“โคกหนองนาโมเดล”นวัตกรรมสำรวจเหมืองแร่เพื่อเกษตรกรรม

0
280

กลุ่มผู้ประกอบการเหมืองแร่เสนอ2กระทรวงเศรษฐกิจร่วมคลี่คลายความเดือดร้อน  แนะปรับปรุงกฎหมายเพื่อเปิดทางทำธุรกิจที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำถึงปลายน้ำ ชูนวัตกรรม “โคกหนองนาโมเดล”ช่วยเกษตรกรในพื้นที่ได้ประโยชน์สูงสุด แถมปลดล็อคผลกระทบต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างหนุนแผนลงทุนเมกะโปรเจ็กต์

นายวิจักษ์ พงษ์เภตรา ประธานกรรมการกลุ่มเซ้าเทิร์น – บริษัท โชคพนาไมนิ่ง จำกัด เปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆ นี้ตนและผู้ประกอบการเหมืองแร่เกือบ10รายได้ร่วมกันทำหนังสือถึงนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  และร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอให้สองกระทรวงเพื่อพิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการอื่นในพ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการเหมืองแร่ที่ธุรกิจต้องหยุดชะงักเพราะนโยบายรัฐบาลและคำสั่งในยุคคสช.

ในรัฐบาลปัจจุบันที่มาจากการเลือกตั้ง ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้กล่าวไว้ว่ากรณีการขออนุญาตสำรวจและทำเหมืองแร่ในพื้นที่ส.ป.ก. นั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจะประสานงานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดี โดยกลุ่มผู้ประกอบการเห็นว่าการแก้ปัญหาครั้งนี้ควรให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายส.ป.ก. ที่กิจการอื่นนั้นจะต้องเกี่ยวข้องหรือสนับสนุนภาคเกษตรกรรม  ต้องช่วยปรับปรุงทรัพยากรและปัจจัยการผลิตด้านการเกษตร ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรในพื้นที่ได้รับประโยชน์สูงสุด รวมถึงผลประโยชน์ของประเทศ จึงเสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมมือกับกระทรวงเกษตรฯในการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว

นอกจากนี้ ทางกลุ่มผู้ประกอบฯยังได้นำเสนอนวัตกรรมการสำรวจและทำเหมืองแร่เพื่อเกษตรกรรมในชื่อ “โคกหนองนาโมเดล” เพื่อตอบโจทย์ในทุกคำถามว่า ต่อไปการทำเหมืองแร่นอกจากจะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไม่กระทบระบบนิเวศน์แล้ว  ยังต้องมีการออกแบบเพื่อประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อภาคเกษตรกรรมและตัวเกษตรกรในพื้นที่ด้วย  อีกทั้งยังสอดรับกับนโยบายบ่อน้ำขุมเหมืองที่จะเป็นแก้มลิงป้องกันน้ำท่วมและช่วยบรรเทาภัยแล้งในหน้าแล้ง

“โคกหนองนาโมเดล”ปัจจุบันมีตัวอย่างปรากฎแล้วในโครงการเหมืองลี้มีรักที่อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน  และโครงการเหมืองแม่ทาน ที่อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ดำเนินการโดยบริษัท เอสซีจีซิเมนต์ จำกัด

นายวิจักษ์ ย้ำว่าการทำเหมืองในเขตส.ป.ก.สำหรับผู้ประกอบการใหม่จะช่วยให้มีแหล่งหินอุตสาหกรรมเพียงพอในทุกภูมิภาคเพื่อสนับสนุนโครงการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐบาลด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง นอกจากนี้ยังเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและรายได้ภาครัฐทางด้านภาษีและค่าภาคหลวงแร่ เพราะสินแร่หลายชนิดมีมูลค่าเชิงพาณิชย์มหาศาล อาทิ หินปูนและยิปซัม มีรายได้จากการขายรวมอุตสาหกรรมกลุ่มปูนซีเมนต์ปีละประมาณ 2.4 แสนล้านบาท แร่โดโลไมท์ สร้างรายได้จากการขายรวมอุตสาหกรรมกลุ่มธุรกิจแก้วและกระจกปีละประมาณ 3.9 หมื่นล้านบาท