที่เหมาะสมที่สุดให้โดยอัตโนมัติโดยไม่จำเป็นต้องใช้เกียร์แรกเสมอไป

ซึ่งเจ้า Escot นี่แหล่ะจะเป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วยทลายกำแพงพฤติกรรมการขับขี่รถใหญ่ให้พังครืน เพราะพื้นฐานการขับขี่รถบรรทุกเกียร์ธรรมดา พนักงานขับรถต้องเปลี่ยนเกียร์มากถึงวันละ 1,000 –1,500 ครั้ง/วัน  

ยกระดับความสะดวกสบาย-ลดความเหนื่อยล้า

เควสเตอร์ใหม่จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้กับธุรกิจขนส่ง เพราะเกียร์ ESCOT จะทำหน้าที่เลือกเกียร์ที่เหมาะสมที่สุดให้โดยอัตโนมัติทุกช่วงเวลาและทุกสภาพการใช้งาน ทำให้พนักงานขับรถไม่ต้องเปลี่ยนเกียร์เอง 1,000 ถึง 1,500 ครั้งต่อวัน การเลือกเกียร์ให้โดยอัตโนมัติยังช่วยให้มั่นใจได้ว่าพนักงานขับรถเควสเตอร์ใหม่ทุกคนจะกลายเป็นนักขับที่มีทักษะสูงและสามารถควบคุมเควสเตอร์ใหม่ได้อย่างง่ายดายและมีสมาธิเต็มที่ไปกับการขับขี่

ความเหนื่อยล้าของพนักงานขับรถยังคงเป็นความท้าทายสำหรับอุตสาหกรรมนี้มาโดยตลอดและยังเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุทางถนนมากถึง 20 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก ในการรับมือกับเรื่องนี้ เควสเตอร์ใหม่ได้รับการออกแบบเบาะนั่งคนขับที่ออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์กับนวมที่โอบรับช่วงลำตัวพนักงานขับรถโดยมีจุดประสงค์เพื่อลดความเหนื่อยล้าจากการขนส่งทางไกล เควสเตอร์ใหม่นี้ จึงทำให้การขับขี่รถบรรทุกกลายเป็นเรื่องง่ายและปลอดภัยพร้อมยกระดับความสะดวกสบายและลดความเหนื่อยล้าของพนักงานขับรถ

“เทเลเมติกส์อัจฉริยะ” เพิ่มผลกำไร-รองรับการเติบโตธุรกิจ

เควสเตอร์ใหม่พร้อมรองรับการบริหารฟลีทรถบรรทุก และยกระดับผลการปฏิบัติงานของพนักงานขับรถให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย “ระบบเทเลเมติกส์อัจฉริยะ” ไม่ว่าจะเป็นการติดตามยานพาหนะแบบเรียลไทม์ และการกำหนดขอบเขตเส้นทางทางภูมิศาสตร์ ฟีเจอร์การเชื่อมต่อที่ชาญฉลาดนี้สอดรับกับแนวโน้มของงานขนส่งยุคใหม่ รวมถึงบริษัทที่เป็นกลุ่มสตาร์ทอัพที่ต้องการเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนธุรกิจ อาทิในประเทศแอฟริกาใต้ ประเทศในแถบตะวันออกกลาง ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศมาเลเซีย และประเทศไทย

ระบบนี้เชื่อมต่อโดยตรงกับศูนย์บริการยูดี ทรัคส์ทำให้สามารถตรวจสอบและประเมินสภาพของรถแต่ละคันได้ตลอดเวลาและยังช่วยกำหนดเวลาที่ควรนำรถไปเข้ารับบริการได้ล่วงหน้าก่อนเกิดเหตุฉุกเฉิน การวิเคราะห์เพื่อบำรุงรักษาเชิงป้องกัน สามารถสร้างรายงานให้ลูกค้าทราบถึงพฤติกรรมการขับขี่และรายงานปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในแต่ละเดือน จึงช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ผู้ประกอบการว่ารถบรรทุกทุกคันจะมีความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจได้นานขึ้นและสามารถประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้สูงสุดตลอดเวลา