‘สิงห์สิบล้อ’ซมพิษโควิด’งานงด’โอดรัฐเมินเยียวยา

0
112

ท่ามกลางวิกฤติพิษมหาประลัยจากเจ้าไวรัสโควิดที่เล่นแทบทุกซอกหลืบธุรกิจโซวัดโซเซเจียนจะไปแหล่ไม่ไปแหล่ ไม่เว้นแต่สิงห์รถบรรทุกที่ไล่ตั้งแต่ค่ายรถใหญ่ที่ผลิตและจำหน่ายรถบรรทุก ผู้ประกอบการขนส่งที่ซื้อรถ รวมไปถึงห่วงโซ่ที่เกี่ยวข้อก็ล้วนซดพิษโควิดแล้วพากัน“กุมขมับ”จะขยับขยายธุรกิจอะไรในห้วงนี้ต้องพึ่งระวังให้จงหนัก ทุกองคาพยพเข้าสู่ห้วงสามัคคีรัดเข็มขัด-ลดต้นทุนพลางประคองตัวให้รอดพ้นห้วงหายนะวิกฤติโควิด  

แน่นอนผลกระทบที่ยิงตรงระยะเผาขนสำหรับสิงห์บรรทุกก็คือปริมาณงานขนส่งก็จะลดน้อยลง รถจอดเลียแผลใจซะเป็นส่วนมากแต่ค่าใช้จ่ายยังเดินไม่หยุด ค่างวดรถยังต้องจ่าย คือการบริหารจัดการที่เถ้าแก่ขนส่งต้องปวดหัวในการแก้ไขปัญหา“ลดต้นทุน”ไม่ให้เจ็บตัวมากไปจนต้องล้มหนอนนอนเสื่อ ถึงจุดนั้นความบรรลัยจะถามหา ครั้นจะไปหวังพึ่งน้ำบ่อหน้ากับมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐดูเหมือนจะหวังลมๆแล้งๆ

งานนี้ประมุขสิบล้อเมืองไทยอย่างเฮียอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ในฐานะพี่ใหญ่สิงห์รถบรรทุกเมืองไทย ออกโรงสะท้อนปัญหาว่า จากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ส่งผลให้ภาพรวมการขนส่งทางรถบรรทุกมีการชะลอตัว โดยเฉพาะการขนส่งวัสดุก่อสร้าง เช่น อิฐ หิน ดิน ทราย เป็นต้น ที่มีปริมาณการขนส่งลดลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์ ขณะที่การขนส่งสินค้าโชห่วย สินค้าอุปโภค-บริโภค ยังสามารถขนส่งได้ตามปกติ แต่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

“ด้วยกระทบดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบการรถบรรทุกที่เป็นสมาชิกของสหพันธ์ฯ กว่า 10 สมาคม โดยมีรถบรรทุกจำนวนกว่า 400,000 คัน ยังไม่ฟื้นตัว จึงได้มีการปรับตัวด้วยการชะลอการเพิ่มจำนวนรถที่จะนำมาให้บริการ รวมถึงการใช้บริการเอาท์ซอร์สให้มากขึ้น เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการดำเนินงาน ประหยัดค่าใช้จ่าย ขณะที่ผู้ประกอบการบางราย ได้ทำเรื่องชะลอการส่งไฟแนนซ์กับสถาบันการเงิน เพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าและอยู่รอดต่อไปได้”

อย่างไรก็ดี ประมุขสิบล้อเมืองไทย ยังอัพเดทถึงแนวทางการยื่นข้อเสนอเรียกร้องให้ภาครัฐได้เยียวยาต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพี่น้องสมาชิกขนส่งว่านอกเหนือจากการปรับตัวของผู้ประกอบการตามแนวทางดังกล่าวข้างต้นแล้วนั้น สหพันธ์ฯในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบการรถบรรทุก ยังได้นำเสนอข้อเรียกร้องต่างๆ ไปยังหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการฯ ให้สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ เช่น เสนอข้อเรียกร้องไปยังกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ขอชะลอการชำระภาษีประจำปีออกไป 4-5 เดือน ซึ่งถือเป็นมาตรการที่ง่ายที่สุด

“แม้ทางสหพันธ์ฯจะยื่นข้อเสนอไปให้กับกรมฯพิจารณาและหาทางช่วยเหลือเยียวยา และแม้เราจะมองว่าเป็นข้อเสนอที่ไม่น่าจะยุ่งยากอะไร แต่จนแล้วจนรอดในขณะนี้ผ่านมาหลายเดือนแล้วข้อเสนอข้อเรียกร้องทั้งหลายก็ยังไม่ได้รับคำตอบจากกรมขนส่งแต่อย่างใด”