ชำแหละ 4 นโยบายความปลอดภัย หรือแค่…ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ?

0
155

ทยอยเดินเหน้าบังคับใช้แล้วสำหรับ 4 นโยบายความปลอดภัยที่เจ้ากระทรวงหูกวาง“ศักดิ์สยาม ชิดชอบ”ที่เลนตีปี๊ปมาก่อนหน้านี้หวังจัดระเบียบเข้มจัดปลัดบอก เต็มทุกองศาความปลอดภัยกับรถโดยสารสาธารณะ ไล่ดะตั้งแต่ “รถเมล์ –รถตู้- รถบขส. -รถร่วมบขส.” แถมให้อีก “รถบรรทุก-จักรยานยนต์”ติดร่างแหไปด้วย

เข้มแรกที่ถูกเข็นขึ้นเขียงจัดระเบียบไปแล้วตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา เป็นการจัดระเบียบว่าด้วยการทดสอบสมรรถภาพผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่รถโดยสารสาธารณะ และตรวจสภาพรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท

โดยท่านรัฐมนตรีไฟแร๊งส์พันธุ์บุรีรัมย์สำทับด้วยให้ใช้ปฏิบัติการแบบสุ่มตัวอย่างให้ได้ 10% ภายใน 30 วัน และให้ครบ 100% ภายใน 90 วัน!

งานนี้ขอเตือนคนขับรถสาธารณะ ควรเช็คสภาพความพร้อมทั้งรถและคนให้พร้อม ไม่งั้นอาจเจอแจ็คพอตถูกปรับ พักถอนใบขับขี่-ใบอนุญาตประกอบการ หรือลากไปถึงใคร? อู่ไหน?บังอาจเอารถเก่าเสื่อมสภาพสวมรอยวิ่งบริการแล้วล่ะก็…ระวัง!

ถัดมาเป็นคิวการกำหนดจุดจอดพักรถโดยสารสาธารณะ (Checking Point) ดีเดย์แล้ววันหวยออกพอดิบพอดี (16 ก.ย.62) เป็นมาตรการสุดเข้มงวดอดตาหลับขับตานอนตลอด 24 ชม. บนทางหลวงแผ่นดิน 111 เส้นทาง รวมระยะทาง 22,048 กม. ในสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ จำนวน 245 แห่งทุกๆ 90 กม.เฉลี่ยแต่ละจุดจะใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที/คัน

ทั้งนี้ เพื่อตรวจสอบมาตรฐานผู้ขับขี่ และตรวจสภาพรถให้อยู่ในมาตรฐานความปลอดภัย หรือไม่อย่างไร เพื่อตรวจสอบความพร้อมของผู้ขับขี่และตรวจสภาพรถให้อยู่ในมาตรฐานความปลอดภัยพร้อมทั้งเป็นการลดการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ

ย้ำด้วยว่าหากรถโดยสารสาธารณะคันใดไม่ผ่านการตรวจสอบจะมีบทลงโทษ โดยครั้งแรกเป็นการตักเตือน หากทำผิดครั้งที่สองจะดำเนินการปรับ ครั้งที่สามจะพักการให้บริการ จนถึงเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่รถโดยสารสาธารณะในที่สุด

แหมะ…นโยบายเข้มพิลึกกึกกือใน 3 โลกนี้ …ก่อนหน้านี้ที่โหมโรงกันกระหึ่มก็ถูกพลเมืองโลกโซเชียลกระหน่ำเม้นต์(ด่า)สนั่นหวั่นไหว แต่คมคอมเม้นต์โลกออนไลน์ก็มิอาจระคายเคืองความมุ่งมั่นท่านรัฐมนตรีคมนาคมได้ ประกาศเดินนโยบายสุดลิ่มตามกรอบเวลาเดิม

แม้จะเป็นนโยบายที่ดีแต่สังคมก็ตั้งข้อสงสัยอยู่วันค่ำว่าจะเป็นการเพิ่มเวลาและความยุ่งยากในการเดินทางให้กับพี่น้องประชาชนหรือไม่?คิดง่ายๆกรงเทพฯ-เชียงใหม่ 700 กม.ต้องเจอ 7 จุด Checking Point จุดละ 10 นาที รวมแล้วชม.กว่าที่ต้องบวกเพิ่มกับเวลาการเดินทางปกติ 8-9 ชม.

ยังไม่ถามถึงความพรั่งพร้อมของสถานที่ กำลังคนหรือจิตอาสาที่ต้องทำงาน 24 ชม. กำลังทุน และเครื่องไม้เครื่องมือ “ที่ว่ามานี้พร้อมแค่ไหน? เหมาะสมหรือไม่? หรือลงลึกเชิงปฏิบัติจริงแล้วจะเห็นเนื้อ-หนังแค่มากน้อยไหน? หรือสักแต่หว่านนโยบายขายฝันครับท่านรัฐมนตรี?”

พอผ่านไปซักระยะจุด Checking Point ต่างๆที่เคยคึกครื้นอีกหน่อก็จะค่อยๆเงียบเหงาจนกลายเป็นป่าช้าจุด Checking Point ในที่สุด?

คิวที่ 3 เป็นคิวการจัดระเบียบพนักงานประจำรถโดยสารสาธารณะ ให้มีกิริยา วาจา และแต่งกาย สุภาพ และมีการตรวจสอบประวัติพนักงานประจำรถอย่างเคร่งครัด รวมถึงตรวจสอบสารเสพติด เพื่อป้องกันปัญหาอาชญากรรม และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศ

ข้อนี้ดูดี…ผู้ใช้บริการน่าจะช๊อบชอบใจกันใหญ่  แต่…อาจลำบากใจพนักงานทั้งหลายแหล่!?

ปิดท้ายขบวนสุดเข้มกับการจัดระเบียบและความปลอดภัยรถบรรทุก และรถจักรยานยนต์ โดยให้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุจนถึงอุบัติเหตุเป็นศูนย์ในที่สุด

ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า…ทำไมช่วงนี้ท่านรัฐมนตรีชอบเล่นบทโหดกับขาใหญ่สิงห์รถบรรทุกซะเหลือเกิน กับเผือกร้อนบีบให้วิ่งได้แค่ 4 ชม.(เที่ยงคืน-ตี 4) ป่านนี้ก็ยังเคลียร์หน้าเสื่อไม่จบ! ไม่หน่ำใจยังจะหันมาบีบซ้ำจัดระเบียบความปลอดภัยสิบล้ออีก

ระวัง!บีบมากๆ พลพรรคสิบล้อเขาหน้าเขียวเป็นยักษ์เป็นมารขึ้นมา…จะยุ่งเอาน่า!ท่านศักดิ์สยาม

ตามสูตร!การลุยจัดระเบียบครั้งนี้ ท่านเจ้ากระทรวงหูกวาง สั่งการให้บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจริงจัง โดยเป้าหมายสำคัญที่สุด คือ “ความปลอดภัย”ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ หากมีปัญหาติดขัดเรื่องใดให้ประสานมาที่กระทรวงคมนาคมทันที

หากมองในแง่มุมความตั้งใจจาก 4 เข้มจัดระเบียบนี้ ก็ถือว่าเป็นความตั้งใจจริงเพื่อสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน อย่าลืม!ประเทศไทยเรายังครองความเป็นเบอร์สองโลก(รองจากประเทศลิเบีย)มีชื่อก้องโลกในนามประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุด

…แต่จะถูกใจชาวบ้านหรือไม่? หรือก็อิแค่นโยบายตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ? หรือจะคว้าน้ำเหลวตามสูตรข้าราการไทย “เช้าชามเย็นชาม”?

…ขอละไว้ในฐานที่เข้าใจล่ะกัน!