ช้าหรือเร็ว? ‘หัวลำโพง’…จะเหลือแค่ตำนาน!

0
299

กลายเป็น Talk of the town เป็นวงกว้างทันควันทันทีที่เจ้ากระทรวงหูกวางเจ้าไอเดียกระฉูดแตกรายวัน“ศักดิ์สยาม ชิดชอบ”ได้ทิ้งระเบิดเวลาจะสั่งปิดสถานีรถหัวลำโพง ประกาศกร้าวรถไฟทุกขบวนที่วิ่งเข้าหัวลำโพงต้องเบนหัวเข้าสถานีกลางบางซื่อพลางทิ้งหัวลำโพงเหลือไว้แค่ “ตำนาน”ตั้งแต่เดือนพ.ย.64นี้ เป็นต้นไป

ทั้งนี้ก็เพื่อแก้ปัญหาจราจรติดขัดในกทม.และที่สำคัญเพื่อให้สอดรับกับการหันไปใช้ประโยชน์จาก“สถานีกลางบางซื่อ”ให้คุ้มค่าสุดลิ่มทุ่มประตูรถไฟ อัครสถานฮับระบบรางอาเซียนที่ยอมทุ่มเงิน 3.4 หมื่นล้านเนรมิตให้เป็นสถานีรถไฟใหญ่ที่สุดและอลังการโคตรๆในอาเซียน ที่จะฤกษ์เปิดใช้อย่างเป็นทางการในเดือนพ.ย.64 นี้

พร้อมกับสั่งการบ้านให้การรถไฟฯเจ้าภาพหลักจัดทำแผนและบริหารจัดการรระบบขนส่งอย่างไร?เพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน-นักเรียน-นักศึกษากว่า 2 หมื่นคนต่อวันที่แต่เดิมเคยใช้บริการรถไฟชานเมืองสายเหนือ สายใต้ และตะวันออก สามารถเดินทางเข้าเขตชั้นในถึงสถานีหัวลำโพงได้

ไม่ต้องรอช้าให้เสียเวลาเปล่าๆปลี้ๆ เพราะทัวร์ลงรัวๆโดยมิได้นัดหมาย ประชาชนด่าเละวิจารณ์ยับลุกเป็นไฟในโลกออนไลน์ถึงปมร้อนหักดิบปิดสถานีหัวลำโพง เมื่อเปิดสถานีกลางบางซื่อแล้วก็ต้องไม่มีสถานีหัวลำโพง ไม่ต่างอะไรกับการทิ้งสถานีหัวลำโพงไว้เป็นแค่…“ตำนาน” หวังแก้ปัญหาจราจรติดขัดในกทม. และหันไปใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าจากสถานีกลางบางซื่ออะไรเทือกนั้น

เสียงวิพากษ์ร้อนฉ่าผ่านโลกออนไลน์ล้วนซัดไปที่แผนรองด้านการขนส่งคนที่แต่เดิมเคยใช้บริการรถไฟจากชานเมืองวิ่งเข้าสู่สถานีหัวลำโพงที่เป็นเขตขั้นในได้รับผลกระทบไปเต็มๆหากมีการปิดสถานีหัวลำโพง พร้อมไม่มั่นใจในแผนการรองรับที่มีเจ้าภาพหลักเป็นการรถไฟฯจะมีศักพภาพพอในการรับมือหรือไม่?

พร้อมกับทิ้งบอมบ์คำถามให้เจ้ากระทรวงหูกวางได้คิดตาม มันจะเวิร์คหรือไม่?หรือจะสร้างมหกรรมโกลาหล?หรือมันจะสร้างปัญหาจราจรติดหนักกว่าเดิม?มั่นใจมากแค่ไหน?กับการใช้ระบบฟีดเดอร์มาให้บริการขนส่งพี่น้องประชาชน นักเรียน นิสิต-นักศึกาษาที่เคยใช้บริการรถไฟชานเมืองเข้าไปในเขตชั้นในได้

เสียงอ่อย!พร้อมรับฟังทุกเสียงวิจารณ์

ทนฟังเสียงวิจารณ์ได้ไม่กี่วัน มาวันนี้(4 ก.พ.2564)ตามรายงานข่าวเจ้ากระทรวงหูกวาง “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” จากเดิมที่เคยเสียงแข็งจะหักดิบปิดหัวลำโพงภายในเดือนพ.ย.64นี้แน่นอน คราวนี้ยอมเสียงอ่อยลงบ้างพร้อมกับเปิดเผยว่าตนรับฟังทุกความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนที่สะท้อนกลับมา หากพิจารณาแล้วพบมีเหตุจำเป็นจริงๆประชาชนต้องโดยสารรถไฟเพื่อเข้าไปเรียนหนังสือ หรือไปทำงานในเขตเมืองชั้นใน ก็อาจต้องมีขบวนรถเดินต่อจากสถานีกลางบางซื่อเข้าสู่สถานีหัวลำโพง

“แม้จะมีเสียงคัดค้านค่อนข้างมาก แต่ก็มีอีกหลายคนที่ได้ประโยชน์ แต่ไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็น ซึ่งตนอยากให้ทุกคนต้องปรับพฤติกรรมบ้าง เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม หากคิดจะสะดวกสบายโดยไม่ยอมจัดระเบียบบ้างเลย ปัญหาการจราจรติดขัดก็ยังต้องอยู่อีกต่อไป”

รมว.คมนาคม ย้ำอีกว่ายังมีเวลาอีกนานกว่าจะถึงเดือน พ.ย.64 ไม่ได้หมายความว่าจะสั่งหยุดรถไฟทุกขบวนรถห้ามเดินรถเข้าสถานีหัวลำโพงทันทีวันนี้พรุ่งนี้ ยังมีเวลาให้ รฟท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนรองรับ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก และได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

ยังต้องลุ้น!ลดขบวนรถเข้าหัวลำโพงลงกี่%

ตามรายงานข่าวท่านรมต.จะประชุมสรุปความชัดเจนกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในครั้งนี้(4ก.พ.64)ยังจำเป็นต้องเดินรถเข้าสถานีหัวลำโพงอีกกี่ขบวน และมีประชาชนใช้บริการมากน้อยเพียงใด รวมทั้งจะสามารถลดขบวนใดลงได้บ้าง อีกทั้งมีความจำเป็นขนาดไหนที่ต้องให้ขบวนรถเส้นทางนี้เดินรถเข้าสถานีหัวลำโพง

ดูจากทิศทางลมทางการเมืองแล้วเพื่อลดกระแสแรงต้านลงคาดกันว่าคงออกไปในแนวทางยอมลดขบวนรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง คงไม่ใช่แนวทางหักดิบปิดทันทีทันใดสมใจพระเดชพระคุณท่าน เป็นการยื้อเวลาปิดตำนานสถานีหัวลำโพงไปอีกระยะหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงคมนาคม ระบุข้อมูลว่าขบวนรถไฟทั่วประเทศในปัจจุบัน มีทั้งสิ้น 120 ขบวนต่อวัน แบ่งเป็นเชิงพาณิชย์ 66 ขบวนต่อวัน และรถชานเมืองรถธรรมดา 54 ขบวนต่อวัน มีทางผ่านซึ่งเป็นจุดตัดระหว่างถนน และรถไฟ จากบางบำหรุ รังสิต บางซื่อ และหัวลำโพง แบ่งเป็น สายเหนือ 15 จุด ตะวันตก 3 จุด และตะวันออก 9 จุด โดยขบวนรถจะผ่านหนาแน่นในช่วงเช้า 06.00-09.00 น. และช่วงเย็น 16.00-19.00 น. ทั้งนี้หาก รฟท. ยุติให้บริการที่สถานีหัวลำโพง จะมีผู้โดยสารได้รับผลกระทบ 33,460 คนต่อวัน แบ่งเป็นสายเหนือ อีสาน ตะวันออก ใต้ 25,436 คน และตะวันออก 8,024 คน

สถิติวัดใจ!ได้ไม่คุ้มเสียผลกระทบประชาชาน?

จากประชุมในครั้งนี้รฟท. ได้เปรียบเทียบรูปแบบการเดินขบวนผ่านเข้า-ออกสถานีหัวลำโพงหากให้มีขบวนรถชานเมืองสายเหนือ อีสาน และตะวันออก ยังคงให้บริการที่สถานีหัวลำโพง 10% ของขบวนรถไฟทั้งหมด หรือ 12 ขบวน จะมีผู้โดยสารได้รับผลกระทบ 16,679 คนต่อวัน แต่หากให้ขบวนรถชานเมืองสายเหนือ อีสาน ตะวันออก และใต้ ยังคงให้บริการที่สถานีหัวลำโพง 19% หรือ 16 ขบวน จะมีผู้โดยสารได้รับผลกระทบ 14,300 คนต่อวัน  และหากให้ขบวนรถชานเมืองสายเหนือ อีสาน ใต้ และตะวันออก ยังคงให้บริการที่สถานีหัวลำโพง 35% หรือ 42 ขบวน จะมีผู้โดยสารได้รับผลกระทบ 5,820 คนต่อวัน

ทั้งนี้ รฟท. ยังได้นำเสนอข้อมูลด้วยว่า หากปิดสถานีหัวลำโพง และให้รถไฟไปเข้าที่สถานีกลางบางซื่อ จะช่วยแก้ปัญหาจราจรติดขัดบริเวณจุดตัดทางรถไฟได้ 24 จุดตัด ประกอบด้วย ช่วงรังสิต-บางซื่อ ลดได้ 8 จุดตัด, ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง 7 จุดตัด และช่วงหัวหมาก-หัวลำโพง 9 จุดตัด ทั้งนี้เวลาที่ประหยัดบริเวณจุดตัดสายเหนือและอีสานต่อจุดประมาณ 3 นาที ซึ่งในสายนี้มี 66 ขบวน ทำให้ประหยัดเวลาต่อจุดได้ 198 นาที หรือประมาณ 3 ชั่วโมง ส่วนบริเวณจุดตัดสายใต้ 20 ขบวน จะช่วยประหยัดเวลาต่อจุดได้ 60 นาที หรือ 1 ชั่วโมง และบริเวณจุดตัดสายตะวันออก 24 ขบวน จะช่วยประหยัดเวลาต่อจุดได้ 72 นาที หรือประมาณ 1 ชั่วโมง 15 นาที

สรุปแล้วยังลุ้นต่อไปว่าสุดท้ายทางรมว.คมนาคม-การรถไฟฯจะตัดสินใจยอมลดขบวนรถไฟทางไกล-ชานเมืองวิ่งเข้าสถานีหัวลำโพงกี่%เพื่อลดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน อีก 1 เดือนจากนี้ไปน่าจะมีความชัดเจนออกมา

ย้อนรอยวลีเด็ด! “ศักดิ์สยาม”เปิดบางซื่อ…ต้องไม่มีหัวลำโพง

สถานีหัวลำโพง หรือชื่อทางการ “สถานีรถไฟกรุงเทพ”มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน ตั้งอยู่ในท้องที่แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เปิดใช้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2459 นับเป็นเวลายาวนานถึง 105 ปีแล้ว โดยมีพื้นที่ 120 ไร่เศษ เป็นศูนย์การเดินทางหลักของคนไทยในทุกๆเทศกาลจนเห็นภาพชินตาที่ประชาชนแห่เดินทางพลางหอบหิ้วสัมภาระแน่นเต็มพื้นที่ ผู้คนทุกเพศทุกวัยรวมไปถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติต่างก็ตั้งใจมานั่งรถไฟไทยเพื่อสัมผัสบรรยากาศวินเทจสุดคลาสสิก

สำหรับกระแสการปิดสถานีหัวลำโพงนั้นถูกจุดพุลมาตั้งแต่การก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่อ ที่วางเป้าหมายให้เป็นศูนย์กลางระบบรางของประเทศแทนที่หัวลำโพง ตามแผนเดิมเมื่อสถานีกลางบางซื่อเปิดใช้งานในปี 2564 ช่วงแรก รฟท.จะยังไม่ย้ายขบวนรถไฟทางไกลและขบวนรถชานเมืองที่ออกจากสถานีหัวลำโพงไปสถานีกลางบางซื่อทั้งหมด

“แต่จะพิจารณาให้ขบวนรถที่มีความพร้อมไปเปิดใช้บริการที่สถานีกลางบางซื่อก่อน โดยสถานีหัวลำโพงจะเปลี่ยนสถานะจากสถานีรถไฟหลัก เนื่องจากจะมีขบวนรถเข้าสู่สถานีกรุงเทพน้อยลง แต่ยังคงเป็นสถานีรถไฟที่ให้บริการประชาชนเหมือนเช่นที่ผ่านมาจนถึงปี 2570 จะไม่มีขบวนรถเข้าสถานีหัวลำโพง แต่ รมว.คมนาคมไม่ปลื้มและสั่งให้ รฟท.ปรับแผนให้เร็วขึ้นอีก”

โดยขีดเส้นปี 2564 รถเข้าสถานีหัวลำโพงต้องเป็น “ศูนย์” มั่นใจว่าต้องมีวิธีแก้ไขปัญหาและผลกระทบได้ หากรถไฟบางขบวนจำเป็นต้องจอดรอบนอกก็ต้องไปหาระบบฟีดเดอร์มารับส่งผู้โดยสารแทน จึงกลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเวลานี้

ไม่ว่าจะอย่างไรช้าหรือแร็ว…สถานีหัวลำโพงจะเหลือแค่ “ตำนาน”เป็นแน่แท้ ทว่า ท่านรมว.คมนาคมคงเลือกเอาล่ะว่าจะยอมหักดิบสมใจวัยรุ่น แต่จะได้ไม่คุ้มเสียหรือไม่?กับแรงต้านจากประชาชนที่เดือนร้อนและได้รับผลกระทบที่ถาโถมใส่

…เชื่อว่าท่านรมว.คมนาคมคงมีคำตอบอยู่ในใจแล้วกระมั่ง?